การจัดพื้นที่ห้องสมุดให้ “ว้าว”

สรุปความจากเรื่อง “10 เคล็ดลับจัดพื้นที่ห้องสมุดให้ “ว้าว!” ประสบการณ์จากเยอรมนี ของ ดร. เคลาส์ อูลริช แวร์เนอร์ จากหนังสือ เรื่อง คิดทันโลก ท้าทายกระบวนทัศน์ว่าด้วยอนาคตห้องสมุดและห้องสมุดในอนาคต โดยอุทยานการเรียนรู้ TK Park

1. เหมาะสมกับการใช้งาน (Functional)

การจัดพื้นที่ต้องทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่ในห้องสมุดได้อย่างสะดวก สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้งานที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้ได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่าง เช่น Stuttgart Municipal Library ห้องสมุดที่นำเอาบันไดเป็นตัวเชื่อมทางเดินแต่ละชั้นอย่างต่อเนื่องกลมกลืน เพื่อให้ผู้ใช้บริการเดินหาและหยิบหนังสือได้สะดวก

ติดตามดูภาพ ได้ที่
http://hedgehogsvsfoxes.com/architecture-stuttgart-municipal-library/
http://bluesyemre.com/2013/04/28/stadtbibliothek-stuttgart-the-stuttgart-municipal-library/stuttgart4/

2. ปรับเปลี่ยนได้ (Adaptable)

ควรมีความยืนหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้้นในอนาคต สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้รองรับการใช้งานในลักษณะต่างๆ โยกย้ายหรือปรับเปลี่ยนได้ตามประเภทการใช้งาน หลีกเลี่ยงการติดตั้งฮาร์ดแวร์แบบถาวร การออกแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักหนังสือและตั้งวางชั้นหนังสือไว้ที่ไหนก็ได้ อาจไม่มีความจำเป็น

3. เข้าถึงได้ง่ายและเชิญชวนให้เข้า (Accessible and inviting)

ควรออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย มีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน พื้นที่โล่งและเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามามากที่สุดที่จะทำได้ มีบริเวณพักผ่อนเกิดบรรยากาศผ่อนคลายและกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยน
ติดตามดูภาพได้ที่ http://www.dezeen.com/2009/10/28/open-air-library-by-karo/

4.หลากหลาย (Varied)

ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่หลากหลายสำหรับผู้ใช้ที่มีพฤติกรรมและความต้องการแตกต่างกัน การนั่งอ่านคนเดียว การทำงานเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม นั่งใกล้หน้าต่าง นั่งในมุมส่วนตัว นั่งอ่านแบบผ่อนคลายบนโซฟา นั่งบนพื้น ฯลฯ ผู้ใช้ควรมีทางเลือกตามความพึงพอใจของตน

5. มีปฏิสัมพันธ์ (Interactive)

ควรออกแบบพื้นที่ที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถมีปฏิสัมพันธ์ การติดต่อ ซักถามกับบรรณารักษ์ได้อย่างสะดวก การออกแบบพื้นที่ให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ไม่ใช่เป็นแค่การออกแบบเพื่อความสวยงาม แต่ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเลยทีเดียว

6. จูงใจและกระตุ้น (Motivating and stimulating)

ควรสร้างบรรยากาศที่ให้ความสะดวกสบาย น่าใช้บริการ จูงใจให้อยู่ ให้อ่าน ให้ค้นคว้า รู้สึกสบาย รู้สึกดี

7. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (Environmentally suitable)

เรื่องของแสงสว่าง อุณหภูมิ และการระบายอากาศ การควบคุมเสียงรบกวนจากภายนอก และลดเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นภายในอาคาร ตัวอย่าง ห้องสมุดมหาวิทยาลัย Freie เมืองเบอร์ลิน ออกแบบให้ดูคล้ายกับ ก้อนสมอง เป็นกระจกทรงโดมเพื่อรับแสงจากภายนอก และสามารถเปิดรับอากาศจากภายนอกในวันที่สภาพอากาศดี
ติดตามดูภาพได้ที่ http://www.fotocommunity.de/pc/pc/display/21241078
http://www.zlb.de/fachinformation/spezialbereiche/bibliotheksbauarchiv/baudokumentation.html?tx_constructiondocs_pi1%5Buid%5D=37

8. ปลอดภัยและมั่นคง (Safe and secure)

การออกแบบภายในที่ทำให้ทุกคนรู้สึกสะดวกสบายและปลอดภัย เป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะห้องสมุดที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่ามาตรการด้านความปลอดภัยในบางครั้งอาจจะรบกวนหรือขัดแย้งกับสุนทรียภาพไปบ้างก็ตาม ตัวอย่าง ห้องสมุด Karlsruhe Institute of Technology (KIT) เมือง Stuttgart เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ออกแบบอย่างเรียบง่าย มีความโปร่งโล่ง ได้รับการจัดอันดับเมื่อปี 2011 ให้เป็น Third
Place ที่น่าใช้บริการที่สุดในเยอรมนี

9. มีประสิทธิภาพ (Efficient)

ควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น การประหยัดไฟในบางห้อง หรือการเปิดหน้าต่างเพื่อช่วยระบายอากาศในบางพื้นที่

10. เหมาะสมกับ ICT (Suitalble for ICT)

ควรจัดพื้นที่สำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เป็นสัดส่วนตามประเภทของการใช้งาน แต่ก็ต้องคำนึงถึงการจัดการพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับความต้องการที่ไม่ได้คาดไว้

ติดตามดูภาพได้ที่ http://www.bibliothek.kit.edu/galerie/KIT-Bibliothek-Sued/Innenansichten/index.php

รายการอ้างอิง
วัฒนชัย วินิจจะกูล บรรณาธิการ. คิดทันโลก ท้าทายกระบวนทัศน์ว่าด้วยอนาคตห้องสมุดและห้องสมุดในอนาคต. กรุงเทพฯ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, 2558