ชื่อเมืองกรุงของเรา

bangkok

กรุงเทพฯหรือกรุงเทพมหานคร  เมืองหลวงของเรา มีชื่อเต็มๆ ซึ่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตได้บรรจงตั้งไว้อย่างไพเราะและยาวเหยียด เป็นถ้อยคำที่บรรจุด้วยความหมายและนัยประวัติ เป็นมงคลอย่างพร้อมสรรพ ความจริงการตั้งชื่อเช่นนี้ได้รับแบบอย่างมาจากการตั้งชื่อพระนครศรีอยุธยานั่นเอง ข้อนี้เป็นความจำเป็นและไม่เสียหายแต่อย่างใด กลับเป็นผลดีต่อจิตใจประชาชนเสียอีก เพราะในช่วงสร้างกรุงนั้นผู้คนยังอาลัยอาวรณ์กรุงศรีอยุธยาเมืองหลวงเก่า ซึ่งมีอายุสืบมากกว่า 400 ปี เพื่อเป็นการเอาใจสร้างขวัญด้านจิตวิทยาสังคมศาสตร์ การก่อสร้างถาวรวัตถุจึงลอกเลียนแบบกรุงศรีอยุธยามาแทบทั้งหมด และเพื่อแสดงว่ากรุงศรีอยุธยามิได้ล่มจมสูญหายไปไหน เป็นแต่เพียงเปลี่ยนสภาพพระนครใหม่ที่สดใสเกรียงไกรกว่าเก่าดุจลอยลงมาจากสวรรค์ชั้นฟ้า นับตั้งแต่มีการย้ายเมืองหลวง มาจากกรุงศรีอยุธยา ได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงใหม่ ตามลำดับดังนี้

สมัยรัชกาลที่ 1 “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์”

                สมัยรัชกาลที่ 4 เปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์  มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ทุกวันนี้ชื่อเมืองหลวงเต็มๆของเราก็ยังคงใช้ชื่อที่เปลี่ยนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งนับว่าเป็นชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลกก็ว่าได้

ความหมายของชื่อเมืองหลวง มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนครของเทวดา(เทพ)   เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกตอันอมตะ(ไม่มีวันตายหรือสูญสิ้น)   เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามล้ำเลิศ มีความมั่นคงและเจริญยิ่ง    เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการที่น่าปรารถนายิ่งนัก    เป็นนครที่มีพระราชนิเวศน์และพระราชวังมากมาย    เป็นวิมานของเทพคือเป็นที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา  ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพระราชนิเวศน์วังทั้งหลาย พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ได้ทรงมีพระเทวบัญชาประทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตขึ้นไว้”

นอกเหนือจากชื่อเมืองหลวงของเราที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ยังมีการเรียกขานที่มีความแตกต่างกันไปอย่างไม่น่าเชื่อ

เริ่มต้นตั้งแต่ที่ว่ากันว่า ชื่อบริเวณที่มาสร้างเป็นนครหลวงขึ้นใหม่นี้ ก่อนหน้านี้เป็นบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแต่ลำคลองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และที่ผู้คนขุดตัดกันมาใหม่นี้มีต้นมะกอกน้ำขึ้นอยู่เป็นอันมาก จึงเรียกขานแบบนี้กันว่า “บางมะกอก” ซึ่งต่อมาฝรั่งชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายด้วย ออกเสียงเมืองบางมะกอกไม่ได้สำเนียงแบบไทยจึงเรียกว่า “แบงมะค่อก” จนกลายเป็น “แบงค่อก” ในสำเนียงฝรั่งและกลายเป็น “บางกอก” ตามสำเนียงไทย

เมื่อมีการตั้งชื่อมหานครกันเต็มยศชาวบ้านก็เรียกชื่อเมืองกันสั้นๆตามธรรมเนียมไทยว่า “กรุงเทพฯ” ในขณะที่คนไทยในต่างจังหวัดเรียกตามทางฝรั่งว่า “บางกอก” ก็มีเรียก “กรุงเทพฯ” ก็มี

ครั้นมีการบ่งเขตการปกครองแบบท้องถิ่นเป็น 24 อำเภอ อำเภอที่เป็นเหมือนอำเภอเมืองก็ถูกกำหนดให้เรียกว่า “อำเภอพระนคร” และตั้งชื่อเมืองกรุงทพฯ เป็นทางราชการว่า “จังหวัดพระนคร”

เมืองหลวงของเราจึงมีชื่อที่ถูกเรียกกัน 3 ชื่อ 4 ทำนอง

คือคนต่างจังหวัดโบราณเรียกการมานครหลวงของไทยว่า “ไปกรุงเทพฯ” “เข้ากรุงเทพฯ”

แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าแก่จะเรียกว่า “ไปบางกอก”

ขณะที่คนต่างชาติเรียกบางกอกว่า “แบงค่อก”

และทางราชการ และคนที่อยู่ในนครหลวงกรอกรายการว่าตนเป็นคนจังหวัดพระนคร

เมื่อ พ.ศ. 2515 มีการรวม 2 เมืองเข้าด้วยกันเป็นเมืองเดียว ตั้งชื่อว่า “กรุงเทพมหานคร” มีระบบบริหารเรียกขานเป็นตัวย่อ 3 ตัว ว่า กทม.

ซึ่งทั้งหมดนี้จนถึงวันนี้ผู้คนที่เรียกขานชื่อเมืองหลวงของไทยก็ยังเรียกขานกันตามอัธยาศัย โดยเรียกกรุงเทพฯ ก็มี กรุงเทพมหานคร ก็มี กทม. ก็มี และเมื่อพูกกับชาวต่างประเทศก็จะเรียกนครหลวงเราว่า แบงค่อก

 

ที่มา

สมบัติ จำปาเงิน. รู้เรื่องเมืองบางกอก. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี่, 2539

สมัคร สุนทรเวช. จดหมายเหตุกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2557