ก้าวต่อไป : เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ

วันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตาจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ได้แถลงต่อประชาคมธรรมศาสตร์ เรื่อง ก้าวต่อไป : เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ในเวลา 12.30 – 16.00 น. ณ ห้อง SC 1002 อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในการพูดเพื่อทำความเข้าใจ เรื่องการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง โค้งสุดท้าย : ก่อนธรรมศาสตร์ออกนอกระบบราชการ” ซึ่งก่อนหน้าที่ท่านอธิการบดีจะขึ้นพูดนั้น ได้มีการเชิญกรมบัญชีกลาง และ กบข. มาชี้แจงสิทธิผลประโยชน์ที่ข้าราชการจะได้รับ

ท่านอธิการบดีกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ โดยเรียกกันทั่วไปว่ากฎหมายออกนอกระบบราชการหรือถ้าเรียกเป็นทางการคือมหาวิทยาลัยในกำกับ และขอแจ้งว่าการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกระบบราชการไม่ได้หมายถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแต่ยังเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่ต่อไป

การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับวัตถุประสงค์หลัก คือ ต้องการให้มหาวิทยาลัยบริหารจัดการได้คล่องตัว  มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นทั้งเรื่องทางวิชาการ การเงิน การคลัง การบริหารบุคคลในทุกด้านเป็นหลัก  เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพขึ้นในเบื้องต้นรัฐบาลเสนอว่าการจะปรับระบบทั้งหมดของบุคลากรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากเดิมที่มีอยู่คือข้าราชการผสมกับพนักงานมหาวิทยาลัย โดยจะให้โอกาสข้าราชการได้เปลี่ยนสถานะภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามความสมัครใจ สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการออกนอกระบบราชการสามารถอยู่ในระบบราชการได้จนถึงเกษียณอายุราชการ

ทั้งนี้  พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 และอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใน    ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งยังไม่รู้เวลาแน่นอนว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ แต่อาจประมาณเวลาได้คร่าวๆ ว่าถ้าหากกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 1 มิถุนายน 2558 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2558  และหลังจากนี้จะมีผลเกิดขึ้นในกฎหมายโดยจะเขียนลำดับเวลาไว้ ดังนี้

  1. อธิการบดีคนแรกจะต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยภายใน 1 ปี หลังจากกฎหมายประกาศใช้ คือ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2558 อธิการบดีจะต้องออกจากระบบราชการเป็นคนแรก
  2. ข้าราชการในมหาวิทยาลัย หากต้องการออกนอกระบบราชการ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ
    • ช่วงที่ 1 ภายใน 1 ปี หลังจากกฎหมายบังคับใช้ หากเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ให้นับถึง

วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 หากท่านใดตัดสินใจออกจากระบบราชการ จะได้รับสิทธิให้ออกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทันทีโดยไม่มีการประเมิน

  • ช่วงที่ 2 ภายใน 3 ปี คือ หลังจากวันที่ 1 สิงหาคม 2559 หากท่านตัดใจออกจากระบบราชการ มหาวิทยาลัยจะต้องทำการประเมินว่าท่านเหมาะสมหรือไม่ในการเปลี่ยนสถานะภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ถ้าประเมินไม่ผ่านท่านจะต้องเป็นข้าราชการไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ
  • ช่วงที่ 3 เกิน 3 ปี มหาวิทยาลัยจะพิจารณาเข้มขวดมากยิ่งขึ้น โดยพิจารณาว่ามีตำแหน่งที่เหมาะสมจึงจะให้ท่านออกจากระบบราชการไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยได้

ส่วนใหญ่บุคลากรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะออกจากระบบราชการภายใน 1 ปี เพราะไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยจะมีการประเมินในรูปแบบไหนบ้าง หากท่านออกจากระบบราชการภายใน 1 ปี มหาวิทยาลัยจะให้อยู่จนถึงเกษียณอายุราชการ โดยไม่ต้องทำสัญญาเป็นช่วงๆ เหมือนพนักงานมหาวิทยาลัย แต่โดยระบบของการบริหารมหาวิทยาลัยจึงขอทำการประเมินเป็นช่วงๆ แต่ไม่ได้ประเมินเพื่อต่อสัญญาแต่จะประเมินเพื่อดูประสิทธิภาพในการทำงานของท่าน ซึ่งต้องทำการประเมินเป็นปกติอยู่แล้ว

ในการออกนอกระบบราชการ รัฐบาลได้แจ้งข้อมูลมาแล้วว่าจะให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในส่วนของเงินเดือนเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า และสวัสดิการ 1.2 เท่า โดยไม่รวมเงินตำแหน่งทางวิชาการ และเงินตำแหน่งอื่นๆ เชี่ยวชาญ ชำนาญการ และเงิน กบข.  โดยมหาวิทยาลัยจะไปขอรัฐบาลเพื่อตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ สิ่งที่จะได้รับจากการออกนอกระบบราชการไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย คือ

  1. เงินบำนาญ และเงินเดือนเพิ่ม 1.4 เท่า ยังไม่รวมเงินประจำตำแหน่งต่างๆ
  2. เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิก
  3. สิทธิการเป็นข้าราชการบำนาญ จะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเหมือนเดิมทุกอย่าง
  4. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้รับต่อเนื่องเหมือนกับอยู่ในระบบราชการจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ

เรื่องที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอีกหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น

  • การสรรหากรรมการประจำคณะ สถาบัน โรงพยาบาลใหม่ ภายใน 6 เดือนนับจากกฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีผลบังคับใช้
  • ต้องมีการเปลี่ยนกรรมการสภามหาวิทยาลัยใหม่ ภายใน 1 ปี
  • อธิการบดีดำรงอยู่จนครบวาระ ถ้าครบวาระแล้วจะต่ออีกวาระไม่ได้ให้นับวาระต่อเนื่องไป
  • พนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีผลกระทบในการออกนอกระบบราชการ เนื่องจากได้รับเงินเพิ่ม 1.7 เท่าไปแล้ว
  • พนักงานเงินรายได้ มหาวิทยาลัยจะปรับให้ได้มาตรฐานเดียวกับพนักงานมหาวิทยาลัย ยกเว้นผู้ที่เป็นลูกจ้าง โดยมีคำถามว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการจะเลิกจ้างพนักงานเงินรายได้หรือไม่ มหาวิทยาลัยยังจ้างเหมือนเดิมแต่จะปรับให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

การออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุคลากรจะได้รับเงินเพิ่มประมาณ 60-70 %

จากปัจจุบันที่ได้รับขึ้นอยู่กับเวลาการรับราชการของแต่ละคน ซึ่งมหาวิทยาลัยคาดหวังว่าเมื่อบุคลากรได้รับเงินเพิ่มแล้วจะต้องปรับการทำงานให้ดีขึ้นตามไปด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น  สำหรับระยะเวลาในการออกนอกระบบราชการ มหาวิทยาลัยขอกำหนดออกเป็นช่วงๆ โดยช่วงแรกเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2558  ส่วนจะได้รับเงินเมื่อไรนั้นมหาวิทยาลัยขอชี้แจ้งว่าเนื่องจากได้ตั้งงบประมาณประจำปี 2559 เพื่อใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2558  ซึ่งรัฐบาลผ่านงบประมาณไปเรียบร้อยแล้ว จึงยังไม่ได้ตั้งงบประมาณการขึ้นเงินเดือนไว้ให้บุคลากร มหาวิทยาลัยจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดอย่างช้าจะได้รับเงินไม่เกินวันที่ 1 ตุลาคม 2559 อย่างแน่นอน