บริการสืบค้นเสมือนจริง (Virtual Browse) ของห้องสมุด

วงการห้องสมุดมีการนำเทคโนโลยีหลากหลายมาใช้ เพื่อช่วยในการบริการสารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงสารสนเทศตามที่ผู้ใช้ต้องการ  บริการสืบค้นเสมือนจริง (Virtual Browse) เป็นเทคโนโลยีที่ห้องสมุดทั้งในไทยและต่างประเทศนำมาใช้  อาจไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่แต่มีความน่าสนใจ เพราะรูปแบบของบริการสืบค้นสารสนเทศเสมือนจริงในห้องสมุด นอกจากทำให้การสืบค้นสะดวกมากขึ้น ยังมีรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจในการใช้งานอีกด้วย  โดยบทความนี้จะขอแนะนำบริการสืบค้นเสมือนจริงและยกตัวอย่างห้องสมุดทั้งไทยและต่างประเทศที่นำบริการนี้มาใช้

บริการสืบค้นหนังสือเสมือนจริง  เป็นบริการออนไลน์ที่ช่วยผู้ใช้ในการค้นหาหนังสือแบบไล่เรียง (browsing) โดยทำการออกแบบหน้า Interface ของเว็บไซต์ห้องสมุดลอกเลียนสภาพแวดล้อมของชั้นหนังสือจริง ทำให้ผู้ใช้สามารถกวาดสายตาดูได้ว่าห้องสมุดมีหนังสืออะไรบ้างตามหมวดหมู่ที่ต้องการ โดยยังไม่ต้องเดินทางไปยังชั้นหนังสือ เพิ่มช่องทางในการค้นหาหนังสือ ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้ใช้เจอหนังสือที่ต้องการโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน อีกทั้งยังได้เห็นข้อมูลตัวเล่มหนังสือเพื่อพิจารณาว่าตรงกับความต้องการหรือไม่ก่อนเดินทางไปยืมหนังสือ หรือถ้าหนังสือมีบริการในรูปแบบ E-book ผู้ใช้ก็สามารถเข้าใช้เอกสารฉบับเต็มได้ทันที  เพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลาของผู้ใช้ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้หนังสือในห้องสมุดได้รับการยืมมากยิ่งขึ้น

รูปแบบบริการสืบค้นเสมือนจริง

  • จัดเรียงทรัพยากรตามหมวดหมู่เดียวกัน
  • คลิกไล่เรียงทรัพยากรย้อนไป-กลับ เพื่อเลือกดูเรื่องที่สนใจ
  • แสดงรายการบรรณานุกรมเบื้องต้นของทรัพยากร
  • แสดงรูปหน้าปกหนังสือประกอบการตัดสินใจ
  • มีรูปแบบอื่นๆ ที่อำนวยความสะดวกในการค้นหนังสือบนเว็บไซต์ก่อนตัดสินใจยืมที่ห้องสมุด

ตัวอย่างบริการของ North Carolina State University Library

NCSU1

เมื่อผู้ใช้เลือก Browse shelf ในหน้าผลการสืบค้น จะปรากฏหน้าชั้นหนังสือเรียงตามเลขหมู่ สามารถไล่ดูหนังสือเลขหมู่ก่อนหน้าหรือถัดไป  และเลือกว่าจะดูหนังสือเฉพาะห้องสมุดใด เพื่อจำกัดผลการค้น นอกจากนี้ห้องสมุดยังจัดทำ Quick view เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดูรายละเอียดบรรณานุกรมเบื้องต้นของหนังสือ เช่น ชื่อเรื่อง ผู้แต่ง เรื่องย่อ สารบัญ เป็นต้น ก่อนตัดสินใจเลือกดูระเบียนรูปแบบเต็ม (Full record)

 

NCSU 2

ตัวอย่าง Quick view

ตัวอย่างบริการของ Austin Public Library

Austin1

บริการสืบค้นเสมือนจริงของ Austin Public Library จะแสดงในหน้าผลการสืบค้นอัตโนมัติ โดยผู้ใช้ไม่ต้องคลิกเลือก  และมีความพิเศษคือ ผู้ใช้สามารถอ่านตัวอย่างหนังสือ หรือถ้าเป็นโสตทัศนวัสดุ ผู้ใช้สามารถฟังตัวอย่างก่อนตัดสินใจยืมได้

ตัวอย่างบริการของ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

tulib2

บริการสืบค้นเสมือนจริงของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จะปรากฏในหน้าผลการสืบค้น ผู้ใช้ต้องคลิกเลือกที่ See Similar Items  ซึ่งจะไล่เรียงหนังสือตามห้องสมุดที่หนังสือจัดเก็บอยู่ ผู้ใช้สามารถเลือกว่าจะไล่ดูหนังสือจากห้องสมุดสาขาใดของสำนักฯ

บริการสืบค้นเสมือนจริงของแต่ละห้องสมุดจะแตกต่างกัน บางห้องสมุดจะแสดงบริการสืบค้นเสมือนจริงในหน้าแรกของเว็บไซต์ หรือด้านล่างผลการสืบค้น โดยผู้ใช้ไม่ต้องคลิกเลือกบริการ เพื่อให้ผู้ใช้เห็นบริการชัดเจน เช่น Open Library, Austin Public Library แต่บางห้องสมุดบริการจะซ่อนอยู่ในผลการค้นหนังสือ ผู้ใช้ต้องคลิกเลือกบริการเอง ซึ่งผู้ใช้อาจไม่สังเกตเห็นหรือไม่ทราบว่ามีบริการดังกล่าว ทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากบริการสืบค้นเสมือนจริง

 

รายการอ้างอิง
Lynema, Emily ; Lown, Cory ; and Woodbury, David. “Virtual Browse: Designing User-Oriented Services for Discovery of Related Resources.” Library Trends 61, 1 (2012): 218-233.