สมบัติล้ำค่าของห้องสมุดในความคิดของคนทั่วไปในปัจจุบัน คือ “หนังสือ/สื่อความรู้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หลากหลาย” แต่ที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากจะมี 2 สิ่งดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หาได้ยากในห้องสมุดในประเทศไทย นั่นคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังทำด้วยแผ่นเซรามิกและการปั้นนูนต่ำ ชื่อ ภาพจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เป็นภาพขนาดใหญ่เต็มฝาผนัง 1 ด้านที่มีความงดงามโดดเด่นสะดุดตา อยู่ที่บริเวณห้องโถงนิทรรศการ ชั้นใต้ดิน 1
ภาพจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และฯพณฯปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยรูปภาพและสัญลักษณ์อยู่ในวงกลมน้อย-ใหญ่ จำนวน 13 ภาพ เริ่มต้นด้วยภาพแม่โดม สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสุดท้ายเป็นภาพเหมือนของฯพณฯปรีดี พนมยงค์ ซึ่งล้อมรอบด้วยดอกบัว 11 ดอกที่มีสีสรรแตกต่างกันเป็นการเปรียบเทียบชีวิตของท่านโดยในแต่ละภาพก็ล้อมรอบด้วยเส้นโค้งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเคลื่อนไหวต่อเนื่องกันตลอด มีสีสรรสวยงาม และสอดคล้องกลมกลืนกัน ในตอนกลางของภาพเป็นรูปธงชาติและรัฐธรรมนูญปรากฏอย่างเป็นสง่า
การสร้างสรร “ภาพจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และฯพณฯปรีดี พนมยงค์” ศิลปินใช้เวลานานกว่า 2 ปี ใช้แผ่นเซรามิกประมาณ 1ล้านแผ่น การจัดเรียงแผ่นเซรามิกให้มีความหมายตามโครงสร้างของภาพใช้เวลานานถึง 4 เดือน ดังนั้นกว่าจะมาเป็นภาพที่ปรากฏความงดงามสมบูรณ์แบบบนผนังแห่งนี้ได้ ศิลปินก็ต้องใช้ทั้งแรงใจ แรงกาย หยาดเหงื่อ เวลา และการทุ่มเทสุดฝีมือ จึงอยากให้ทุกคนที่ได้ชมภาพนี้สำนึกในคุณค่าและช่วยกันรักษาให้คงอยู่คู่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปนานเท่านาน
เอกสารอ้างอิง :
1. สัมพันธ์ สารารักษ์. จิตวิญญาณธรรมศาสตร์และ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ [ม.ป.ท. : ม.ป.พ.], 2548 54 แผ่น : ภาพสีประกอบ
2. จุลสารธรรมศาสตร์ปี่ที่ 38 ฉบับที่10 พ.ย 48 หน้า 7