เมื่อสองวันก่อน วงการห้องสมุด (ไทย) ตกเป็นข่าวดังเลยทีเดียว ที่มีห้องสมุดมหาวิยาลัยแห่งหนึ่ง โละหนังสือ วารสารออกจากห้องสมุด และขายให้กับร้านหนังสือเก่า มีผู้รักหนังสือเก่า แห่กันมาซื้อกันไปมากมาย จนเป็นที่เลื่องลือและเข้าหู ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ผู้ที่ทราบเรื่องได้แต่สงสัยว่า ทำไมห้องสมุดจึงขายหนังสือดีๆ หนังสือหายาก วารสาร ออกไปแบบนั้น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่เป็นข่าวได้ออกมาชี้แจงภายหลังว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด น่าจะขนย้ายผิด และกำลังสอบสวนต่อไป
ห้องสมุดจะได้หนังสือเข้ามาด้วยวิธีการซื้อ การขอรับบริจาค การแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานอื่นๆ หนังสือที่ได้มาด้วยการซื้อ อยากที่จะมีการถอนออกหรือเอาออกจาห้องสมุด เพราะเป็นการซื้อด้วยเงินงบประมาณ ต้องมีการตั้งกรรมการ ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเอาออกกัน แต่อาจจะใช้พิจารณาเอาออกจากชั้นหนังสือที่ให้บริการที่เป็นปัจจุบัน (มักจะดูจากสถิติการยืมเป็นหลักว่าในช่วง 2-5 ปี มีการถูกยืมออกไปหรือไม่ ช่วงปี อาจจะขึ้นอยู่กับห้องสมุดแต่ละแห่ง) เพื่อให้มีแต่หนังสือที่ทันสมัย และยังมีการใช้อยู่ (ด้วยเหตุที่ชั้นหนังสือเต็ม การจะเก็บหนังสือทุกเล่มจึงย่อมเป็นไปไม่ได้) แต่ก็มักจะนำไปเก็บไว้ในชั้นเก็บหนังสือ หรือที่มักจะเรียกว่า Stack หรือห้องสมุดบางแห่งอาจจะมีคลังเก็บหนังสือหรือเช่าพื้นที่เก็บหนังสือ เพราะรายการหนังสือเหล่านี้ไม่ได้ถอนออกจากระบบ จะยังปรากฏว่าอยู่ในชั้นเก็บหนังสือหรือคลังเก็บ ถ้ามีผู้ต้องการใช้ จะสามารถร้องขอให้ห้องสมุดนำออกมาให้บริการได้ การที่ห้องสมุดไม่ถอนออกจากห้องสมุด มีหลายสาเหตุ เป็นการซื้อด้วยเงินงบประมาณ เป็นหนังสือที่ไม่ทันสมัยก็จริงแต่อาจเป็นหนังสือคลาสสิคในสาขาวิชานั้นๆ เป็นต้น
หนังสือที่มักจะถูกห้องสมุดพิจารณาถอน (Withdraw/Discard) ออกไป น่าจะเป็นหนังสือที่ได้รับบริจาคมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มักจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ที่มักจะแต่งตั้งขึ้นมาเช่นกัน การพิจารณาหนังสือรายการใดที่จะถูกถอนออกไปแต่ละแห่งก็จะมีเกณฑ์การประเมินเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานกัน
มาพูดถึงการถอนหนังสือออก เป็นเรื่องน่าคิด กรณีที่เกิดขึ้นตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ขอกล่าวพาดพิงถึงสาเหตุ แต่ทำให้คิดขึ้นมาได้ดังนี้ (ขอออกตัวว่าเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน)
1. ถ้าจะถอนหนังสืออะไรออกจากห้องสมุด น่าจะได้มีการแจ้งให้หอสมุดแห่งชาติ พิจารณาดูว่ารายการใดที่หอสมุดแห่งชาติ ไม่มี เพราะหอสมุดแห่งชาติ มีหน้าที่ในการเก็บหนังสือทุกเล่ม (ยิ่งถ้าเป็นหนังสือในประเทศไทย) และคิดว่า หอสมุดแห่งชาติ คงไม่มีหนังสือทุกเล่ม น่าจะมีหนังสือที่กำลังถูกถอนออกไปนั้น ที่หอสมุดแห่งชาติ ก็น่าจะรับมาไว้ในฐานะที่เป็น National Depository
2. ห้องสมุดน่าจะได้ทำฐานข้อมูลหนังสือบริจาค และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่ต้องการหนังสือมาขอรับไปได้ ยังใช้ประโยชน์ได้ต่อ แต่ต้องวางนโยบายในการบริจาคดีๆ เป็นหน่วยงานเท่านั้น ไม่ใช่ให้ในนามบุคคล เพราะอาจจะเป็นช่องทางในการนำไปขายต่อได้
3. ห้องสมุดนำมาแลกเปลี่ยนกันเอง น่าจะเป็นอีกแนวหนึ่งที่ทำได้ หลายแห่งอาจจะมีหลายฉบับ ขณะที่บางแห่งต้องการเหมือนกัน หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว จะได้เป็นการแบ่งปันกันไป
4. ห้องสมุดเอามาแลกเปลี่ยนกับผู้ใช้ เล่มไหนผู้ใช้ต้องการก็เอาหนังสือมาแลก ห้องสมุดอาจจะได้หนังสือดีๆ เพิ่มเติม หรือถ้าไม่รับ ก็วางไว้เป็นการแลกเปลี่ยนกันต่อๆ ไป
5. เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
6. น่าจะได้มีการพิจารณาว่า มีการเก็บวารสาร กี่ฉบับ ก็แล้วแต่ ไว้ในหอสมุดแห่งชาติ เพราะห้องสมุดแต่ละแห่งจะซื้อวารสารชื่อซ้ำๆ กัน จะได้ไม่ต้องเก็บ ฉบับเก่าๆ ไปขอใช้ที่หอสมุดแห่งชาติ ฉบับใหม่ๆ ใช้ที่ห้องสมุดแต่ละแห่ง หมดช่วงเวลาก็นำไปเก็บที่หอสมุดแห่งชาติ คงต้องคุยกันในรายละเอียดอีกเยอะ ถ้าจะทำ
เกือบทุกข้อเป็นการเพิ่มภาระงานให้ผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุด ง่ายที่สุด คือ ขาย (??)