ย้อนหลังไปถึงปี 2514 เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมต้น เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นภาพเขียนของศิลปินที่มีชื่อว่า จักรพันธุ์ โปษยกฤต* เป็นภาพเขียนจากปฏิทินของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ในความรู้สึกเด็กหญิงในขณะนั้นมันเป็นภาพที่สวยงามอ่อนหวานมากเกินบรรยาย ภาพทุกภาพสวยเหมือนมีชีวิตทำให้หลงรักภาพเหล่านั้นจนไม่อาจถอนตัวได้เลย ดังนั้นจากวันนั้นเป็นต้นมา หากพบเห็นภาพเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์ ที่ไหน ในรูปลักษณ์ใดๆไม่ว่าจะ ภาพประกอบในหนังสือ วารสาร บัตรอวยพร บันทึกไดอารี่ โปสเตอร์ ดวงตราไปรษณีย์ยากร หรือแม้ภาพจากสังคมออนไลน์ ก็จะพยายามเก็บสะสมภาพเขียนของอาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต มาตลอดจวบจนปัจจุบัน ปฏิทินของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ จะเป็นปฏิทินแบบแขวน ภาพชุดอิเหนา มี ๖ ภาพ
เมื่อเสร็จศึกกะหมังกุหนิง ท้าวดาหาไปพักผ่อนบนเขาวิลิศมาหลา นางบูษบาได้ลงเล่นน้ำกับนางกำนัล อิเหนาซึ่งหลงรักนางบุษบา ตั้งแต่วันที่นางออกมาไหว้ และไม่ยอมกลับเมืองหมันหยา ได้ไปแอบดูนางเล่นน้ำ
เมื่ออิเหนาไปได้นางจินตะหราอยู่ที่เมืองหมันหยาและปฏิเสธการแต่งงานกับบุษบา ท้าวดาหาโกรธมากจึงประกาศยกบุษบาให้กับผู้ที่ไปสู่ขอคนแรก ระตูจรกาไปถึงเป็นคนแรกและได้ทำการหมั้นหมายไว้ ส่วนวิหยาสะกำได้เห็นรูปนางบุษบาก็หลงรักให้บิดาคือ ท้าวกะหมังกุหนิงไปสู่ขอ เมื่อขอไม่ได้จึงยกทัพไปดีเมืองดาหา อิเหนามาช่วยศึกครั้งนี้และฆ่าท้าวกะหมังกุหนิงตาย ส่วนหยาสะกำก็ตายพราะสังคามาระตา
นางดรสา ชายาห้าวันของระตูบุศสิหนาที่ถูกอิเหนาในคราบโจรป่ามิสารปันหยีฆ่า นางเสียใจมากจนกระทั่งทำพิธีสตี เผาตนเองไปพร้อมกับระตูบุศสิหนา
ท้าวดาหากำหนดการอภิเษกนางบุษบากับระตูจรกาแล้ว อิเหนาถึงกับประชวรด้วยความเศร้า จึงทำอุบายทำทีว่าออกไปล่าสัตว์แล้วให้ สังคามาระตาไปหาที่ทางเพื่อเตรียมไว้เพื่อจะลักพานางบุษบา สังคามาระตาไปพบถ้ำสวยงามและตกแต่งเรียบแล้ว อิเหนาไปตรวจตราด้วยความพอใจ
อิเหนาทำอุบายให้ทหารจุดไฟเผาโรงมหรสพ ซึ่งกำลังเล่นฉลองงานอภิเษก แล้วตนเองปลอมตัวเป็นจรกาไปอุ้มบุษบาจากตำหนัก พามายังถ้ำที่เตรียมไว้ และได้นางเป็นชายา
ท้าวปะตาระกาหลา กริ้วที่อิเหนาทำการล่วงละเมิดไปลักพานางบุษบาไปยังถ้ำเมื่ออิเหนาเข้าไปแก้สงสัยในเมืองดาหา จึงบันดาลให้เกิดลมหอบนางบุษบากับพี่เลี้ยงไปยังเมืองประมอตัน แล้วแปลงเป็นชายชื่ออุนากรรณ และสาบให้จำกันไม่ได้ จนกว่าทั้งสี่พี่น้อง คือ อิเหนา บุษบา สียะตรา และวิยะดา จะได้พบกัน (ทุกภาพเขียนขึ้นในปี ๒๕๑๒ และต่อมาภาพเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในภาพประกอบอีกหลายภาพในหนังสือ ภาพวิจิตร-วรรณคดี อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้ บรรยาย และจิตรกร โดยจักรพันธุ์ โปษยกฤต ไทยวัฒนาพานิช ๒๕๑๕ ) *อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ และได้รับการยกย่องเป็น ๑ ใน ๕๒ นายช่างเอกในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขอบคุณภาพจาก http://www.bloggang.com https://www.gotoknow.org http://www.malai.tarad.com/