หนังสือ “พันครั้งที่หวั่นไหว กว่าจะเป็นผู้ใหญ่”

คิมรันโด  เขียน
อมรรัตน์ ทิราพงษ์  แปล
สำนักพิมพ์ Springbooks

Kimrando

                                                รูปภาพจากสำนักพิมพ์ Springbooks

             พันครั้งที่หวั่นไหว กว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นอีกหนี่งผลงานของอาจารย์ คิมรันโด อาจารย์ประจำภาควิชาการบริโภค คณะเคหศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซล (Seoul National University) ผลงานที่สร้างชื่อให้กับอาจารย์คือ หนังสือ “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศเกาหลีและเป็นที่รู้จักระดับหนึ่งในประเทศไทย แต่สำหรับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะเน้นข้อคิดให้กับคนวัยทำงาน ที่ต้องพบกับความยากลำบากหลายอย่าง เปรียบเหมือนต้องผ่านความเจ็บปวดพันครั้งถึงจะก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ เนื้อหามีทั้งหมด 33 บท กล่าวถึงชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว ปัญหาส่วนตัวที่อาจทำให้ท้อแท้ สิ้นหวัง  ดังนั้นเราจะก้าวผ่านความเจ็บปวดนี้ไปได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้บอกวิธีแก้ปัญหาให้กับผู้อ่านโดยตรง แต่เหมือนเป็นข้อคิดให้แก่ผู้อ่านที่อาจกำลังท้อแท้ เหนื่อยล้าจากชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ผู้ที่ขาดแรงบันดาลใจในชีวิต หรือคนที่ใช้ชีวิตอย่างประมาท โดยบทความนี้จะขอยกตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนในหนังสือขึ้นมากล่าว

บทที่ 1 แด่ J ผู้บอกว่าจะลาออกจากงานแรก 

          เนื้อหาเริ่มต้นของหนังสือกล่าวถึง ลูกศิษย์ที่จบไปแล้วได้มาขอคำปรึกษากับอาจารย์คิมรันโดในการลาออกจากงานเนื่องจาก การทำงานไม่เป็นไปตามที่ตนเองคิดฝันไว้เมื่อตอนเรียนหนังสือ และจะออกไปทำตามความฝันในวัยเด็ก อาจารย์ไม่ได้ตอบว่า ความคิดที่จะลาออกของลูกศิษย์ควรทำหรือไม่ควร เป็นความคิดที่ดีหรือไม่ดี แต่แนะนำว่า การเรียนกับการทำงานนั้นต่างกัน การที่เราเรียนดี ได้คะแนนยอดเยี่ยม ไม่ได้การันตีความสำเร็จในการทำงานเสมอไป หากไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่ทำงานและลองอดทนกับอุปสรรคเสียก่อน การตัดสินใจลาออก ขอให้ไตร่ตรองดูก่อนว่าเหตุผลจริงๆคืออะไร ถ้าเป็นเพราะไม่สามารถเจริญก้าวหน้าในที่ทำงานได้ ก็จงลาออกเสีย  หรือที่จริงแล้วเป็นเพราะไม่สามารถอดทนทำงานต่อและหยิบเอาความฝันวัยเด็กมาเป็นข้ออ้างเพื่อหนีจากความทุกข์ ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกขออยากให้ลองอดทนดูก่อน อย่ารีบตัดสินใจโดยยังไม่ใช้ความพยายาม จากนั้นนำมาสิ่งที่เราพบเจอในการทำงานมาพัฒนาให้รู้จักเรียนรู้และเติบโต

บทที่ 2 แด่คุณK ซึ่งเหนื่อยล้ากับการหางาน

คุณK ผู้ซึ่งตกงาน และเหนื่อยกับการถูกปฏิเสธรับเข้าทำงาน อาจารย์ให้กำลังใจคุณK โดยเปรียบเทียบชีวิตของK กับต้นไผ่ น้ำเดือด พระอาทิตย์ และการขึ้นรถเมล์  ต้นไผ่เหมาจู๋หลังการว่านเมล็ดจะไม่มีการงอกและเจริญเติบโตเลยในเวลา 5 ปี แต่หลังจากนั้นหน่อจะเริ่มงอกและเติบโตมากกว่าสิบเซ็นต์ภายในหนึ่งวัน และลำต้นจะเจริญเติบโตอย่างอย่างรวดเร็ว การเติบโตของไผ่เหมาจู๋อาจไม่เหมือนกับต้นไม้ชนิดอื่น มันอาจไม่ได้งอกงามอย่างรวดเร็ว แต่จะค่อยๆโตโดยใช้ระยะเวลา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมมันจะเติบโตแบบก้าวกระโดด  หรือการต้มน้ำเมื่อนำเดือด 100 องศา แม้จะเร่งไฟอย่างไร อุณหภูมิก็ไม่เพิ่มขึ้น เมื่อดับไฟน้ำก็จะค่อยๆเย็นลง แต่ถ้าเราเร่งไฟอย่างสม่ำเสมอ ไม่ดับไฟ น้ำก็จะระเหยขึ้นสู่อากาศ เปรียบเหมือนคนที่เร่งไฟเพื่อให้ถึงจุดเดือดของน้ำเสร็จแล้วก็จะล้มเลิก แต่ถ้าเราอดทนเพื่อรอคอย เมื่อถึงเวลาแห่งความสำเร็จเราจะเข้าถึงความรู้สึกของชัยชนะ หรือการขึ้นรถเมล์ คุณอาจเป็นคนเดียวในรถที่ต้องยืนในขณะที่ทุกคนได้นั่ง มันอาจทำให้คุณขัดเขิน หรือเมื่อยล้า คุณอาจมีหลายทางเลือก คือ อดทนยืนที่จะไปให้ถึงจุดหมาย ลงจากรถเพื่อขึ้นคันที่ว่าง หรือกลับไปที่ต้นสายเพื่อจะได้นั่ง ซึ่งเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะวิธีไหนก็ไม่มีผิดหรือถูก ตราบใดที่ยังคงไม่หยุดเดินทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ละวิธีอาจใช้เวลาในการไปถึงความสำเร็จไม่เท่ากัน แต่ขอให้อย่างเพิ่งสิ้นหวัง ชีวิตคุณKอาจเหมือนต้นไผ่ที่รอวันโต น้ำเดือดที่รอระเหยเป็นไอ หรือกำลังขึ้นรถเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ทั้งหมดนี้ขอให้อดทนเพื่อจะไปถึงสิ่งที่ได้หวังไว้

บทที่ 3 รีเซตชีวิตของเรา

คนเรามักจะกลัวการเริ่มต้นใหม่ เพราะเสียดายสิ่งที่สะสมมา เวลาที่ยากลำบากกว่าจะมาถึงตอนนี้ จึงไม่อาจปล่อยวางได้ อาจารย์คิมรันโดเขียนไว้ในบทนี้ว่า ความคิดนี้คล้ายกับการรีเซตคอมพิวเตอร์ เมื่อคอมพิวเตอร์แฮงค์ ไม่มีทางแก้ไขได้นอกจากรีเซตเครื่อง เราต้องยอมรับว่างานที่ทำมาทั้งหมดอาจหายไป และอาจต้องเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ต้น มันทำให้เราเสียดายหรือหงุดหงิดใจ แต่ถ้าถึงช่วงวิกฤติของชีวิต เราอาจจะต้องยุติปัญหาด้วยการปล่อยวาง และเริ่มต้นใหม่ เหมือนกดปุ่มรีเซตชีวิต แม้อาจรู้สึกเสียดายต่อสิ่งที่อุตส่าห์ทำมาในอดีต แต่ถ้าลองขจัดความกลัว และเริ่มต้นใหม่ ผลที่ออกมาอาจจะดีกว่าเดิมก็เป็นได้ แต่การเริ่มต้นใหม่นั้นเราไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จในอดีตหรืออยู่กับความฝันที่เลื่อนลอย แต่จงเตรียมพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่และอาจต้องผ่านความล้มเหลว หรือความยากลำบากก่อนที่จะประสบความสำเร็จ

บทที่ 16 ความทุกข์ของเส้นตรง

          เส้นตรง คือ เส้นที่ลากผ่านสองจุดในระยะทางที่สั้นที่สุด  คนส่วนใหญ่มักคิดถึงเรื่องความสำเร็จมากกว่าความสุข เพราะคิดว่าถ้าชีวิตประสบความสำเร็จ ความสุขก็จะตามมา จึงพยายามใช้ชีวิตเหมือนเส้นตรง คือ การพาตนเองไปให้ถึงจุดมุ่งหมายในเวลาที่เร็วที่สุด แม้จะต้องแข่งขัน เผชิญกับความเครียด ความลำบาก หรือความเจ็บป่วยของร่างกายก็ตาม แต่สังเกตว่าความสุขหลังจากความสำเร็จ จะอยู่กับเราได้เพียงไม่นาน และความรู้สึกสุขจะจางหายไปในเวลารวดเร็ว ทำให้ต้องหาเป้าหมายใหม่ เหมือนชีวิตพยายามวิ่งไล่ความสำเร็จและวัตถุมากขึ้น ใช้ร่างกายอย่างหนักไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาเจ็บป่วย จึงเริ่มคิดได้ว่าชีวิตมีความสุขจริงหรือไม่ อาจารย์คิมรันโดกล่าวว่า ความสุขของแต่ละคนขึ้นอยู่กับการปรับความสมดุลระหว่างความรู้สึกกับความปรารถนาในความสำเร็จ การดำเนินชีวิตในปัจจุบันเราควรที่จะรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่เรามีอยู่ และความปรารถนาที่จะไปให้ถึงความสำเร็จ ควรคำนึงถึงสุขภาพร่างกายของตนเองด้วย แม้เส้นทางแห่งความสำเร็จ อาจคดเคี้ยว ขรุขระ ก็ไม่เป็นไร ลดความเร็วลงบ้างเพื่อปรับให้ชีวิตมีความสมดุล

บทที่ 26 การมีชีวิตอยู่ในป่าแห่งการจับจ่ายใช้สอย

          บทนี้กล่าวถึงสังคมบริโภคนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนวัยทำงานกำลังเผชิญอยู่ เช่น การชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนม เสพติดการช็อปปิ้ง เดินห้างสรรพสินค้า ยิ่งหาเงินได้ด้วยตนเอง ก็ยิ่งเพลิดเพลินไปกับการใช้จ่าย โดยได้รับอิทธิพลจากสื่อและคนรอบข้างในสังคม ซึ่งหลังจากการใช้จ่ายของหนุ่มสาวจะตามมาซึ่งความรู้สึกกังวลใจและไม่มั่นคงในชีวิต บางครั้งตัดสินใจซื้อเพราะป้องกันการถูกดูถูกจากผู้อื่น หรือซื้อเพราะเวลานั้นอยากได้โดยไม่ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน จนกลายเป็นเสพติดการช็อปปิ้ง เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมองว่าสิ่งที่ซื้อมาเป็นของเกะกะ ไม่มีประโยชน์ ไม่เข้าใจว่าในเวลานั้นซื้อมาทำไม ดังนั้นการใช้จ่ายจึงเป็นอุปสรรคของวัยผู้ใหญ่ที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้  ในบทนี้จะแนะนำเคล็ดลับ 3 ข้อ ที่จะช่วยให้นักช็อประมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

ยังมีเนื้อหาดี ๆ อีกหลากบทในหนังสือเล่มนี้ อาทิเช่น Amore fati จงรักในชะตาชีวิตของคุณ  ไตรวิกฤติของผู้ใหญ่ หรือการโยนลูกบอลสามลูก   เลือกเงินหรือเลือกงาน จงอย่าหวาดกลัวสายตาของคนอื่น เป็นต้น เนื้อหาในหนังสืออาจช่วยสร้างกำลังใจและให้ข้อคิดแก่ผู้อ่านในการเนินชีวิตสู่วัยผู้ใหญ่ ที่อาจมีทั้งทุกข์ สุข ความยากลำบาก ความเจ็บปวด ความเหงา หรือท้อแท้ แม้ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดแต่ถ้าสามารถผ่านไปได้ คุณจะสามารถก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์

หนังสือดีๆอย่างนี้แน่นอนว่าสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดหามาให้บริการแก่ผู้ใช้เรียบร้อบแล้ว ผู้ใดสนใจสามารถยืมได้ที่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และรังสิต เลขหมู่ ETHI BJ 2013 625786 และ BJ1668 .ค638 2556 หรือถ้าอยากเก็บไว้อ่านนาน ๆหรือให้เป็นของขวัญ ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป

บรรณานุกรม

คิมรันโด. พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่.  กรุงเทพฯ: Springbooks, 2556.