Tag Archives: Ibid.

Ibid., op. cit., Loc. cit มีความหมายอย่างไร

บ่อยครั้งในการเขียนผลงานทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นบทความวารสาร รายงาน วิทยานิพนธ์ รวมถึงรายงานวิจัย เรามักจะหาข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเขียนผลงานจากรายการอ้างอิงท้ายบทความวารสาร ท้ายบท/ท้ายเล่มหนังสือ ตลอดจนรายการอ้างอิงแบบเชิงอรรถซึ่งมักจะอยู่ด้านล่างของหน้าหนังสือ

อักษรย่อ Ibid., Op. cit.  และ  Loc. Cit.  นั้น ส่วนใหญ่จะพบในรายการอ้างอิงแบบเชิงอรรถซึ่งจะอยู่ส่วนล่างสุดของหน้ากระดาษของหนังสือหรือเอกสารวิชาการ โดยอักษรย่อของแต่ละคำมีความหมายดังนี้

Ibid. (ไอ-บิด) ย่อมาจากภาษาลาตินคำว่า ibidem แปลว่า ในเรื่องเดียวกัน (อ้างถึงหนังสือ บท หรือหน้าหนังสือที่อ้างไปแล้ว) อักษรย่อนี้จะถูกใช้ในกรณีอ้างรายการเชิงอรรถรายการเดิมซ้ำโดยไม่มีรายการเชิงอรรถอื่นมาคั่น กรณีเป็นภาษาไทยใช้คำว่า “เรื่องเดียวกัน”  ดังตัวอย่าง

1Walter F. Taylor, History of American Letters (New York: American Book Co., 1936), pp. 15-20
2Ibid. pp. 100-105.
3Ibid. p. 130.
4จรูญ สุภาพ, ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจเปรียบเทียบ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2532), น. 29.
5เรื่องเดียวกัน, น. 38-41. 

op. cit. (ออพ-ซิท)  ย่อมาจากภาษาลาตินคำว่า opere citato อักษรย่อนี้จะถูกใช้ในกรณีอ้างรายการเชิงอรรถรายการเดิมซ้ำแต่มีรายการเชิงอรรถอื่นมาคั่น กรณีเป็นภาษาไทยใช้คำว่า “เรื่องเดิม”  ดังตัวอย่าง

1Wilbur Schramm, The Process and Effects of Mass Communication, (Urbana: University of Illinois Press, 1974), p. 23.
 2เสถียร เชยประทับ, การสื่อสารและการพัฒนา (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525), น. 20.
3Schramm, op. cit., pp. 35-40.
4เสถียร เชยประทับ, เรื่องเดิม, น. 30.

Loc. ciit. (ลอค-ซิท)  ย่อมาจากภาษาลาตินคำว่า loco citato อักษรย่อนี้จะถูกใช้ในกรณีอ้างรายการเชิงอรรถรายการเดิมซ้ำทั้งหมดซึ่งหมายรวมถึงต้องอ้างเลขหน้า (page) ของเชิงอรรถรายการเดิมซ้ำด้วย โดยจะมีรายการเชิงอรรถอื่นมาคั่นหรือไม่มีก็ได้ กรณีเป็นภาษาไทยใช้คำว่า “เรื่องเดียวกัน หน้าเดียวกัน” ดังตัวอย่าง

1Nancy M. Tichler, Tennessee Williams: Rebellious Puritan (New York: Citade Press, 1961), pp. 5-6.
2loc. cit.
3Walter Kerr, Pieces at Eight (New York: Simon and Schuster, 1957), p. 125.
4Tichler, loc. cit.
5สถิต นิยมญาติ, สังคมวิทยาการเมือง (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2524), น. 9-10.
6เรื่องเดียวกัน หน้าเดียวกัน.
7กมล สมวิเชียร, วัฒนธรรมการเมืองไทยกับการพัฒนาทางการเมือง (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2541), น. 35-70.
8สถิต นิยมญาติ, เรื่องเดียวกัน หน้าเดียวกัน.