วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2558 ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมวิชาการนำเสนอโครงการคลังภาพดิจิทัลของภาควิชา ภายใต้หัวข้อมนุษยสารสนเทศ: พรมแดนการวิจัย เป็นการบรรยายขั้นตอนจัดทำและประชาสัมพันธ์เว็บไซต์อักษรศาสตร์บรมราชกุมารี คลังดิจิทัลซึ่งเป็นงานวิจัยของคณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ โดยผศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีบริสุทธิ์สกุล ประธานโครงการและอ.ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ เป็นผู้บรรยาย
อักษรศาสตร์บรมราชกุมารี คลังดิจิทัล
เป็นโครงการคลังภาพดิจิทัล ซึ่งจัดหา จัดเก็บ และให้บริการสืบค้นพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงภาพและข้อมูลของ ภาพนั้นๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเนื่องในพระราชวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา
หน้าเว็บไซต์อักษรศาสตร์บรมราชกุมารี ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การบรรยายกล่าวถึงแนวคิดการจัดทำโครงการคลังดิจิทัล แบ่งเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ดังนี้
1). รวบรวม เป็นขั้นตอนของการรวบรวมรูปทั้งหมดที่จะนำเสนอในคลังดิจิทัล โดยต้องทำกรอบเวลาของช่วงเวลาในภาพทั้งหมด หาแหล่งภาพ และแบ่งลำดับภาพ
2). การจัดระบบ จัดสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในภาพหรืออยู่ร่วมเหตุการณ์ เช่น พระสหายร่วมรุ่น จัดทำ Metadata ภาพ ซึ่งการให้คำค้นต้องมีความสม่ำเสมอในการใช้คำที่บันทึกลงในฐานข้อมูล รวมถึงการตั้งชื่อไฟล์ คำค้นที่ใช้มีทั้งศัพท์ควบคุม ราชาศัพท์ คำสามัญ ชื่อเฉพาะ คณะผู้จัดทำต้องประชุมกันว่าจะใช้คำอย่างไร เช่น ทับศัพท์ แปล หรือกำกับภาษาอังกฤษ เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการลงรายการ
การจัดทำMetadata มีวัตถุประสงค์เพื่อ
- บรรยายข้อมูลภาพว่า มีใคร ทำอะไร ที่ไหน และเมื่อไหร่
- แสดงข้อมูล (Display)
- สืบค้น ดังนั้นการจัดทำmetadata ต้องคำนึงว่าผู้ใช้จะสืบค้นด้วยคำว่าอะไร ผู้ใช้ต้องการหาอะไร และสามารถให้ผู้ใช้แยกความแตกต่างระหว่างภาพได้ ดังนั้นการกำหนดคำค้นจึงต้องมองในมุมของผู้ใช้ด้วย
- ค้นหา ให้ผู้ใช้สามารถค้นหาได้
- ค้นพบ ให้ผู้ใช้สามารถค้นพบข้อมูลที่ต้องการ
3). สงวนรักษา ไฟล์ที่อยู่ในคลังภาพต้องมีคุณภาพสูง สามารถอยู่ได้นาน และทำการเปลี่ยนผ่านง่าย เมื่อเวลาผ่านไปและต้องเปลี่ยนแปลงต้องสามารถทำได้อย่างสะดวก
4). ส่งเสริมการใช้ เมื่อจัดทำคลังดิจิทัล ไม่ใช่สิ้นสุดแค่การสงวนรักษา แต่ต้องทำประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก มีผู้มาเข้าใช้จึงถือเป็นการตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ที่จัดทำคลังดิจิทัลขึ้น
คลังดิจิทัลอักษรศาสตร์บรมราชกุมารีใช้มาตรฐาน Dublin Core ในการกำหนดเขตข้อมูลเพื่อการลงรายการข้อมูลซึ่งมีมากกว่า 15 เขตข้อมูลพื้นฐาน ทั้งนี้เขตข้อมูลขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเนื้อหาและความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ โดยจะแบ่งเป็นเขตข้อมูลของ Collection และเขตข้อมูลของแต่ละภาพ
ตัวอย่างรายการข้อมูลCollection
ตัวอย่างรายการข้อมูลในแต่ละภาพ
คลังดิจิทัลใช้โปรแกรมจัดการข้อมูล Omeka เพื่อให้เป็น Online digital collection สาเหตุที่เลือกใช้ Omeka เพราะรองรับข้อมูลที่หลากหลายทั้ง ภาพ เสียง text เป็นต้น
เทคโนโลยีอื่นที่นำมาใช้ ได้แก่ ImageMagick (ใช้ในการจัดการขนาดภาพอัตโนมัติ) ช่วยประหยัดเวลาในการลดหรือขยายภาพ , Map, Tagging, Picasa (จับคู่ชื่อกับหน้าบุคคลในภาพอัตโนมัติ) กรณีของคลังดิจิทัลมีรูปภาพเป็นจำนวนมาก Picasa จึงช่วยประหยัดเวลา
การแสดงข้อมูลบนคลังดิจิทัล
- ทั้งหมด แสดงรูปภาพบนเว็บไซต์โดยแสดงผลเป็นหน้าๆ มีจำนวนทั้งหมด 84 หน้า
- คอลเลกชัน จัดแสดงเป็นคอลเลกชันภาพให้ผู้ใช้เลือกชม เช่น กิจกรรมรับน้อง งานเลี้ยงรุ่นอักษรศาสตรบัณฑิต 41 เป็นต้น
- บุคคลในภาพ แสดงรายชื่อบุคคลที่อยู่ในคลังดิจิทัลในรูปแบบTagging ผู้ใช้สามารถเลือกดูรูปตามรายชื่อบุคคล
- สถานที่ แผนที่สถานที่ที่ปรากฎในคลังดิจิทัล
บุคคลที่สนใจสามารถเข้าดูภาพและข้อมูล รวมถึงส่งภาพได้ที่เว็บไซต์ princessmcs