เชื่อ, เชื่ออะไร? เชื่อทำไม? เชื่อได้อะไร? ช ช้าง สระ เอือ ไม้ เอก “เชื่อ” คำนี้คำเดียว วลีเดียว แต่มันชั่งมีความหมายต่อชีวิตคนมากมายเหลือเกิน มันมีพลังอำนาจที่สว่างและมืดในตัวของมันเอง ซึ่งมักจะทำให้มีทั้งคุณและโทษ แต่ละคนก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไปก็เนื่องจากว่ามีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง ได้เห็น ได้ยิน ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสมาที่แตกต่างกัน แม้แต่บางครั้งเราได้เห็นในสิ่งที่เหมือนกันเราก็ยังเชื่อไม่เหมือนกัน คิดไม่สอดคล้องกันไม่เป็นไปในแนวเดียวกัน เห็นเหมือนกัน ได้ยินเหมือนกัน แต่ความคิดกลับตรงกันข้าม เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันการพนันก็เกิดขึ้น ความ “เชื่อ” ตัวเดียว ทุกวันนี้คนเราวันๆมีสิ่งที่เชื่อมากมายเหลือเกิน เริ่มแรกก็เชื่อในสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง นี่ก็เป็นความเชื่อขั้นพื้นฐานติดตามมากับสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้กิน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็มีไม่ต่างกัน เมื่อเกิดการยึดติดฝังความคิดอยู่กับสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้กินก็เกิดความ เชื่อ ฝังอยู่ นี้แหละคือตัว “เชื้อ” ที่เป็นทั้งคุณและโทษ ใหม่ๆสิ่งที่ทำให้เชื่อได้มามักจะให้ คุณ มากกว่าเป็นโทษตัว “คุณ” นี้แหละที่คนเรามักจะพูดอยู่เสมอๆว่า ดี ดี ดี บางครั้งดีแตกมันก็เลย “ขม”
เชื่อ คำนี้ทำให้คนดีใจมาก็มาก และ เชื่อ คำนี้ทำให้คนน้ำตาไหลก็มากมายเพราะหลงใหลในความ เชื่อ ไม่ว่าชายหรือหญิงผู้เฒ่าผู้แก่ก็แย่ไปตามๆ กันก็เพราะไอ้คำว่า เชื่อ คำเดียวนี้แหละ ปัจจุบันนี้ผู้เขียนเองได้สังเกตเห็นผู้ที่มีความเชื่อ ต่อสิ่งที่ถูกเชื่อ บางคนถึงกับบ้าต่อความเชื่อ ยกตัวอย่างซักหน่อยนะครับตัวอย่างที่จะยกต่อไปนี้ผู้เขียนไม่ได้ตำหนิผู้หนึ่งผู้ใดไม่มีเจตนาจะคัดค้านท่าน เพื่อให้เลิกต่อสิ่งที่เชื่อนะครับ ด้วยสัจจริงผู้เขียนไม่ได้คิดที่จะเขียนพาดพิงถึงกลุ่มบางกลุ่มไม่ได้คิดที่จะตำหนิถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วยนะครับ ผู้เขียนเองก็เคารพในสิทธิของท่านเช่นกันทุกๆท่านก็ต่างคนต่างมีความเชื่อเป็นของตัวเอง ผู้เขียนเองก็มีความเชื่อ แต่ผู้เขียนก็มีมุมมองมีแง่คิดกับสิ่งที่เชื่อ บางครั้งเราเชื่อแล้วจิตใจเรามีอิสระไหมหรือว่ามีอะไรผูกมัดอยู่กับความเชื่อหรือเปล่า เชื่ออย่างไรจึงทำให้จิตใจเรามีอิสระเชื่ออย่างไรในจิตใจมีแต่ความว่างเปล่า(สูญตา) หรือว่า เชื่อแล้วเรามีความยึดติดผูกมัดอยู่กับสิ่งที่เชื่อ เมื่อเชื่อแล้วก็มีแต่สิ่งที่แย่ๆตามมาครอบครัวล้มเหลวสังคมแตกแยก ประเทศชาติลุกเป็นไฟ โลกทั้งโลกต้องแบ่งแยกกันเป็นโซนๆ ถ้าเชื่อแล้วเป็นอย่างที่ว่าผู้เขียนเองคิดว่ามันแย่น่ะ ขอยกตัวอย่างก็แล้วกันนะครับ
เช่นมีความเชื่อในเรื่อง หวย ก็มีความเพลิดเพลินอยู่กับการซื้อหวย (สนุกอยู่กับอบายมุข) เชื่อในเรื่อง เหล็กไหล ก็มีความเพลิดเพลินเสาะแสวงหาเหล็กไหล (สนุกอยู่กับเรื่องรางของขลัง) เชื่อในเรื่อง ผี (อืย!…ขนหัวลุก;แปลกแต่จริงคนเราตอนเส้นผมบนหัวตั้งกลับพูดว่า “ขนหัวลุก” นับว่าลดระดับเส้นผมไปไว้ที่หน้าแข้ง แปลกแฮะ? อย่างนี้นี่เองผีถึงได้หลอกทั้งชีวิตกระทั่งตัวเองเป็นผีขนลุกจึงหายไปด้วย) ลางคนเชื่อในเรื่องวิทยาศาสตร์ (เชื่อเรื่องนี้น่าสนใจครับ) คนอื่นจะพูดอะไรให้ฟังก็มักจะพิสูจน์เสมอ จะต้องเอามาแสดงให้เห็นต่อหน้าต่อตาถ้ายังงั้นจะไม่เชื่อ คนประเภทนี้ใครจะเอาเชือกมาจูงจมูกสนตะพายไปไหนก็ไม่ไปด้วย (ท่านต้องมีหลักในการเชื่อแน่ๆ) ลางคนเชื่อ เรื่องบุญ บาป มีที่มีทางเรือกสวนไร่นาขายทำบุญหมด ลูกผัวถึงกับกระเจิดกระเจิงกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ตัวคนทำบุญเองถึงกับไปนอนกินบุญกอดเสาศาลาอยู่ที่วัด(อาจารย์พุทธทาส; ท่านเคยกล่าวไว้ว่าประเภทนี้ เรียกว่า “บ้าบุญ”) ผู้เขียนมีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง มีแม่ลูกคู่หนึ่งเห็นแล้วน่าสงสารทั้งแม่และลูก ตัวแม่ก็อยากทำบุญ ส่วนตัวลูกก็อยากได้ปืนของเล่น ไอ้ลูกก็ร้อง “แม่ซื้อปืน” “แม่ซื้อปืน ๆ” ไอ้แม่ก็บอกว่า “แม่ทำบุญก่อน” “แม่ทำบุญก่อนๆ” ที่นี้ไอ้การทำบุญของแม่มันมีหลายขั้นตอนหลายเวอร์ชัน หลายพิธีกรรม (ผู้เขียนจะไม่เล่าว่าขั้นตอนมันมีอะไรบ้าง ผู้อ่านลองนึกเอาเอง(หัดนึกเอาเองบ้างซิครับ โธ่!) แม่ทำบุญเพลินจนเงินเกือบหมด พอเสร็จจากการทำบุญก็พาลูกไปซื้อปืน “พ่อค้าปืนนี่กระบอกเท่าไรค่ะ”แม่ถามพ่อค้าปืน “กระบอกละ เจ็ดสิบห้าบาทครับ” พ่อค้าขายปืนตอบ “ห้าสิบบาทไม่ได้หรือค่ะ” ไอ้แม่ของเด็กต่อรองราคา, พ่อค้าบอกไปว่า “ไม่ได้หรอกครับ” แล้วพ่อค้าปืนก็แนะนำกระบอกอื่นๆต่อ “กระบอกสั้นปานกลางห้าสิบบาท; เล็กลงกว่านั้นก็สามสิบห้าบาทครับ” แม่ของเด็กก็ชักจะลังเลเงินในกระเป๋าของตัวแล้วละซิ. ไอ้ครั้นจะซื้อกระบอก 75 บาทก็กลัวเงินไม่พอจะซื้อข้าวต้มปลา แล้วจะต้องซื้อก๋วยเตียวไปฝากพ่อของเด็กที่บ้านด้วย เงินในกระเป๋าก็มีไม่มาก เมื่อลังเลอยู่พักหนึ่งก็ถามลูกชายว่า “เอากระบอกนี้ไหมลูก” กระบอกเล็ก 35 บาทแล้วชี้ให้ลูกดู “ไม่เอาหนูไม่ชอบ” ลูกชายตอบทันทีทันควัน “งั้นเอากระบอกนี้ก็แล้วกัน” แม่ชี้ไปที่กระบอกราคา50บาท “หนูไม่ชอบอันเล็กๆ หนูชอบอันใหญ่ๆ” ลูกพูดหนักแน่นชัดถ้อยชัดคำ. แม่ชักยุ่งแล้วละสิงานนี้ (เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ลูกชอบ)เกิดการต่อรองกันขึ้นระหว่างลูกกับแม่ ในที่สุดลูกต้องใช้อาวุธที่ร้ายแรงเพื่อทำสงครามกับแม่ สิ่งนั้นก็คือ ร้องให้อ้าปากเสียงกรีดร้องลั่นทั่วบริเวนแห่งนั้นแล้วก็นั่งเอาเท้ายันดินไปมาจนฝุ่นตลบฝูงชนที่อยู่บริเวนนั้นต้องหนีกันกระเจิดกระเจิงเพราะทนอาวุธฝุ่นไม่ไหว (คราวนี้บุญก็ช่วยไม่ได้) ถึงตอนนี้แม่ต้องเจรจาสงบศึกเพื่อให้สงครามสงบลง ต้องควักเงินออกมาซื้อปืนในราคา75บาทให้คู่กรณี. ในที่สุดสงครามก็สงบโดยสันติ ณ บัดนั้น ลูกชายดีใจเมื่อได้ปืน แม่สะอื้นโอดโอยเมื่อโหยหิวท้องกิ่วกลับบ้าน ข้าวต้มก็ไม่ได้กิน ก๋วยเตียวก็ไม่ได้ซื้อ มีกะตังค์ติดตัว 10 บาทกลับบ้าน (ขอผลานิสงค์แห่งบุญกุศลที่แม่ลูกได้ทำนั้นจงติดตามไปให้ท่านเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีทุกภพทุกชาติเทอญ…)
การทำบุญใครๆ ก็อยากทำทั้งนั้นแหละครับ ถ้าทำแล้วไม่เดือดร้อนทั้งตัวเองและผู้อื่น แต่กับกรณีตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นนั้นเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ได้ประสบมาในชีวิต ถ้าจะกล่าวถึงความเชื่อหรือไม่เชื่อมีความกังขามีความสงสัยไม่แน่ใจว่าจริงหรือเท็จเชื่อได้หรือไม่ได้ในทางพุทธศาสนาเขามีหลักและมีสูตรให้พิจารนาดูด้วยตนเอง สูตรนั้นมีชื่อว่า กาลามสูตร ใน ติกนิบาตร อังคุตตรนิกาย ที่เป็นพุทธภาษิต ตรัสแก่ประชาชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมในรัฐโกศล ในพระสูตรนี้ ตรัสสอนพวกกาลามะไม่ให้เชื่อถือโดยอาการ 10 อย่างอันไร้จากเหตุ ให้พิจารณาด้วยตนเอง เห็นว่าอย่างไรผิดก็อย่าถือเอา อย่างไรถูกจึงถือเอาในอาการอย่างนั้นมีดังนี้
- มาอนุสฺสเวน, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามๆ กันมา
- มาปรมฺปราย, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
- มาอิติกิราย, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
- มาปิฏกสมฺปทาเนน, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
- มาตกฺกเหตุ, อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรก
- มานยเหตุ, อย่าปลงใจเชื่อเพราะอนุมาน
- มาอาการปรวิตกฺเกน, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
- มาทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา, อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
- มาภพฺพรูปตาย, อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณ์น่าจะเป็นไปได้
- มาสมโณ โน ครูติ, อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อผู้อ่านได้เห็นสูตร 10 อาการแล้วดวงจิตคงสว่างไสวมากขึ้นนะครับ ใครจะนำไปใช้ก็ได้นะครับเจ้าชายสิทธัตถะท่านไม่หวงแหนไว้ใช้คนเดียวหรอกครับ เพราะมีเมตตา กรุณาต่อสัพสัตว์ในโลกนี้อยู่แล้ว สูตรกาลามะ 10 ประการนี้ใช้ได้กับท่านที่บอกว่า “ฉันไม่เชื่อ แต่ ฉัน ศรัทธา” ศรัทธา แปลเป็นไทย ก็คือ เชื่อ แหละครับ คราวหน้าถ้ามีโอกาสจะได้มาเล่าเรื่อง ศรัทธา ให้ฟังใหม่ สำหรับคราวนี้ผู้เขียนมีความเชื่อแค่นี้จึงยุติจบลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับที่ติดตามอ่าน สวัสดีครับ!