เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวารสาร ตอนที่ 1: ลักษณะของวารสาร

วารสาร (Journal หรือ Periodical) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ วารสารจึงมีลักษณะเป็นเล่มปลีก (Single issue) มีหมายเลขประจำเล่ม (Number) ที่ออกต่อเนื่องกันไป วารสารหลายๆ เล่มปลีกรวมกันเป็น volume ดังนั้นวารสาร 1 volume จึงอาจมีเล่มปลีกกี่เล่มก็ได้
ในปีหนึ่งๆ วารสารอาจจัดพิมพ์ 1 volume หรือหลายๆ volume ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายการจัดพิมพ์ของแต่ละสำนักพิมพ์และจำนวนบทความวารสาร (Article) ที่สำนักพิมพ์ได้รับว่ามีมากน้อยเพียงใด

กำหนดออกของวารสาร มีต่าง ๆ กัน เช่น รายสัปดาห์ (Weekly)  รายปักษ์ (Biweekly) สัปดาห์ละสองครั้ง (Semiweekly หรือ Twice a week) รายเดือน (Monthly) รายสองเดือน (Bimonthly) เดือนละสองครั้ง (Semimonthly)  รายสามเดือน (Quarterly หรือ Four times a year) ปีละ1 ฉบับ (Annual) ปีละ 2 ฉบับ (Twice a year) ปีละ3 ฉบับ (Three times a year) ตลอดจนมีกำหนดออกไม่แน่นอน (Irregularly)

การนำเสนอเนื้อหาของวารสาร มีหลากหลายประเภททั้งความบันเทิงและวิชาการ วารสารที่ให้ความบันเทิงจะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป  ข่าวสารต่างๆ สารคดี บทสัมภาษณ์บุคคล ฯลฯ ส่วนวารสารที่นำเสนอข้อมูลบทความวิชาการ บทความวิจัย และบทความที่ให้ข้อมูลจากองค์ความรู้ในสาขาวิชาเฉพาะต่างๆ จะเรียกว่า วารสารวิชาการ (Academic journal)

นอกจากนี้ วารสารแต่ละฉบับยังมีส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้

  1. ปกหน้า (Front cover) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อวารสาร หมายเลขประจำเล่มที่บอกปีที่ (volume) ฉบับที่ (number) เดือน ปี และหมายเลขวารสารสากล (ISSN) ที่ปกหน้าวารสารอาจมีภาพประกอบหรือไม่มีก็ได้
  2. หน้าปกใน (Title page) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อวารสาร หมายเลขประจำเล่มที่บอกปีที่ (volume) ฉบับที่ (number) เดือน ปี และหมายเลขวารสารสากล (ISSN)
  3. สารบัญ (Content) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลำดับเนื้อหาภายในเล่มพร้อมระบุเลขหน้าของเนื้อหาแต่ละบทความ ที่ส่วนบนของหน้าสารบัญจะมีข้อมูลชื่อวารสารและหมายเลขประจำเล่มวารสาร นอกจากนี้ที่ส่วนล่างหน้าสารบัญของวารสารบางชื่อ จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดออกของวารสาร สถานที่ติดต่อบอกรับเป็นสมาชิก และอัตราค่าสมาชิกให้ด้วย
  4. เนื้อหาของวารสาร (Article) เป็นส่วนที่เป็นบทความ คอลัมน์ต่างๆ ที่ให้สาระความรู้และความบันเทิงแก่ผู้อ่าน
  5. ปกหลัง (Back cover)

นอกจากส่วนประกอบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหน้าอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ หน้าคำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบและข้อกำหนดต่าง ๆ ในการเขียนบทความส่งไปตีพิมพ์ในวารสารซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับนักวิจัยและผู้ที่ต้องการตีพิมพ์บทความ / ผลงานทางวิชาการลงในวารสารแต่ละชื่อเหล่านั้น หน้ากองบรรณาธิการ (Editorial Board)  หน้าถ้อยแถลงของบรรณาธิการ (Editorial note) และหน้าคำนำ (Preface) หรือหน้าบทนำ (Introduction) ซึ่งอาจมีเฉพาะในวารสารบางชื่อเท่านั้น