ได้อ่านข่าวแผ่นดินไหวที่เกิดต่างประเทศแล้ว เห็นความสูญสียมหาศาลไม่ว่าทางทรัพย์สิน ชีวิต และพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้นึกสะท้อนในอกว่าถ้าเกิดกับเรา เราจะทำอย่างไร เพราะอาศัยในอาคารเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะไม่สูงมาก แต่ก็กลัวอยู่ดี หาข้อมูลดีกว่า ซึ่งมีข้อมูลมากมายและคำแนะนำเยอะมาก มากจนงง ไม่เป็นไร เอาที่เราสามารถดีกว่า
สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพ ได้จัดทำแผ่นพับการรับมือแผ่นดินไหว เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนถึงวิธีการรับมือกับแผ่นดินไหว ตามรูป
ที่มาของภาพ: สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพ
สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพ ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับข้อปฏิบัติตนเพื่อการเตรียมความพร้อมการเกิดแผ่นดินไหว ไว้ดังนี้
ข้อปฏิบัติตนก่อนเกิดแผ่นดินไหว
1. สอนสมาชิกในครอบครัว รู้จักการเปิดและปิดไฟ ก๊าซ น้ำประปา และทราบถึงการใช้เครื่องดับเพลิง ควรมีถ่านไฟฉายและกระเป๋ายาในบ้าน
2. จัดเตรียมอุปกรณ์พยาบาลและให้ความรู้เบื้องต้นเรื่องการปฐมพยาบาลแก่สมาชิกในครอบครัว ตลอดจนสะสมอาหารกรณีอาจเกิดเหตุฉุกเฉิน
3. ทดลองวางแผนว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขณะอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในรถยนต์ บ้าน โรงเรียน โรงหนัง เป็นต้น ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
4. วางแผนเส้นทางการอพยพ และสถานที่รวมตัวอีกครั้งของสมาชิกในครอบครัวหลังเกิดแผ่นดินไหว
5. อย่าวางของหนักไว้บนชั้นหรือหิ้งสูง ๆ
6. ควรยึดเครื่องใช้และเครื่องประดับบ้านที่หนัก ๆ เช่นยึดตู้ถ้วยชามกับฝาผนัง
ขณะเกิดแผ่นดินไหว
1. ถ้ากำลังขับรถยนต์ให้หยุดรถและอยู่ในรถจนกระทั่งการสั่นสะเทือนหยุดลงควบคุมสติอย่าตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ
2. ถ้าอยู่ในอาคารสูง ๆ ให้มุดเข้าใต้โต๊ะทำงาน อย่าวิ่งถลันออไปภายนอกเพราะบันไดอาจพังลงได้ และอย่าใช้ลิฟท์เพราะอาจติดอยู่ภายใน
3. ถ้าอยู่ภายนอกอาคารให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้อาคารสูง ๆ กำแพง และเสาไฟฟ้า ให้อยู่ในที่โล่งแจ้ง
4. อยู่อย่างสงบ ถ้าอยู่ในส่วนของอาคารที่มีโครงสร้างแข็งแรง ควรอยู่ให้ห่างประตู หน้าต่าง กระจก ระเบียงถ้าอยู่ในภาวะอันตรายให้มุดเข้าใต้โต๊ะเตียง และหลังจากการสั่นหยุดไหว ให้รีบออกจากอาคารทันที
หลังเกิดแผ่นดินไหว
1. ปฐมพยาบาลแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ และหากเจ็บมากให้ขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทันที
2. ตรวจสอบเรื่องไฟ ห้ามจุดไม้ขีดไฟ ก๊าช หรือปิดสวิทซ์ไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟ จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีก๊าซรั่วออกมาอีก
3. หลีกเลี่ยงจากสายไฟฟ้าที่ห้อยลงมา หรือวัตถุที่สัมผัสกับสายไฟฟ้า และยกสะพานไฟฟ้าเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า
4. ตรวจท่อของเสียชักโครกก่อนที่จะใช้น้ำชักโครก
5. อย่าใช้โทรศัพท์ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นจริง ๆ เพราะอาจต้องใช้ส่งข่าวที่สำคัญกว่า
6. ตรวจสภาพรอบบ้าน และอาคารว่ามีความปลอดภัยเพียงพอก่อนเข้าไปอีกครั้ง
7. อย่าเดินเที่ยวดูสภาพความเสียหายของผู้อื่น เพราะทางสัญจร อาจจำเป็นต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน
8. เตรียมพร้อมสำหรับการจะเกิดแผ่นดินไหวในครั้งต่อไป
ทั้งนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพ ได้จัดทำคู่มือการรับมือแผ่นดินไหว (ฉบับย่อ) ให้ดาวน์โหลดเพื่อศึกษาได้ที่ http://www.fire199.net/index.php?topic=175.0
รายการอ้างอิง
สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพ. แผ่นดินไหว. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 จาก http://www.bangkokfire.com/articles.php?article_id=2