Tag Archives: อมยิ้ม

คีตราชนิพนธ์ สู่สังคมแห่งความสุข

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2558 เวลา 20.00 น. ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่อง  “คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์” ณ โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งเปิดให้ประชาชนชาวไทยได้ชมฟรี โดยการลงทะเบียนจองที่นั่งล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนโรงภาพยนตร์และรอบฉายขึ้น สำหรับบทความนี้จะขอนำเสนอแง่คิดดีๆที่ได้จากบทภาพยนตร์เรื่องนี้

ภาพยนตร์ “คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์” นั้นมีแนวคิดมาจาก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยในพสกนิกร โดยทรงริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนของพี่น้องชาวไทย  หากในแง่การเติมเต็มพลังใจ พระองค์ท่านยังพระราชทานขวัญ กำลังใจ แก่ประชาชนผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์อันแฝงไปด้วยปรัชญา การดำเนินชีวิตมากมายหลายต่อหลายเพลง และ 4 บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ 4 ผู้กำกับชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ถ่ายทอดเรื่องราวสู่ 4 บทภาพยนตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก  บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยภาพยนตร์เรื่องแรกคือ เรื่อง “ชะตาชีวิต” ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” สู่เรื่องราวของคุณยายทั้งสองท่านที่มีชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันจนก่อเกิดความผูกพัน และการสานต่อความฝันของอีกฝ่ายด้วยความเต็มใจ ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 คือ “อมยิ้ม” ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” สู่หนังรักใสๆ และน่าประทับใจ เป็นเรื่องราวที่จะพาเราไปค้นหาสำรวจและตั้งคำถามกับตัวเราเองว่า เรากำลังปฏิบัติกับคนรอบตัวอย่างไร เรากำลังทำร้ายคนอื่นด้วยความคิดเราเองอยู่หรือเปล่า เราตัดสินกันอย่างง่ายดายเกินไปหรือไม่ ภาพยนตร์เรื่องที่ 3 คือ “ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง” ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับได้แรงบันดาลใจ มาจากบทเพลงพระราชนิพนธ์  “สายฝน”     และเรื่องของ     สืบ    นาคะเสถียร  นักสู้ผู้อุทิศชีวิตเพื่อผืนป่า ที่ทำให้ทุกท่านพบกับคำว่าเสียสละเพื่อส่วนรวม ภาพยนตร์เรื่องที่ 4 คือ เรื่อง “ดาว” ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่อยากเป็นคนเชิญธงชาติของโรงเรียน ซึ่งเป็นความฝันอันสูงสุดของนักเรียนทุกคน ดังนั้น ทันทีที่ครูประกาศหาคนเชิญธงคนใหม่แทนพี่ ป.6 ที่กำลังจะจบการศึกษา การแข่งขันของหนุ่มน้อยสองคนจึงเกิดขึ้น  เรื่องราวของการแข่งขันระหว่างเด็ก 2 คนสู่หนทางแห่งการได้เป็นคนเชิญธงชาติ เขาเลือกที่จะแพ้อย่างใสสะอาด ไม่ทุจริต แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นผู้เชิญธงชาติ แต่เขาได้ดาวจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งทำให้เด็กน้อยผู้นี้ภาคภูมิใจอย่างมาก (www.คีตราชนิพนธ์.com)

ข้อคิดสำหรับการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนให้สังคมเห็นว่า การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม และในการทำงานนั้น เราควรอยู่อย่างมีความสุข แม้ชะตาชีวิตของแต่ละคนจะแตกต่างกัน หน้าที่การงาน ตำแหน่งงานจะต่างกัน แต่รอยยิ้มจะทำให้เราเท่ากัน ขอให้รู้จักคำว่าเสียสละ รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เท่านี้สังคมก็จะมีความสุขอย่างเท่าเทียมกัน

รายการอ้างอิง
คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2558 จาก  http://www.xn--42cm6anea8azb1jwaf9z.com/