“ผลประโยชน์ร่วมกัน” ในทางพัสดุ

“ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

ประโยคนี้หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เมื่อได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ทราบมั๊ยว่าความหมายที่แท้จริง คืออะไร ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 5 ได้ให้ความหมายไว้อย่างชัดเจนว่า หมายถึง

“บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เข้าเสนอราคาขายในการซื้อพัสดุของทางราชการ หรือเข้าเสนอราคาเพื่อรับจ้างทำพัสดุ หรือเข้าเสนองานเพื่อรับจ้างเป็นที่ปรึกษา หรือรับจ้างออกแบบและควบคุมงาน ให้แก่ส่วนราชการใด เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลอื่น ที่เข้าเสนอราคาหรือเข้าเสนองานให้แก่ส่วนราชการนั้นในคราวเดียวกัน”

การมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดังกล่าวข้างต้น ได้แก่

1. ผู้ที่มีความสัมพันธ์กันในเชิงบริหาร – ต้องไม่เป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ฯลฯ ของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นในการจัดซื้อจัดจ้างคราวเดียวกัน

2. มีความสัมพันธ์กันในเชิงทุน – ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด (หมายถึงผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 25 ในกิจการนั้น) ของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นหรือหลายรายในการจัดซื้อจัดจ้างคราวเดียวกัน

3. มีความสัมพันธ์กันในลักษณะไขว้กันระหว่าง 1 และ 2 – มีความสัมพันธ์ไข้วกันระหว่างเชิงบริหาร และเชิงทุนต้องไม่เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด  (หมายถึง  ผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 25 ในกิจการนั้น) ของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นในกิจการจัดซื้อจัดจ้างคราวเดียวกัน

เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญของงานจัดซื้อจัดจ้าง ที่ผู้ปฏิบัติงานควรทำความเข้าใจ และศึกษาวิธีการพิจารณา ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกันไว้ เพื่อไม่ให้เป็นการทำผิดระเบียบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการได้

รายการอ้างอิง

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535.  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 จาก http://www.dnp.go.th/assetdnp/ระเบียบพัสดุ%2035.pdf