อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ โดย อ. ธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เช่นเคยค่ะ อ. ธงชัย ฝากบทความมาลงใน Blog KM ของสำนักหอสมุด มธ. ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ค่ะ)
หลายสิบปีก่อน มีเพลงดังเพลงหนึ่งของวงฮอทเปปเปอร์ชื่อ “อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ” ซึ่งผมคิดว่า ผู้อ่านหลายคนเคยได้ยินเพลงนี้ และเห็นด้วยกับชื่อเพลงว่า เวลาที่เราต้องการจำ ก็มักลืม แต่เรื่องที่เราอยากลืม กลับจำได้ ในบทความนี้ เราจะวิเคราะห์ว่า ความเชื่อเรื่องนี้จริงหรือไม่ ถ้าเราต้องการจำและลืมเรื่องที่ต้องการ เราจะทำได้อย่างไรครับ
อยากจำกลับลืม
ตัวอย่างของเรื่อง “อยากจำกลับลืม” เช่น นักเรียนอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ เมื่อเข้าห้องสอบแล้ว ปรากฎว่า ข้อสอบออกตรงกับเนื้อหาที่อ่าน แต่จำไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า บุญมีแต่กรรมบัง หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการจำว่าจะนำสิ่งของอะไรบ้างติดตัวเวลาที่เดินทาง แต่ก็ลืม ไม่ได้หยิบไป หรือวางกุญแจรถ กระเป๋าเงิน แล้วลืมไปว่า วางที่ไหน
วิธีการแก้ไขเรื่องนี้คือ ถ้าเราต้องการจำสิ่งใดก็ตาม เราจะต้องมีสมาธิหรือความตั้งใจในการจำครับ การมีสมาธิหรือจิตใจจดจ่อจะช่วยให้เราจำได้มากขึ้น ซึ่งผมขอยกตัวอย่างสถานการณ์ต่อไปนี้เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนครับ
นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่กำลังอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ ควรทำจิตใจให้สงบและตั้งใจอ่านหนังสือจริงๆ โดยไม่มีสิ่งอื่นรบกวน เช่น ไม่ควรดูโทรทัศน์ ไม่เล่นสมาร์ตโฟน หรือไม่ทานขนม เพราะจะทำให้จิตใจวอกแวกและไม่จดจ่อกับเนื้อหาหนังสือได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน ก็จะทำให้เหนื่อยล้า เบื่อหน่ายและขาดสมาธิได้ง่าย ดังนั้นเมื่ออ่านหนังสือทุก 1 ชั่วโมง ก็ควรหยุดพัก 5 – 10 นาทีด้วยการยืดเส้นยืดสาย เดินเล่น ดื่มน้ำ หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ เพื่อทำให้สมองตื่นตัวมากขึ้นครับ
- หลายคนมีปัญหาเรื่องการลืมที่จอดรถของตัวเอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตัวผมเองคือ หลายปีก่อน ผมต้องช่วยเพื่อนมองหารถของเขาในที่จอดรถของห้างสรรพสินค้า เพราะเขาลืมว่า จอดรถไว้ที่ไหน ดังนั้นเวลาที่เราจอดรถ ก็ขอให้มองป้ายที่จอดรถให้ชัดเจนและหลับตานึกภาพหมายเลขช่องที่จอดรถของตัวเองให้ชัดเจนครับ
- บางคนมีอาการย้ำคิด ย้ำทำ เช่น ปิดประตูบ้านแล้วแต่ไม่แน่ใจว่าปิดแล้วยัง ต้องกลับมาตรวจดูว่าปิดสนิทแล้วยัง หรือเมื่อวางของใช้ส่วนตัวเช่น กุญแจ กระเป๋า ก็จำไม่ได้ว่า วางไว้ที่ไหน ดังนั้นทุกครั้งที่เรากระทำหรือวางสิ่งของ ก็ใช้หลักการบริกรรมคือ การพูดกับตนเอง เช่น ในขณะที่วางกุญแจบ้านบนเก้าอี้ ก็พูดออกมาดังๆ หรือพูดในใจว่า ฉันกำลังวางกุญแจบนเก้าอี้ ในขณะที่ปิดประตูบ้าน ก็พูดว่า ฉันกำลังปิดประตูบ้าน การพูดออกมาจะเป็นการเพิ่มความตั้งใจในการกระทำและช่วยทำให้เราจำได้ว่า ได้กระทำสิ่งนั้นไปแล้วครับ
ปัจจุบัน การใช้สมาร์ตโฟนทำให้คนจำนวนมากจำหมายเลขโทรศัพท์ของคนใกล้ตัวไม่ได้ ถ้าสมาร์ตโฟนของตนเองมีปัญหา เช่น แบตหมด ก็จะติดต่อใครไม่ได้เลย เพราะจำหมายเลขของใครไม่ได้ ดังนั้น ผมจึงเสนอว่า ควรจำหมายเลขโทรศัพท์ของคนใกล้ตัวที่เราโทรบ่อยๆ ด้วยการกดหมายเลขในขณะโทรออก วิธีนี้จะช่วยให้เราจำหมายเลขโทรศัพท์ของคนใกล้ตัวได้ง่ายขึ้นครับ
อยากลืมกลับจำ
เราจะพบว่าหลายครั้งที่เราอยากลืมบางเรื่อง เช่น ประสบการณ์ที่ไม่ดี อกหักรักคุด เรื่องทะเลาะกับคนอื่น แต่เรากลับจำเรื่องนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลก็คือ เรา “อยาก” ลืมเรื่องนั้น แต่การอยากลืมเรื่องนั้น จะทำให้เราคิดเรื่องนั้น และจำเรื่องนั้นมากขึ้น
วิธีที่ง่ายที่สุดในการลืมเรื่องใดก็ตามคือ ไม่ต้องอยากลืม ไม่ต้องไปคิดเรื่องนั้นครับ ศาสนาพุทธสอนเรื่องนี้อยู่แล้วคือ การฝึกสติ การรู้ทันความคิดของตนเอง ในช่วงแรก ความคิดจะเกิดขึ้นถี่มาก แต่ถ้าเราไม่สนใจความคิดนั้น ปล่อยวางความคิดให้ผ่านไป ความคิดเรื่องนั้นก็จะเกิดขึ้นน้อยลง ในที่สุด เราจะไม่คิดถึงเรื่องนั้นอีกหรือลืมไปเลย เพราะการลืมเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว แต่ถ้าเราสนใจเรื่องที่เราอยากลืม ก็จะเป็นการเพิ่มพลังให้ความคิดนั้น ทำให้เรากลับจำมากขึ้นนั่นเองครับ
สรุป
“อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ” เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเราต้องการจำเรื่องใดก็ตาม ขอให้เพิ่มสมาธิและความตั้งใจในเรื่องที่ต้องการจำ เราก็จะจำได้แม่นยำ แต่ถ้าเราต้องการลืมเรื่องใด ก็อย่าไปคิดเรื่องนั้นหรืออย่าไปตั้งใจว่าจะลืมเรื่องนั้น เพียงแค่ปล่อยให้ความคิดผ่านไป ไม่ต้องสนใจเรื่องนั้นอีก ในที่สุด เราก็จะลืมไปเองครับ