เพื่อนของฉันคนนี้รู้จักกันมาประมาณ เกือบๆ ปี ตอนนี้เราสนิทสนมกันมาก เเต่ถ้าได้รู้จักชื่อ หลายคนอาจจะอยากเบินหน้าหนีเลยก็เป็นได้ เพื่อนฉันชื่ออะไรนะหรอ เขาชื่อว่า….
“เจ้าไมเกรน”
ในช่วงที่ผ่านมาดิฉันรู้สึกเริ่มสนิทสนมกับเจ้าไมเกรน อยู่ด้วยกันเเทบทุกวัน เช้า กลางวันเย็น ก่อนนอน ตอนนอนก็ยังจะมาอีก เมื่อมาผูกพันกันจนไม่มีทีท่าว่าว่าจะจากกันไปไหน เมื่อเป็นดังนั้นเเล้วก็ต้องรู้จักกับมันให้มากขึ้น เพื่อจะได้เท่าทันมัน เพื่อจะไม่ให้มันกำเริบ จนระรานการใช้ชีวิตประจำวัน
โดยเมื่อเข้าไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าไมเกรน ก็พบกับข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย เลยขอนำข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มาบอกต่อเพื่อจะรู้เท่าทันเเละเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้านี่ให้มากยิ่งขึ้้น
เจ้าไมเกรนจะมีลักษณะเด่นชัดที่สุดคือการปวดศีรษะ ว่าเเต่ปวดอย่างไรถึงจะเรียนว่าไมเกรน นั่นคืออาการเหล่านี้นี่เอง
- ปวดศีรษะข้างเดียว
- ปวดตุ้บๆ เป็นจังหวะ
- ปวดมากขึ้นเมื่อขยับร่างกาย
- ปวดมากจนไม่เป็นอันทำอะไร
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยเป็นบางครั้ง
- ทนแสงแดดจ้าหรือเสียงดังไม่ค่อยได้
มายังไงกัน
นอกจากนั้นไมเกรนยังถือเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งซึ่งที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ อาจจะมาสาเหตุมาจาก
- การทำงานที่ผิดปกติของก้านสมอง หรืออาจเกิดจากสารเคมีในสมองนั้นไม่สมดุล ซึ่งส่งผลทำให้ หลอดเลือดมีการหดเเละขยายตัวอย่างผิดปกติ เพราะมีความไวต่อการกระตุ้น มากยิ่งขึ้น โดยมีปัจจัยกระตุ้นหลายประการ อาทิ
- ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ช่วงมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงหมดประจำเดือน หรือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
- อาหารบางชนิด เช่น ชีส ไวน์แดง ช็อคโกแล็ต น้ำตาลเทียม ผงชูรส ชา และกาแฟ
- การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส อาทิ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน กลิ่นบุหรี่
- รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนดึก นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไปสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน ฝุ่นควัน
- รวมถึง ยาบางชนิด
ความเครียดกับไมเกรน ไม่ได้มาด้วยกันนะรู้ยัง
ใช่เเล้วค่ะ ความเครียดไม่ได้ทำให้เจ้าไมเกรนมาเยือนเลย เเต่เป็นเพราะพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นไมเกรนอยู่เเล้วนั่นเอง ซึ่งการปวดหัวเมื่อเกิดอาการเครียดนั้น จะปวดเเบบมึนๆ เหมือนมีอะไรมารัดที่ศีรษะเเบบเเน่นๆ ต่างจากไมเกรน
เป็นตอนไหน
ระยะเวลาในการปวดนั้นขึ้นอยู่กับเเต่ละบุคคล บางคนอาจจะนานถึง 72 ชั่วโมง โดยช่วงอายุที่เจ้าไมเกรนจะมาตีสนิทก็เริ่มตั้งเเต่ช่วงอายุประมาณ 25 – 45 ปี เเละจะเป็นผู้หญิง มากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า
การรักษา
จุดมุ่งหมายในการรักษาจึงอยู่ที่การรับมือกับอาการปวด ทั้งการรักษาหรือป้องกัน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรมานอาการปวดน้อยลง เเละสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเป็นสำคัญ เพราะยังไม่สามารถมีการรักษาให้หายขาดได้ โดยการรักษานั้นแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยมีอาการบ่อย และรุนแรงเพียงใด
– สำหรับผู้ป่วนที่มีอาการปวดศีรษะ 1 ถึง 2 ครั้งต่อเดือน การรักษาหลัก ๆ ได้แก่การให้ยา ซึ่งแบ่งเป็นยาสำหรับรักษาอาการและยาสำหรับป้องกันอาการ เเต่ยาอย่างพาราเซตามอลจะไม่ได้ผลสำหรับผู้ปวดไมเกรน ซึงยาสำหรับผู้ป่วยไมเกรนนั้นต้องใช้ยาที่เเรงขึ้น ซึ่งก็จะมีข้อเสียคือยาพวกนี้มักจะมีฤทธิ์กัดกระเพาะ หรือไม่ก็เป็นยาจำพวกยาเสพติดเช่น ฝิ่นสังเคราะห์ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะติดได้
– ส่วนผู้ที่เป็นบ่อย ๆ เช่นเดือนหนึ่งเป็น 2 ครั้ง หรือมากกว่า แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาป้องกัน ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องรับประทานทุกวัน ยาที่จัดอยู่ในกลุ่มป้องกันมี 3 ถึง 4 กลุ่ม ได้แก่ยาความดันโลหิตบางตัวในขนาดต่ำ ๆ กลุ่มที่สองได้แก่ ยากันชักบางตัวขนาดต่ำ ๆ กลุ่มที่สามได้แก่ยาต้านอาการซึมเศร้า และสี่ได้แก่ ยาต้านแคลเซียม
วิธีการอยู่ด้วยกันอย่างสงบ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นไมเกรน ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่บางคนอาจมีปัจจัยกระตุ้นอื่นอีกได้ ทางที่ดี ควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี รวมทั้งพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นนั้น ๆ
- นอนหลับให้เพียงพอ แต่อย่าให้มากเกินไป ผู้ใหญ่โดยทั่วไปควรนอนให้ได้ประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
- หยุดพักเมื่อมีอาการ ถ้าเป็นไปได้ควรพยายามพักผ่อนในห้องเงียบ ๆ มืด ๆ ร่วมกับการประคบเย็นบริเวณต้นคอ พร้อมกับนวดบริเวณที่ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรง และลดความเครียดซึ่งอาจจะช่วยลดความถี่ของการปวดได้
- จดบันทึกอาการของคุณ บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับอาการของคุณเลย
“….แม้อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะเป็นประสบการณ์ที่แสนทรมาน แต่หากรู้จักรับมืออย่างถูกวิธีแล้ว ไมเกรนก็อาจไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณจนเกินไปนัก…”
รายการอ้างอิง
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. อยู่อย่างไรเมื่อเป็นไมเกรน สืบค้นเมื่อ 15 พ.ค. 2558 จาก https://www.bumrungrad.com/th/betterhealth/2009/brain-healthy/LIVING-WITH-MIGRAINES