รู้สักนิดกับ “การจัดการสิทธิดิจิทัล (Digital Rights Management : DRM)”

การจัดการสิทธิดิจิทัล (Digital Rights Management : DRM) คือ การควบคุมหรือจำกัดการใช้สื่อดิจิทัลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการปกป้องคุ้มครองข้อมูลดิจิทัล (Protection of digital content) ให้ปลอดภัยจากการเข้าถึง (access control) หรือทำซ้ำ (copy control) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เช่น ใส่ encryption ในไฟล์ข้อมูลที่ต้องการคุ้มครอง และอนุญาตให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลก็ต่อเมื่อระบบได้ตรวจสอบตัวตน (identity) ของผู้ใช้และตรวจสอบสิทธิในการเข้าถึงไฟล์นั้นเสียก่อน (authenticated) การคุ้มครองไฟล์ข้อมูลด้วยวิธีนี้ ค่อนข้างมีความปลอดภัย เนื่องจาก DRM จะติดอยู่กับไฟล์ดิจิทัล ไม่ว่าไฟล์ข้อมูลนั้นจะมีการถ่ายโอนไปที่ใด

ระบบจัดการสิทธิดิจิทัล คือ ระบบการจัดการสิทธิของผู้ใช้ข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ออกแบบและสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการคัดลอก หรือการทำสำเนาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ควบคุมและจำกัดสิทธิของผู้ใช้ตามเงื่อนไขที่กำหนด หลักการทำงานของระบบ DRM ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) การสร้างสื่อดิจิทัลที่มีการผนวกสิทธิเข้าไว้ด้วยกัน (2) การควบคุมการเผยแพร่สื่อดิจิทัล (3) การควบคุมการใช้งานสื่อดิจิทัลของผู้ใช้

ปัจจุบันสำนักหอสมุดมีการจัดการสิทธิดิจิทัลกับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่แปลงรูปมาจากทรัพยากรสารสนเทศสิ่งพิมพ์ เช่น วิทยานิพนธ์ ผลงานวิชาการของคณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือคำสอนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยเทคนิคที่ใช้มาจากฟังก์ชั่นของโปรแกรม Acrobat Professional คือ

  1. การใส่ลายน้ำ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือการคัดลอก โดยใส่ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีคำว่า “สำนักหอสมุด”
  2. การเพิ่มความปลอดภัยให้เอกสาร PDF ด้วยการกำหนด security เพื่อป้องกันการคัดลอก เนื้อหาของทรัพยากร (ใช้ป้องกันความปลอดภัยกับเอกสาร PDF ที่ได้มาด้วยการแปลงไฟล์จากโปรแกรม Microsoft word) และป้องกันการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไฟล์ PDF

ด้วยเทคโนโลยี DRM ที่ใช้ในปัจจุบัน เห็นว่าน่าจะยังไม่เพียงพอต่อการจัดการสิทธิดิจิทัล เนื่องจากสำนักหอสมุดมีทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลเป็นจำนวนมากที่ไม่จำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ ณ ปัจจุบันไม่ทราบว่าผู้เข้ามาใช้บริการเป็นใคร มีสถิติการดาวน์โหลดเข้าใช้งานกี่ครั้ง และ มีการนำดิจิทัลไฟล์ไปทำสำเนา แจกจ่าย หรือใช้เพื่อการพาณิชย์หรือไม่ ดังนั้นเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิอันเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงควรมีการพัฒนาระบบจัดการสิทธิดิจิทัลเพื่อสร้างมาตรฐานระบบรักษาความปลอดภัยให้ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลของสำนักหอสมุด ยกระดับการให้บริการ และสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าของผลงานต่อไป

อ้างอิง
https://sites.google.com/site/digitizedthailand/drm/principle
http://th.wikipedia.org/wiki/การจัดการสิทธิดิจิทัล
http://banna-tad.human.cmu.ac.th/index.php/bannatad/article/viewFile/16/29