งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ปี 2558

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน 2558 ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้ไปร่วมงาน วันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2558 โดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ กองทุนศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ และสมาคมศิษย์เก่าจัดขึ้น ซึ่งจัดที่ บริเวณลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นประธานในพิธี งานเริ่มตั้งแต่ เวลา 7.30 น. ซึ่งเป็นพิธีสักการะอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์  มีพิธีวางพานพุ่มดอกไม้/ช่อดอกไม้สักการะอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งสำนักหอสมุดของเรามีตัวแทนเข้าร่วมพิธีจำนวน 10 คน ดังนี้

  1. นางสาวจุฑาทิพย์ โอสนานนท์
  2. นางรัมภาพร สำรองกิจ
  3. นางบังอร นพกุล
  4. นางสาวกฤตชญา รัตนประทีป
  5. นางญาณภา สมนึก
  6. นางสาวอนงค์พรรณ เสนาะกลาง
  7. นายเสงี่ยม อรรคศรีวร
  8. นางวันเพ็ญ ตุ้มเขียว
  9. นางวันดี ชิงดวง
  10. นายเปรมชุธร อมาตยสุนทร

ภายในงานมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมงานมากมาย ทุกท่านที่ร่วมพิธีสักการะจะได้รับ หนังสือ จำนวน 2 เล่ม คือ

1.หนังสือชื่อเรื่อง รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2558 ซึ่งจัดทำโดย กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  1. หนังสือชื่อเรื่อง ประชาธิปไตย ทำอย่างไรจะประสบความสำเร็จ จัดพิมพ์โดย สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย

sanya1

sanya2

หนังสือที่ได้รับจากการร่วมงาน

พิธีสักการะอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ เสร็จสิ้นในเวลา 10.00 น.

 pitee1

 pitee2

pite31

pite4

pite5

ภาพพิธีสักการะอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์

ต่อมาในช่วงเวลา 10.00 น. ถึง เวลา 13.00 น. ผู้เขียนและเพื่อนร่วมงาน ได้ร่วมชมวีดีทัศน์ชีวประวัติและผลงานของ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์  ร่วมพิธีมอบรางวัล นักศึกษากฎหมายดีเด่น ,รางวัลเรียนดี “ธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” และฟังการปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และชมนิทรรศการประวัติและผลงานของท่านศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ณ ห้องประชุม สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา

ชมวีดีทัศน์ชีวประวัติและผลงานของ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์

การได้ชมวีดีทัศน์ชีวประวัติและผลงานของ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ทำให้ผู้เขียนได้ทราบและเข้าใจลึกซึ้งว่า ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งของนักนิติศาสตร์ ซึ่งได้ประกอบคุณงามความดีรับใช้ประเทศชาติและสังคมไว้มากมาย อาทิ เช่น การดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกตลอดระยะเวลาท่านได้อุทิศตนเองในการปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าว ด้วยความรู้ความสามารถ มีความกล้าหาญ และเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่มีคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ คือท่านเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มือสะอาด สุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเป็นอยู่ที่สมถะ เรียบง่าย พอเพียง มีอัธยาศัยดีต่อคนทั่วไปและเปิดใจกว้างแม้จะเป็นผู้น้อย

พิธีมอบรางวัล นักศึกษากฎหมายดีเด่น และรางวัลเรียนดีธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์”

กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ดำเนินการสรรหาคัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่นของคณะนิติศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ และคุณงามความดี อเนกประการของท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ปูชนียบุคคลผู้มีจริยวัตรที่งดงามเพียบพร้อมด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ความบริสุทธ์ยุติธรรม ให้ปรากฏเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง สืบต่อไป  โดยแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นครา เป็นประธานกรรมการ มีที่ปรึกษา 16 ท่าน และกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายจากหลากหลายสาขาอาชีพทั้งภาครัฐบาลและเอกชนรวม 19 ท่าน คณะกรรมการได้คัดเลือกนักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี 2558 จำนวน 1 คน จากจำนวนนักศึกษาที่ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 4 คน  จาก 4 มหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดสอนคณะนิติศาสตร์ มากกว่า 30 ปี คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่ในปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช งดเสนอชื่อ คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้นายสรวิศ วงศ์บุญสิน เป็นนักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี 2558 สมควรที่จะได้รับรางวัลสัญญาธรรมศักดิ์ ผลงานเด่นที่เหมาะสมจะได้รับรางวัลของนายสรวิศ วงศ์บุญสิน มีดังนี้

  • สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2556 จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีทุน “ภูมิพล”
  • รางวัลเยาวชนดีเด่นกรุงเทพมหานคร
  • เข้าร่วมกิจกรรมงานสัมมนานานาชาติว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสิทธิของพลเมือง ตามรัฐธรรมนูญ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแจมเบอร์ สาธารณรัฐ อินโดนีเซีย
  • เป็นผู้ร่วมก่อตั้งแฟนเพจ “นิติอาสา” เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย
  • พิธีกรในการแข่งขันความรู้ทางกฎหมายระดับมหาวิทยาลัย ณ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากผลงานเด่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น นายสรวิศ วงศ์บุญสินยังมีผลงานอีกมากมายที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับยกย่องให้เป็นนักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์

 deden1

นายสรวิศ วงศ์บุญสิน

นักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2558

deden2

พิธีมอบรางวัล

ผู้ที่เป็นเกียรติมาเป็นผู้มอบรางวัลนี้คือ ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร  นอกจากพิธีมอบรางวัล นักศึกษากฎหมายดีเด่นแล้ว ยังมีการมอบรางวัลเรียนดี “ธรรมศาสตราจารย์สัญญา สัญญา ธรรมศักดิ์” ให้แก่ นางสาวเทียนศิริ บุญโชควิทูร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์

visanu

                การปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  โดย ดร.วิษณุได้กล่าวไว้ดังนี้

 หลักนิติธรรม (Rule of Law) เป็นหลักสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย กฎหมายซึ่งมีที่มาจากหลักนิติธรรม เหมือนฝนมาจากเมฆ คำว่า Rule แปลว่ากฎหรือการปกครอง Rule of Law คือกฎแห่งกฎหมาย การปกครองโดยมีกฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งใหญ่เหนือความอำเภอใจของผู้ปกครอง เป็นหลักที่เกิดขึ้นมาเพื่อจำกัดอำนาจอันล้นพ้นของผู้ปกครอง หลักนิติธรรมต้องประกอบไปด้วย

1.ต้องใช้กฎหมายเป็นใหญ่เหนืออำเภอใจ

2.ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค

3.ต้องยึดในหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการตรวจสอบการใช้อำนาจ และป้องกันการมีผลประโยชน์ขัดกันหรือทับซ้อนกัน

4.ต้องยึดหลักนิติกระบวน (Due Process of Law) ได้แก่ การไม่ออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษทางอาญา การไม่ทำให้บุคคลต้องถูกพิจารณาคดีซ้ำซ้อน

5.ต้องมีศาลที่เป็นอิสระ เป็นกลาง ทันสมัย หลักนิติธรรมเป็นหลักในกิจการทุกเรื่อง ผูกมัดองค์กรทุกองค์กร รัฐธรรมนูญไทยบรรจุไว้ในมาตรา 3 วรรคสองว่า การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

และยังกล่าวถึงหลักนิติธรรมกับการลดความขัดแย้งว่า ความขัดแย้งคือความแตกต่างที่ลุกลามออกไป ซึ่งสังคมมีเป็นธรรมดา ความขัดแย้งมี 3 รูปแบบคือ

1.ความขัดแย้งเนื่องจากผลประโยชน์

2.ความขัดแย้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม

3.ความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นธรรมดาที่บุคคลมีความคิดเห็นแตกต่างกัน เราไม่อาจทำให้ทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกันลงรอยเดียวกันได้หมดทุกเรื่อง หลักนิติธรรมแต่เดิมใช้กำกับอำนาจรัฐ ความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ จึงใช้หลักนิติธรรมควบคุมได้ เมื่อมนุษย์มีความขัดแย้งกันนั้น หนทางแก้ไขมีอยู่ 4 แนวทางหรือใช้หลัก PCCS คือ

  1. Prevent ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
  2. Compromise ประนีประนอมเมื่อเกิดข้อขัดแย้ง
  3. Correct แก้ไขให้ถูกต้อง โดยแก้ที่ต้นเหตุของความขัดแย้ง
  4. Settle ตัดสินไปเลยว่าใครผิด ใครถูก หรือฟ้องร้องให้จบ ทำให้ยุติลงให้ได้

เราจะแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีไหนต้องใช้หลักนิติธรรมเข้าไปจับ ไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรมใหม่ขึ้นมา เหมือนกับวันนี้ความขัดแย้งในสังคมเรื่องอุดมการณ์ที่บอกว่าน่าจะจบลงด้วยวิธีการอภัยโทษ นิรโทษกรรม แต่ก็มีปัญหาว่าจะประนีประนอมอย่างไร ทั้งหมดต้องย้อนกลับไปคิดถึงหลักนิติธรรม

จากการที่ได้ฟัง ดร.วิษณุ บรรยายในหัวข้อหลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ทำให้ผู้เขียนเข้าใจถึงความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมของเรา และเข้าใจถึงรัฐบาลที่กำลังดำเนินการแก้ไขความขัดแย้ง โดยยึดหลักPCCS ของ ดร.วิษณุ

เมื่อฟังปาฐกถาจาก ดร.วิษณุ แล้ว ผู้เขียนและแขกผู้มีเกียรติทุกท่านก็ได้ชมนิทรรศการ ประวัติและผลงานของท่านศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ และรับประทานอาหารร่วมกัน