All posts by นางสาวอัชนา แสงกระจ่าง

การให้บริการนักศึกษาต่างชาติของหอสมุดปรีดี พนมยงค์

IMG_6646 (1)

นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบ่งได้เป็น  3  ประเภท  คือ

1.  เรียนแบบรับปริญญา มีตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-เอก บริการที่ได้รับจะเหมือนกับนักศึกษาไทยในระดับเดียวกัน  รวมทั้งอายุสมาชิกกำหนดเป็นปีการศึกษา

2 .  เรียน 1หรือ2 ภาคการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนของโครงการในคณะ หรือวิทยาลัย   อายุสมาชิกกำหนดเป็นภาคการศึกษา เช่นนักศึกษาต่างชาติในหลักสูตร Thai Studies (ไทยศึกษา) ของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี  พนมยงค์   ซึ่งจะมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนทุกภาคการศึกษา

3.  เรียน 1 เดือน เป็นภาคฤดูร้อนของหลักสูตร Thai Studies (ไทยศึกษา) เรียนในช่วงเดือนกลางเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม  บัตรนักศึกษาใช้เข้าห้องสมุดได้อย่างเดียว  ยืมออกไม่ได้

บริการที่ได้รับจากห้องสมุดสำหรับผู้ที่เรียนตั้งแต่ 1ภาคการศึกษา  มีบริการยืม-คืน  ยืมต่อทางInternet  บริการจองหนังสือ บริการยืมระหว่างห้องสมุด    การสืบค้นข้อมูล (สำหรับผู้เรียนระยะสั้นและบุคคลทั่วไป)

IMG_05082015_135704    IMG_05082015_135823IMG_05082015_135334
การจัดทำข้อมูลนักศึกษาเพื่อให้บริการได้

1.  นักศึกษาที่เรียนแบบรับปริญญา สำนักทะเบียนฯจะโอนข้อมูลของ                นักศึกษามาให้ห้องสมุดหลังจากการลงทะเบียน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำเข้าฐานข้อมูลสมาชิกในโปรแกรมการยืมอัตโนมัติKOHA   นักศึกษาสามารถใช้บัตรประจำตัวนักศึกษายืมหนังสือ  ยืมต่อ/จองหนังสือได้ จนถึงวันที่หมดอายุสมาชิก

2.  นักศึกษาที่เรียนเป็นภาคการศึกษา เจ้าหน้าที่ของโครงการฯจะส่งรายชื่อนักศึกษา พร้อมเลขประจำตัวมาให้  ผู้ให้บริการจะต้องบันทึกข้อมูลของนักศึกษาเหล่านี้เข้าฐานข้อมูลสมาชิกเอง  ในส่วนของที่อยู่  หรือemail  จะบันทึกที่อยู่ และ emailของโครงการฯ  ชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในโครงการฯ/หมายเลขโทรศัพท์  เพื่อใช้ในการติดต่อกรณีนักศึกษามีปัญหา   สำหรับวันหมดอายุสมาชิกจะกำหนดไว้เป็นวันสุดท้ายของการสอบ  คือภาคการศึกษาที่1 เป็นกลางเดือนพฤษภาคม  ภาคการศึกษาที่2 เป็นกลางเดือนธันวาคม

การตรวจสอบหนี้สินและการติดตามการค้างส่ง

1.   ตรวจสอบการค้างส่งหนังสือ ทำ15วัน/ครั้ง หากพบว่ามีการค้างส่งจะส่งemail ทวงถามไปที่นักศึกษา (ในกรณีเรียนแบบรับปริญญา)   หรือติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของโครงการฯให้ตามนักศึกษามาส่งหนังสือคืน

2.  หากทวงไปแล้วไม่มาติดต่อ ในกรณีนักศึกษาที่เรียนแบบรับปริญญา  จะทำการล็อคการขึ้นทะเบียนบัณฑิตในระบบของสำนักทะเบียน   ส่วนผู้ที่เรียนเป็นภาคการศึกษาจะติดต่อเจ้าหน้าที่ของโครงการฯให้ระงับการออกหนังสือสำคัญจนกว่านักศึกษาจะส่งคืนหนังสือ

จิตรกรรม ประติมากรรมเซรามิกที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์

สมบัติล้ำค่าของห้องสมุดในความคิดของคนทั่วไปในปัจจุบัน คือ “หนังสือ/สื่อความรู้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หลากหลาย”  แต่ที่หอสมุดปรีดี  พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากจะมี 2 สิ่งดังกล่าวแล้ว  ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หาได้ยากในห้องสมุดในประเทศไทย นั่นคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังทำด้วยแผ่นเซรามิกและการปั้นนูนต่ำ  ชื่อ ภาพจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และ ฯพณฯ ปรีดี  พนมยงค์   เป็นภาพขนาดใหญ่เต็มฝาผนัง 1 ด้านที่มีความงดงามโดดเด่นสะดุดตา อยู่ที่บริเวณห้องโถงนิทรรศการ ชั้นใต้ดิน 1

11111          2222

ภาพจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และฯพณฯปรีดี  พนมยงค์  ประกอบด้วยรูปภาพและสัญลักษณ์อยู่ในวงกลมน้อย-ใหญ่  จำนวน 13 ภาพ  เริ่มต้นด้วยภาพแม่โดม  สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสุดท้ายเป็นภาพเหมือนของฯพณฯปรีดี  พนมยงค์  ซึ่งล้อมรอบด้วยดอกบัว 11 ดอกที่มีสีสรรแตกต่างกันเป็นการเปรียบเทียบชีวิตของท่านโดยในแต่ละภาพก็ล้อมรอบด้วยเส้นโค้งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเคลื่อนไหวต่อเนื่องกันตลอด มีสีสรรสวยงาม และสอดคล้องกลมกลืนกัน ในตอนกลางของภาพเป็นรูปธงชาติและรัฐธรรมนูญปรากฏอย่างเป็นสง่า

33       44

การสร้างสรร “ภาพจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และฯพณฯปรีดี  พนมยงค์”   ศิลปินใช้เวลานานกว่า 2 ปี    ใช้แผ่นเซรามิกประมาณ 1ล้านแผ่น  การจัดเรียงแผ่นเซรามิกให้มีความหมายตามโครงสร้างของภาพใช้เวลานานถึง 4 เดือน   ดังนั้นกว่าจะมาเป็นภาพที่ปรากฏความงดงามสมบูรณ์แบบบนผนังแห่งนี้ได้  ศิลปินก็ต้องใช้ทั้งแรงใจ แรงกาย หยาดเหงื่อ เวลา  และการทุ่มเทสุดฝีมือ  จึงอยากให้ทุกคนที่ได้ชมภาพนี้สำนึกในคุณค่าและช่วยกันรักษาให้คงอยู่คู่หอสมุดปรีดี  พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปนานเท่านาน

55
        66

เอกสารอ้างอิง :

1.   สัมพันธ์ สารารักษ์.  จิตวิญญาณธรรมศาสตร์และ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์   [ม.ป.ท. : ม.ป.พ.], 2548     54 แผ่น : ภาพสีประกอบ

2.  จุลสารธรรมศาสตร์ปี่ที่ 38 ฉบับที่10  พ.ย 48  หน้า 7

ทุนการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

4-22-2015 10-18-06 AM

เนื่องในวันที่  6  พฤษภาคม  ซึ่งเป็นวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนจะขอเล่าถึงพระกรุณาธิคุณในด้านหนึ่งซึ่งมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในปัจจุบัน  นั่นคือทุนการศึกษาที่ทรงประทานให้กับนักศึกษา

ทุนการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

4-22-2015 10-22-32 AM

ในปีพ.ศ.2517   ขณะที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่คณะศิลปศาสตร์  ได้ทรงประทานเงินให้มหาวิทยาลัยจัดทำเป็นกองทุน นำผลประโยชน์มาเป็นทุนการศึกษา   โดยที่พระองค์ท่านทรงเห็นความสำคัญของการอ่านและหนังสือที่มีต่อการศึกษา  จึงมีพระดำริให้เป็นทุนสำหรับการซื้อหนังสือหรือตำราที่จะใช้ในการศึกษา  ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้นำพระดำริดังกล่าวมากำหนดไว้ในระเบียบของทุนซึ่งมีการสืบสานจนถึงปัจจุบัน    ทำให้ทุนการศึกษานี้มีความพิเศษแตกต่างจากทุนทั่วไปที่เป็นการมอบเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาแก่นักศึกษา  ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ได้รับทุนว่าจะนำไปใช้อย่างไร   และผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งอาจารย์สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และข้าราชการสำนักหอสมุดเป็นคณะกรรมการพิจารณาและดูแลการใช้ทุนของนักศึกษา  กรรมการชุดแรกมีศ.จารุวรรณ  สินธุโสภณ เป็นประธาน ผศ.ทองหยด  ประทุมวงศ์ เป็นกรรมการ  และนายชลัช ลียวณิชย์ เลขานุการสำนักหอสมุด เป็นกรรมการและเลขานุการ

4-22-2015 10-19-20 AM

(พระรูปสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ  ทรงลงพระนามในสมุดเยี่ยมชมหอสมุดปรีดี  พนมยงค์  เมื่อวันที่ 26  พฤษภาคม พ.ศ.2542   ซึ่งเสด็จมาเป็นประธานในงานแสดงปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542  ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์  ผู้อยู่ซ้ายมือในภาพ คือผู้อำนวยการสำนักหอสมุดในขณะนั้น  ถัดไป คือประธานคณะกรรมการพิจารณาทุนการศึกษาฯในปัจจุบัน)

สำหรับคณะกรรมการพิจารณาทุนการศึกษาฯชุดปัจจุบันมี  7 คน  โดยรศ.คุณหญิงวงจันทร์  พินัยนิติศาสตร์  อดีตอาจารย์สาขาวิชาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์  เป็นประธาน ผู้เขียนเป็นกรรมการ  ร่วมกับกรรมการท่านอื่นๆอีก 4 ท่าน  และนางสุพรรณี  อยู่เจริญ  ผู้ดูแลการใช้ทุนของนักศึกษา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  ในเวลา 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปีการศึกษา 2557 มีการจัดสรรทุนการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ให้กับนักศึกษารวมทั้งสิ้น   803  ทุน    เป็นจำนวนเงิน   832,984.05   บาท (ยอดเงินถึงปีการศึกษา2556 เนื่องจากในปีการศึกษา2557นี้   ยังไม่สิ้นสุดการจัดซื้อหนังสือของนักศึกษา)   นักศึกษาผู้ที่ได้รับทุนจะได้รับการประทับข้อความที่หนังสือทุกเล่ม   ว่า  “  หนังสือนี้จัดซื้อด้วยเงินทุนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  เพื่อใช้ในการศึกษา  และให้เป็นสมบัติของ…………………………………………………………… ปีการศึกษา …………………”

“ถึงแม้นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ได้รับทุนจะสำเร็จการศึกษาไปแล้วก็ตาม  หนังสือเหล่านี้คงเป็นเครื่องเตือนใจให้เขาระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ   และคงเป็นเครื่องประกาศความสำคัญและประโยชน์ของหนังสือแก่บุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็น”  (ศาสตราจารย์จารุวรรณ  สินธุโสภณ   หน้า 11)

เอกสารอ้างอิง  : ศาสตราจารย์จารุวรรณ  สินธุโสภณ   “ทุนการศึกษาที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เพื่อจัดซื้อตำราแก่นักศึกษมหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์”   จุลสารธรรมศาสตร์  ปีที่41 ฉบับที่1  มกราคม  2551  หน้า 9-11