กาพย์เห่เรือ พุทธประทีปบูชา พยุหยาตราทางชลมารค เป็นหนังสือที่พิมพ์แจกในงานฌาปณกิจศพ นายกมุท กมลนาวิน ณ ฌาปณสถาน กองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓
กาพย์เห่เรือ พุทธประทีปบูชา พยุหยาตราทางชลมารค นี้เป็นคำประพันธ์ ของนายฉันท์ ขำวิไล ประพันธ์ ขึ้นในวาระฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในการจัดขบวน พยุหยาตราชลมารค เมื่อวันที่ ๑๔ พษภาคม ๒๕๐๐ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งนับ เป็นขบวนเหเรือพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
ขอบคุณภาพจาก http://www.lungkitti.com
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ เรียกกันว่า “กระบวนพุทธพยุหยาตรา” มีกระบวนเรือพระราชพิธี อัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากหน้าวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี จนถึงท่าราชวรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร
กาพย์เห่เรือฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ บทประพันธ์ของนายฉันท์ ขำวิไล ใช้สำนวนสั้น กะทัดรัดและเข้าใจง่าย เนื้อหากล่าวชมกระบวนแห่ทางชลมารค ชมดอกไม้ ชมนก และชมปลา
ชมกระบวนแห่ทางชลมารค ผู้อ่านจะสามารถเห็นภาพการจัดขบวนเรือ และการทำหน้าที่ของเรือแต่ละลำในขบวน เช่น
โคลง
“ทางสถานถิ่นท้อง คงคา
ครื้นครั่นเคลื่อนนาวา แหวกน้ำ
แหนแห่พยุหมา เป็นหมู่
นนท์บุเรศเลื่อนล้ำ แรกตั้งตาชมฯ”
กาพย์
“หุบห้อง ท้องคงคา เคลื่อนนาวา พาพวกพล
จากด้าว ที่แดนนนท์ แห่พหล พยุหมา”
กล่าวชมเรือในขบวน และบอกถึงหน้าที่ของเรือแต่ละลำ เช่น
“สุพรรณหงส์ ทรงพระพุทธ บริสุทธิ์ สดสุกใส
พู่ห้อย ร้อยมาลัย ผ่องอำไพ พิสดาร”
เรือสุพรรณหงส์ อัญเชิญพระพุทธรูป
“อนันต นาคราช ธรรมอาสน์ อันอำไพ
เลิศแล้ว แลวิไล ช่างสดใส ในสาคร”
เรืออนันตนาคราชอัญเชิญ พระไตรปิฎก
“อเนก ชาติภุชงค์ เป็นเรือทรง พระสงฆ์จร
นิ่งนั่ง ตั้งสังวร แลสลอน อร่ามเรือง”
เรืออเนกชาติภุชงค์อัญเชิญพระสงฆ์
ชมดอกไม้
กล่าวถึงดอกไม้โดยเปรียบเทียบความงามของดอกไม้กับเรื่องของพุทธศาสนา ได้อย่างไพเราะและลึกซึ้ง เช่น
“ประยงค์ ทรงประโยชน์ ที่พระโปรด ประทานคำ
รู้หลัก แล้วชักนำ ให้เห็นธรรม อยู่สำราญ”
ดอกประยงค์เปรียบได้กับคุณค่าและประโยชน์ของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
ชมนก ชมปลา
ในบทนี้นอกจากความไพเราะคล้องจองง่ายต่อการอ่านและการจดจำแล้วยังให้ความรู้ในเรื่องของชื่อนกชื่อปลาน้ำจืดอีกหลายชนิด เช่น
ชมนก
“นกเหยี่ยว ก็เฉี่ยวโฉบ เหมือนอ้อมโอบ เอื้อนสำออย
ออกโอษฐ์ โปรดให้ลอย เรื่อค่อยค่อย จะคอยชม
เจ้าสา ลิกาแก้ว ส่งเสียงแจ้ว แล้วแล่นลม
ร่ำร้อง อยู่ขรม ชื่นอารมณ์ ระเริงใจ”
ชมปลา
“สร้อยซ่า ปลาแขยง คู่เรือแซง แข่งเรือทรง
ลอดเลี้ยวแล้วลอยลง จะตามส่ง เสด็จจร
เทโพ และเทพา ผุดโผล่หน้า มาสลอน
เนื่องแน่น ในสาคร ก็กระฉ่อน กระฉอกชล”
จากกาพย์ยานีข้างต้น มีนกและมีปลากี่ชนิด ข้าพเจ้าพบว่ามีนก ๓ ชนิด คือ นกเหยี่ยว นกสาลิกา และนกแก้ว ปลา ๕ ชนิดได้แก่ ปลาสร้อย ปลาซ่า ปลาแขยง ปลาเทโพ ปลาเทพา ส่วนจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ นั้น รบกวนท่านผู้อ่านตรวจทานตามที่เห็นควรว่าถูกต้องตรงกับคำตอบของท่านหรือไม่ แล้วท่านจะได้พบกับความสนุกสนานในการหาชื่อนก และปลาที่ซ่อนอยู่
หนังสือเล่มนี้มีส่วนของเนื้อหาเริ่มจากบทขบวนแห่ จนถึงชมปลามีเพียงแค่ ๙ หน้าแต่เป็น ๙ หน้าที่ทำให้รู้ถึงคุณค่า ของคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ให้มุมมองที่แฝงไว้ด้วยคุณค่าของวรรณกรรมและอรรถรสทางภาษาได้โดยไม่มีคำว่าเบื่อ