งานจัดหาหนังสือเป็นงานที่ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนทำการสั่งซื้อ เมื่อได้รายชื่อหนังสือจากอาจารย์ ถ้าได้ข้อมูลมาแค่ชื่อหนังสือชื่อผู้แต่ง เราต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนว่าหนังสือชื่อนั้นเป็นของสำนักพิมพ์ไหน ปีพิมพ์ล่าสุดปีใด edition ที่เท่าไร เพื่อเอาข้อมูลที่ถูกต้องไปตรวจสอบกับระบบสืบค้นของห้องสมุด แหล่งข้อมูลเบื้องต้นที่ง่ายสุดสำหรับการค้นหาหนังสือภาษาต่างประเทศคือค้นหาจาก amazon.com ข้อมูลที่ได้จาก amazon บางเล่มจะพบว่ามีดาวแสดงด้วย เป็นรูปสองดาว สามดาว สี่ดาว ห้าดาว ก็ได้ ซึ่งดาวพวกนี้มาจาก customer reviews นั่นเอง เราเคยสงสัยกันไหมว่า comment มันเชื่อถือได้ไหม
มีบทความหนึ่งในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เขียนโดย ดร. จุมพล ภิญโญสินวัฒน์ เรื่อง Amazon ฟ้อง”คอมเมนต์” ปลอม เรื่องมีอยู่วา เมื่อวันที่ 15 เมษายน amazon.com ฟ้องเว็บไซต์ BuyAzonReview.com, BuyAmazonReview.com, BayReview.net, และ BuyReviewsNow.com เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้รับจ้างผลิต comment ปลอมให้สินค้าที่ขายใน amazon.com
คำฟ้องสรุปได้ว่า amazon.com พัฒนาระบบการให้เขียนความเห็นและการให้ดาว เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือและช่วยให้ผู้ซื้อได้ข้อมูลสินค้าที่มีคุณภาพ จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องรักษาความน่าเชื่อถือของความเห็นเหล่านี้และต้องป้องกันไม่ให้ใช้เพื่อหลอกลวงลูกค้า การที่จำเลยตั้งเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อสร้างcomment ปลอมเอาไว้ขาย โดยโฆษณาว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีข้อมูลการติชมของลูกค้าที่ซื้อสินค้าทุกชนิดใน amazon.com และในเว็บไซต์มี logo และเครื่องหมายการค้าของ amazon.com ประกอบอยู่ด้วยทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจผิดหรือเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ amazon.com เว็บไซต์ของจำเลยทำความเห็นขึ้นมาโดยคนเขียนไม่เคยซื้อสินค้าหรือไม่เคยใช้สินค้าที่ comment คำติชมนี้อยู่ในเว็บไซต์ของจำเลยที่สร้างขึ้นมาเอง โดยจำเลยอ้างว่าเป็นคำติชมของคนที่ซื้อสินค้าและลองใช้แล้ว เป็นคำติชมที่ตรงไปตรงมาและมีความน่าเชื่อถือมากกว่าความเห็นทั่วไป และยังมีการให้ดาวเหมือนระบบของ amazon.com ด้วย นอกจากนี้ ยังโฆษณาว่าcomment ดังกล่าวผ่านระบบการคัดกรองคำติชมที่ดีกว่า มีการเสนอข้อมูลของกลุ่มห้าดาว สี่ดาวประจำสัปดาห์
amazon ยังพบว่าจำเลยสร้างระบบ verified reviews ขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อหลอกคนอ่านว่าคนที่ติชมเป็นผู้ซื้อสินค้าแล้วจริงๆโดยส่งกล่องสินค้าเปล่าเพื่อนำมาใช้อ้างในเว็บไซต์ว่ามีการซื้อขายสินค้า ทั้งที่ความจริงไม่มีการซื้อขาย ในคำฟ้องของ amazon .com ขอให้ปิดเว็บไซต์จำเลย ให้จำเลยยุติการใช้เครื่องหมายต่างๆของ amazon .com พร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงินสามเท่าของรายได้ทั้งหมดที่เว็บไซต์ได้รับ จำเลยถูกฟ้องทั้งกฎหมายเครื่องหมายการค้า กฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายการนำเครื่องหมายการค้ามาใช้เป็นโดเมนเนมโดยมิชอบและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
ปัญหาการขาย comment ปลอมเป็นปัญหาสำคัญของ social media ในปัจจุบัน amazon.com เป็นรายแรกที่ฟ้องร้องต่อศาล คดีนี้จึงเป็นที่สนใจ มีผู้รอคอยคำตัดสินอยู่ นับเป็นคดีสำคัญในโลก social media ที่น่าติดตามต่อไป
รายการอ้างอิง
จุมพล ภิญโญสินวัฒน์. (2558). Amazon ฟ้อง ‘คอมเมนต์’ ปลอม. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 62 (32), 26