สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น : ตำนานอันลือเลื่อง

หรับผู้คนวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยใสใกล้เกษียณในแวดวงของนักอ่าน นับแต่ช่วง ปี พ.ศ. 2475 – ปัจจุบัน ไม่มีใครที่ไม่รู้จักเวิ้งนครเขษมซึ่งเป็นแหล่งรวมของสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยแต่ละสำนักพิมพ์มีหน้าร้านเพื่อจัดจำหน่ายหนังสือที่ตนเองดำเนินการจัดพิมพ์ เพราะในสมัยนั้นยังไมมีศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าทีมีร้านหนังสือตั้งอย่างแพร่หลายเหมือนปัจจุบัน และร้านหนังสือที่มีชื่อเสียงหรือเป็นบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยในยุคนี้ ร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์ที่ว่า เช่น อมรินทร์ มติชน เอเชียบุ๊คส์ Kinokuniya

ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงสำนักพิมพ์ที่เป็นตำนานและชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ได้แก่ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ที่มีหนังสือแพร่หลายในท้องตลาดและมีแฟน (หนังสือ) ประจำรอคอยอ่านอย่างตั้งใจ

คุณณรงค์ จันทร์เรือง นักเขียนผู้ล่วงลับเมื่อไม่นานนี้เขียนเล่าใน “ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ” โดยใช้ชื่อหนังสือว่า “เฮียชิว สุพล เตชะธาดา : เทพบุตรเบื้องหลังลายลักษณ์อักษร” กล่าวถึงประวัติ คุณสุพล เตชะธาดา ว่าตระกูล   “เตชะธาดา “ มีสายเลือดน้ำหมึกดำรงอยู่อย่างเข้มข้นตั้งแต่รุ่นปู่มาถึงรุ่นหลานในวันนี้ “เฮียชิว”เป็นบุตรชายคนโตของคุณทรวง เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2477 คลุกคลีอยู่กับสำนักพิมพ์ที่บ้านมาโดยตลอด คุณสุพลช่วยคุณพ่อทำงานมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นจนเมื่อผดุงศึกษาไปเปิดสาขาสองที่วังบูรพาในปี พ.ศ. 2489 คุณสุพลกับภรรยาชื่อ คุณประพันธ์ได้ช่วยกันดูแลกิจการอยู่ที่ร้านสาขาวังบูรพา คุณสุพลได้ตั้งสำนักพิมพ์ใหม่ของตัวเองโดยใช้ชื่อศรีภรรยานำโชคว่า “ประพันธ์สาส์น” เพื่อตีพิมพ์ผลงานแนวใหม่ ซึ่งทำควบคู่ไปกับผดุงศึกษา ในระยะแรกนั้นสำนักงานประพันธ์สาส์นตั้งอยู่ที่เดียวกับผดุงศึกษาสาขาแรก คือบ้านเลขที่ 230 นครเขษม โดยตรงกลางยังติดป้ายใหญ่ว่า “ผดุงศึกษา” ส่วนด้านข้างติดป้ายเล็ก ๆ ว่า “ประพันธ์สาส์น” ผลงานตีพิมพ์เรื่องแรกโดยการจัดการของคุณสุพล อันเป็นก้าวแรกก่อนการตั้งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อปี พ.ศ. 2503 คือผลงานเรื่องแรกของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นวนิยาย “หนาวผู้หญิง” ในปี พ.ศ. 2504 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเปิดตัวอย่างเป็นทางการนั้น ซึ่งผลงานตีพิมพ์ส่วนมากยังเป็นของนักเขียนรุ่นใหญ่ เช่น น้อย อินทนนท์ (มาลัย ชูพินิจ) มนัส จรรยงค์ อิงอร ประมูล อุณหธูป และนิยายกำลังภายในของ ว.ณ เมืองลุง เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายขนาดยาวที่ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารแล้วนำมาพิมพ์รวมเล่มเป็นปกแข็งในเวลาต่อมา และได้พิมพ์ผลงานของนักเขียนดาวรุ่งในยุคนั้น เช่น ‘รงค์ วงศ์สวรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ กฤษณา อโศกสิน สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน ณรงค์ จันทร์เรือง สุวรรณี สุคนธา หยก บูรพา นอกจากการพิมพ์พ็อกเกตบุ๊กแล้ว ประพันธ์สาส์นยังมีบทบาทในการทำนิตยสารหลายฉบับ ได้ แก่ ขวัญจิต ฟ้าเมืองทอง ฟ้านารี วัยหวาน กานดา เรื่องจริง โหด สะบัดช่อ ขวัญผวา และในปี พ.ศ. 2533 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยก้าวจากกิจการในครอบครัวสู่การเป็นบริษัทเต็มรูปแบบ มีบุคคลภายนอกเข้ามาถือหุ้นและทำหน้าที่ในการบริหารงาน จนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การที่สำนักพิมพ์ประพันสาส์นประสบความสำเร็จนั้นประกอบด้วยประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจ ความผูกพันระหว่างคุณสุพลและนักเขียน ความจริงใจ ความซื่อตรง ความรักในหนังสือและการรักผู้คนของคุณสุพล

จากประสบการณ์ส่วนตัวในวัยเด็กที่มีความสุขมากจากการอ่านเรื่องคลาสสิกของไทย คือ สามเกลอ : พล นิกร กิมหงวน โดย ปรีชา อินทรปาลิต (ป. อินทรปาลิต) พิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482-2511 จำนวนมากกว่าหนึ่งพันตอน (เล่ม) วาดภาพโดยอาภรณ์ อินทรปาลิต โดยจัดพิมพ์เป็นเล่มบาง ๆ ขณะนั้นต้องรอให้ผู้ใหญ่ซื้อให้ หรือขอยืมต่อจากเพื่อน จำได้ว่าชีวิตในวัยเด็กมีความสุขกับการรอคอย (การอ่านหนังสือ) และสนุกกับการอ่านมาก ๆ ทำให้เกิดจินตนาการกับตัวละครแต่ละตัวว่ามีบุคลิกอย่างไร ทั้งซาบซึ้งกับภาษาและมุกตลกต่าง ๆ ส่วนภาพประกอบจากหนังสือซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกของตัวละครในเรื่องและทำให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาเพิ่มขึ้น ผลพลอยได้จากการอ่านคือการนำภาษาในหนังสือมาใช้โดยไม่รู้ตัว เช่น การพูดปล่อยมุกตลก การใช้ถ้อยตำคล้องจอง และเมื่อเป็นวัยรุ่นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อตัวเองคือเรื่องแปลจากจีน เช่น มังกรหยก ของ ว. ณ. เมืองลุง ทำให้วัยรุ่นสมัยนั้นซึ่งซึมซับเรื่องแปลจากจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความกตัญญู ความรักชาติ รักความเป็นธรรม รับรู้ได้จากเยาวชนในยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 9 ตุลาคม 2519 ที่เป็นผู้นำนักศึกษาในยุคนั้นหรือผู้ร่วมขบวนการของนักศึกษายุคใกล้เคียง เท่าที่ได้พูดคุยหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ล้วนแล้วแต่อ่านและชื่นชอบ คือ พล นิกร กิมหงวน และเรื่องแปลจากจีนด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้นจากประสบการณ์ในการอ่านเมื่อพูดถึงสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจึงขอนำเสนอ หนังสืออนุสรณ์งานศพ ของผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น 2 เล่มคือ

IMG_3886  IMG_3887
1 ศิริเพ็ญ ชัยสนิท. (2558) เกิดมาชิว (พิมพ์ครั้งพิเศษ). กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น เลขหมู่หนังสือทั่วไป PUB Z 2015 645301

IMG_3888

2 ลักขณา สมพงษ์. (2557). ประพันธ์ (หิรัณยศิริ) เตชะธาดา : พุธที่ 21 พฤษภาคม 2557. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น เลขหมู่หนังสือทั่วไป PUB Z 2014 645321