Dublin Core Metadata เป็นมาตรฐานการลงรายการเพื่อพรรณนาสารสนเทศดิจิทัลและเพื่อช่วยในการสืบค้นสารสนเทศดิจิทัลรายการนั้น โดยประกอบด้วยชุดข้อมูลย่อย 15 หน่วย คือ
1. Title (ชื่อเรื่อง)
– ชื่อของสารสนเทศดิจิทัลรายการนั้น ถูกกำหนดขึ้นโดยเจ้าของผลงานหรือผู้ที่รับผิดชอบ โดยลงรายการชื่อเรื่องที่ Title และถ้ามีชื่อเรื่องเทียบเคียงให้ลงรายการที่ Title.Alternative ตัวอย่างเช่น
Title แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์
Title.Alternative Harry Potter and the sorcerer’s stone
2. Creator (เจ้าของผลงาน)
– บุคคล หรือนิติบุคคลที่รับผิดชอบในการสร้างเนื้อหาสารสนเทศดิจิทัลหรือสร้างสรรค์ผลงาน เช่น เจ้าของผลงานเขียน ศิลปิน ช่างภาพ เป็นต้น โดยถ้าเป็นบุคคลไทยให้ลงรายการชื่อและนามสกุล ถ้าเป็นบุคคลต่างประเทศให้ลงรายการนามสกุล คั่นด้วย (,) ชื่อต้น และชื่อกลาง ตัวอย่างเช่น
Creator พัชราภา ไชยเชื้อ
Creator Potter, Harry James
Creator Weasley, Ron
3. Subject (หัวเรื่อง)
– คำหรือวลีที่สามารถบ่งบอกถึงเนื้อหาและใช้สืบค้นเพื่อเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลรายการนั้น โดยการกำหนดหัวเรื่องควรใช้ศัพท์ควบคุม (Controlled vocabulary) ที่ได้จากคู่มือกำหนดหัวเรื่อง เช่น Library of Congress Subject Headings (LCSH), Medical Subject Headings (MeSH), หัวเรื่องสำหรับหนังสือภาษาไทย หรือกำหนดคำศัพท์ที่ปรากฏในชื่อเรื่อง สารบัญ บทคัดย่อ หรือวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่น
Subject การศึกษา–สถิติ–คู่มือ
Subject Information literacy–Ability testing
Subject การจัดการสารสนเทศ
Subject Information seeking behavior
4. Description (ลักษณะ)
– คำอธิบายรายละเอียดเนื้อหาหรือคำอธิบายทั่วไปเกี่ยวกับสารสนเทศรายการนั้น เช่น บทคัดย่อ สารบัญ คำอธิบายภาพ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
Description.abstract แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์เป็นนวนิยายเล่มแรกในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ และนวนิยายประเดิมของเจ. เค. โรว์ลิง โครงเรื่องติดตามแฮร์รี่ พอตเตอร์ พ่อมดหนุ่มผู้ค้นพบมรดกเวทมนตร์ของเขา พร้อมกับสร้างเพื่อนสนิทและศัตรูจำนวนหนึ่งในปีแรกที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ ด้วยความช่วยเหลือของมิตร แฮร์รี่เผชิญกับความพยายามหวนคืนของพ่อมดมืด ลอร์ดโวลเดอมอร์ ซึ่งฆ่าบิดามารดาของแฮร์รี่ แต่ไม่สามารถฆ่าเขาได้เมื่ออายุหนึ่งขวบ
5. Identifier (รหัส)
– ข้อมูลบ่งชี้ถึงแหล่งข้อมูลหรือรหัสประจำตัวของสารสนเทศรายการนั้น ตัวอย่างเช่น
Identifier doi: 10.14457/TU.the.2015.666
Identifier http//ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/
2015/TU_2015_5601031684_4115_3002.pdf
6. Format (รูปแบบ)
– การอธิบายลักษณะรูปร่าง ขนาดของทรัพยากรสารนิเทศเชิงกายภาพและดิจิทัล ตัวอย่างเช่น
Format application/pdf
Format application/msword
Format image/jpeg 4kb
Format image/jpeg 640 x 512 pixels
7. Type (ประเภท)
– การระบุประเภทเนื้อหาของสารสนเทศดิจิทัล โดยบางรายการสามารถระบุได้มากกว่า 1 ประเภท ตัวอย่างเช่น
Type text
Type image
8. Date (ปี)
– การระบุปีที่ผลิต ปีที่เผยแพร่ ปีลิขสิทธิ์หรือปีที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศดิจิทัลรายการนั้น โดยมีรูปแบบของการระบุวันที่ในรูปของปี คือ YYYY หรือ ปี-เดือน-วัน คือ YYYY-MM-DD ตัวอย่างเช่น
Date.issued 2017
Date.issued 2017-12-12
9. Contributor (ผู้ร่วมงาน)
– บุคคล หรือนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมสร้างเนื้อหาของสารสนเทศดิจิทัลรายการนั้น แต่ไม่ใช่เจ้าของผลงานโดยตรง เช่น ผู้แต่งร่วม ผู้ช่วยนักวิจัย ผู้แปล อาจารย์ที่ปรึกษา บรรณาธิการ ผู้วาดภาพประกอบ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
Contributor.Translator นิษฐา จิรยั่งยืน
Contributor.Advisor ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
10. Publisher (สำนักพิมพ์)
– บุคคล นิติบุคคลหรือหน่วยบริการที่รับผิดชอบในการสร้างหรือผลิตสารสนเทศดิจิทัลให้สามารถเข้าถึงได้ เช่น สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยใช้ชื่อบุคคล หรือนิติบุคคลที่เป็นผู้ผลิตผลงานตามที่ปรากฏในตัววัตถุดิจิทัล ตัวอย่างเช่น
Publisher มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Publisher นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
11. Source (ต้นฉบับ)
– การอ้างอิงถึงสารสนเทศที่เป็นที่มาของสารสนเทศดิจิทัล ถ้านำหนังสือมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ก็ต้องระบุรายละเอียดหนังสือที่เป็นรูปเล่มด้วย เช่น เลข ISBN หรือ Call Number แต่ถ้าสารสนเทศรายการนั้นเป็นดิจิทัลอยู่แล้วก็ไม่ต้องระบุในส่วนนี้ ตัวอย่างเช่น
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์มีต้นฉบับเป็นสิ่งพิมพ์ในห้องสมุด จึงสามารถลงรายการเลขเรียกหนังสือได้
Source นว .ร945ฮ84 2557
12. Language (ภาษา)
– ภาษาที่ใช้ในเนื้อหาของสารสนเทศดิจิทัลรายการนั้น โดยกำหนดใช้ตามมาตรฐาน ISO 639-1 กำหนดใช้รหัสพยัญชนะ 2 ตัว หรือ ISO 639-2 กำหนดใช้รหัสพยัญชนะ 3 ตัว ตัวอย่างเช่น
Language th
Language eng
13. Relation (เรื่องที่เกี่ยวข้อง)
– การอ้างอิงแหล่งข้อมูลหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น สารสนเทศดิจิทัลรายการหนึ่งเป็นบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ จะต้องลงรายการ ดังนี้
Title ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต
Relation.isPartOf โดมทัศน์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2553) 3-11
14. Coverage (ขอบเขต)
– การระบุเกี่ยวกับสถานที่หรือเวลาที่แสดงขอบเขตของเนื้อหาสารสนเทศดิจิทัล ตัวอย่างเช่น
สารสนเทศดิจิทัลรายการหนึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมในช่วงปี พ.ศ. 2554-2555 โดยเป็นเนื้อหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ
Coverage 2554-2555
Coverage กรุงเทพฯ
15. Rights (สิทธิ)
– ข้อมูลการจัดการสิทธิ์การใช้งานสารสนเทศดิจิทัล เพื่อให้ผู้ใช้รับทราบและยอมรับข้อปฏิบัติเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของทรัพยากรสารสนเทศ ตัวอย่างเช่น
Right Copyright of Thammasat University. Licensed
under a Creative Commons Attribution-
NonCommercial-No Derivatives license
บรรณานุกรม
เทอดศักดิ์ ไม้เท้าทอง. (2560). เอกสารการศึกษามาตรฐานการลงรายการ Dublin Core Metadata. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การศึกษามาตรฐานการลงรายการ Dublin Core Metadata, ณ ห้องประชุม ชั้น ๑ อาคารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญเลิศ อรุณพิบูลย์. (2557). Dublin Core Elements. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2560, จาก http://www.thailibrary.in.th/2014/07/26/dublin-core-elements-2/