Tag Archives: DOI

เล็กๆ น้อยๆ กับ DOI

บุคลากรที่อยู่ในวงการห้องสมุดหรือศูนย์เอกสารสนเทศต่างๆ คงไม่มีใครไม่รู้จักเลข ISBN หรือ เลข ISSN เพราะเป็นเลขที่อยู่คู่สิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือและวารสารกันมายาวนาน เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เลขอีกชนิดหนึ่งที่ทุกคนควรรู้จักคือเลข DOI หรือเรียกด้วยภาษาทางการคือ ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) (อังกฤษ: Digital Object Identifier: DOI) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล หรือทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอกสารดิจิทัล ทำหน้าที่เป็นรหัสทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล  คล้ายกับเลข ISBN หรือ ISSN แต่มีความแตกต่างที่ DOI  มีความซับซ้อนมากกว่า โดยมีเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงไฟล์ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลจากรหัส DOI  ได้  มีการจัดการฐานข้อมูล metadata และการอ้างถึง ซึ่งตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) นั้นเป็นตัวบ่งชี้ถาวรของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล (Permanent Identifier) หรือ Persistent Identifier โดยรหัสนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ที่ใช้จัดเก็บ (Location) หรือสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพยากรสารสนเทศนั้น

สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สมัครสมาชิกเป็นผู้บริหารจัดการตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) ด้านการวิจัยของประเทศกับ DataCite ซึ่งเป็น Registration Agencies (RA) และได้รับการยอมรับจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ DataCite ให้เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบลำดับที่ 17 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555

หากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักพิมพ์ หน่วยงานรัฐบาล หรือห้องสมุด ที่ได้จัดทำสิ่งพิมพ์ประเภทงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และวารสาร ให้อยู่ในรูปดิจิทัลและให้บริการการเข้าถึงเอกสารฉบับเต็มแบบสาธารณะ เมื่อต้องการขอเลข DOI มีวิธีการง่ายๆ ดังนี้

  1. เข้าที่เว็บไซต์ http://doi.nrct.go.th/doidc/index.php
  2. ลงทะเบียน โดยเลือกที่ “สมัครใช้บริการ”
  3. เลือกประเภทของสิ่งพิมพ์ที่ต้องการจะขอเลข DOI ได้แก่ งานวิจัย/วิทยานิพนธ์ หรือ วารสาร
  4. กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน จากนั้นคลิก “ลงทะเบียน”
  5. หลังจากลงทะเบียนแล้ว ให้รอการตอบกลับจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทางอีเมลที่ได้กรอกไว้ตอนลงทะเบียน
  6. นำ username/password ที่สมัครไว้มา Login เข้าระบบเพื่อดำเนินการขอเลข DOI ต่อไป

ตัวระบุว้ตถุดิจิทัล (DOI) กับวารสารวิชาการ

เพชรา สังขะวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการวิจัย วช.
เพชรา สังขะวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการวิจัย วช.

วันที่ 6 พฤษภาคม 2558 กองบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการสัมมนา เรื่อง ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (DOI) กับวารสารวิชาการ ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์พื้นฐาน107  อาคารบรรยายรวม 2 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์รังสิต โดยได้เชิญ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  คุณเพชรา สังขะวร มาเป็นวิทยากร เพื่อแนะนำเกี่ยวกับตัวระบุวัตถุดิจิทัล (DOI) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวารสารวิชาการ และการบริการ DOI ของ วช. โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมระบบการจัดการวารสารวิชาการ ของ มธ.ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งมีผู้บริหารบรรณาธิการวารสาร และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำวารสารวิชาการภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าร่วมการสัมมนาเป็นจำนวนมาก

เอกสารแนะนำเกี่ยวกับ DOI และการผลิตงานวิชาการที่น่าสนใจ
เอกสารแนะนำเกี่ยวกับ DOI และการผลิตงานวิชาการที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ สำนักหอสมุดได้ส่งบุคลากรเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ด้วยจำนวน  2 ท่าน ได้แก่ น.ส.กนกวรรณ บัวงาม บรรณารักษ์ สังกัดหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ.ศูนย์รังสิต และ น.ส.กนกวรรณ พานิชเจริญ บรรณารักษ์ สังกัดฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาห้องสมุด

ว่าด้วยเรื่องของ DOI – จุดเริ่มต้นของ DOI

ระบบ DOI มีต้นกำเนิดมาจากความคิดริเริ่มร่วมกันระหว่างสมาคมการค้าสามกลุ่มในอุตสาหกรรมการพิมพ์ (สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ; ผู้จัดพิมพ์ทางด้านเทคนิคและการแพทย์, สมาคมวิทยาศาสตร์นานาชาติ; สมาคมผู้จัดพิมพ์อเมริกัน)

แม้จะมีต้นกำเนิดมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ระบบ DOI นั้นถูกสร้างมาโดยกำหนดให้เป็นเค้าโครงในการจัดการด้านการจำแนกแยกแยะเนื้อหาบนเครือข่ายดิจิทัลโดยตระหนักถึงเรื่องดิจิทัลคอนเวอร์เจน (Digital convergence หมายถึง การรวมกลุ่มกันของอุตสาหกรรม 4 อย่าง ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ, โทรคมนาคม, เครื่องใช้ไฟฟ้า และความบันเทิง ตัวอย่างเช่น Xbox หรือ iPhone) และความพร้อมในการใช้สื่อมัลติมีเดีย ซึ่งระบบ DOI นั้นถูกประกาศในงานนิทรรศการหนังสือแฟรงค์เฟิร์ต ปี ค.ศ. 1997 จากนั้นมูลนิธิดีโอไอนานาชาติ (International DOI Foundation–IDF) ก็ถูกตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและจัดการกับระบบ DOI ในปี ค.ศ. 1997 เช่นกัน

banner-513

จากจุดเริ่มต้น IDF ร่วมงานกับ CNRI ( Corporation for National Research Initiatives) เพื่อจะนำ Handle System ซึ่ง CNRI เป็นผู้พัฒนามาใช้เป็นองค์ประกอบของระบบ DOI และในปัจจุบัน CNRI ยังคงเป็นพันธมิตรกับ IDF

HSystem

ในที่สุดแอปพลิเคชั่นแรกของระบบ DOI อย่าง การอ้างอิงที่เชื่อมโยงไปยังบทความอิเล็กทรอนิกส์โดย CrossRef Registration Agency (หน่วยงานในการลงทะเบียนชื่อ CrossRef) ก็ถูกใช้ในปี ค.ศ. 2000 ตั้งแต่นั้นมา Registration Agency รายอื่นก็ได้รับมอบหมายงานในด้านต่างๆ เช่น ในการบริหารจัดการกับสินทรัพย์ธุรกิจความบันเทิง ในด้านข้อมูล และในด้านภาษาต่างๆ

ในปี ค.ศ. 2000 องค์กร NISO ได้กำหนดซินเท็กซ์ (syntax) ของ DOI ให้เป็นมาตรฐาน ระบบ DOI ได้รับการอนุมัติเป็นมาตรฐาน ISO ในปี ค.ศ. 2010 โดยดูรายละเอียดของ ISO 26324:2012 Information and documentation — Digital object identifier system ได้ที่
http://www.iso.org/iso/catalogue_detail?csnumber=43506

รายการอ้างอิง

International DOI Foundation. (2013, November 13). DOI Handbook Introduction. Retrieved
September 26, 2014, from http://www.doi.org/doi_handbook/1_Introduction.html #1.2

ว่าด้วยเรื่องของ DOI – ตัวระบุวัตถุดิจิทัล

ถ้าหากจะให้อธิบายอย่างรวบรัดที่สุดแล้ว DOI นั้นก็คือตัวระบุหนึ่งเช่นเดียวกับเลข ISSN และเลข ISBN ที่เราท่านน่าจะรู้จักกัน คือถูกใช้เพื่อจำแนกวัตถุหนึ่งออกมาจากกลุ่มของวัตถุ หรือก็คือเพื่อจำแนกแยกแยะวัตถุต่างๆออกจากกัน และยังสามารถใช้ DOI ร่วมกับตัวระบุเดิมอย่าง ISBN และ ISSN ได้อีกด้วย

banner-413

ระบบของตัวระบุวัตถุดิจิทัล หรือ (The digital object identifier – DOI®) นั้นเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานในการจำแนกแยกแยะวัตถุต่างๆให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยคำว่า digital object identifier นั้น มีความหมายไปในเชิงที่ว่าเป็น “ตัวระบุดิจิทัลของวัตถุ (digital identifier of an object)” มากกว่าที่จะเป็น “ตัวระบุของวัตถุดิจิทัล (identifier of a digital object)”

ระบบ DOI นั้นถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต โดยกำหนดเลข DOI หนึ่งหมายเลขให้แก่วัตถุหนึ่งรายชื่อโดยถาวร เพื่อใช้เลข DOI นี้ในการเชื่อมโยงจากลิงค์ไปยังข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของวัตถุนั้น ซึ่งรวมไปถึงจุดที่วัตถุชิ้นนั้นอยู่, ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุนั้น หรือแม้กระทั่งว่าวัตถุนั้นยังพบบนอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่

ในขณะที่ข้อมูลของวัตถุเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เลข DOI นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามเลข DOI จะถูกแก้ไขโดยระบบในกรณีที่ต้องกำหนดค่าให้แก่ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวัตถุที่ถูกระบุโดยเลข DOI นั้น เช่น URL, อีเมล์, ตัวระบุอื่นๆ และคำอธิบายรายละเอียดของข้อมูล (metadata)

โดยขอบเขตของระบบ DOI นั้นจะอิงกับฟังก์ชันการทำงานที่กำหนดและบริบทของการใช้งาน ซึ่งก็คือการทำงานกับแอปพลิเคชั่นของเครือข่าย DOI เพื่อการระบุวัตถุอย่างชัดเจน เที่ยงตรง และละเอียด เพื่อคำอธิบายรายละเอียดของข้อมูล และเพื่อการทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

 

รายการอ้างอิง

International DOI Foundation. (2013, November 13). DOI Handbook Introduction. Retrieved
September 26, 2014, from http://www.doi.org/doi_handbook/1_Introduction.html