การลงรายการชื่อพระสงฆ์ทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยของหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมณศักดิ์ หมายถึง ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด

พัดยศ หมายถึง เครื่องประกอบสมณศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานพระเถระผู้ทรงคุณูปการต่อประเทศชาติและพุทธศาสนา และเป็นการเชิดชูเกียรติพระรูปนั้นๆ และพัดยศยังเป็นเครื่องบ่งบอกชั้นยศแต่ละชั้นของพระภิกษุสงฆ์ผู้ที่ได้รับ

ราชทินนาม หมายถึง  ชื่อที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน ใช้กำกับยศหรือบรรดาศักดิ์ขุนนาง สมณศักดิ์พระสงฆ์

สมณศักดิ์ของพระสงฆ์มี 3 ระดับ ได้แก่ พระราชาคณะ พระครู และพระเปรียญ

1. พระราชาคณะ

1.1 สมเด็จพระสังฆราช, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ราชวงศ์) คือ ตำแหน่งประมุขของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุด และมีเพียงองค์เดียว องค์ปัจจุบันมีพระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)

1.2 สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เป็นสมณศักดิ์รองจากสมเด็จพระสังฆราชคำนำหน้าว่า “สมเด็จ” เช่น

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
สมเด็จพระวันรัต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

1.3 รองสมเด็จพระราชาคณะ (พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ หรือชั้นพรหม) มีศักดิ์สูงรองมาจากสมเด็จพระราชาคณะ เลื่อนขึ้นมาจากพระราชาคณะชั้นธรรม ส่วนใหญ่มีคำนำหน้าว่า “พรหม” ตามหลังคำว่าพระ เช่น

พระพรหมมังคลาจารย์
พระพรหมดิลก
พระญาณวโรดม

1.4 พระราชาคณะชั้นธรรม เป็นสมณศักดิ์ที่ได้เลื่อนขึ้นมาจาก พระราชาคณะชั้นเทพ ส่วนใหญ่มีคำนำหน้าว่า “ธรรม” ตามหลังคำว่าพระ เช่น

พระธรรมกิตติเมธี
พระธรรมปริยัติมุนี
พระรัตนธัชมุนี

1.5 พระราชาคณะชั้นเทพ เลื่อนขึ้นมาเลื่อนมาจากพระราชาคณะชั้นราช ส่วนใหญ่มีคำนำหน้าว่า “เทพ” ตามหลังคำว่าพระ เช่น

พระเทพวิสุทธิโมลี
พระเทพวรเมธี
พระมงคลเทพโมลี

1.6 พระราชาคณะชั้นราช เป็นสมณศักดิ์ที่ได้เลื่อนขึ้นมาจาก พระราชาคณะชั้นสามัญ ส่วนใหญ่มีคำนำหน้าว่า “ราช” ตามหลังคำว่าพระ เช่น

พระราชญาณวิสุทธิโสภณ
พระราชธรรมนิเทศ
พระราชพรหมยาน

1.7 พระราชาคณะชั้นสามัญ เป็นสมศักดิ์ที่เลื่อนมาจากพระครู และ/หรือ พระเปรียญ 7 ประโยคขึ้นไป หรือพระครูปลัดของรองสมเด็จพระราชาคณะขึ้นไป ไม่มี คำว่า ธรรม, เทพ หรือ ราช ตามหลังคำว่าพระ เช่น

พระปริยัติกิจวิธาน
พระภาวนาธรรมาภินันท์
พระสิทธิสิงหเสนี

2. พระครู

2.1 พระครูสัญญาบัตร เป็นสมณศักดิ์ของพระผู้ดำรงตำแหน่งปกครองบริหารกิจการของพระสงฆ์ตั้งแต่ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส เจ้าอาวาส (พระอธิการ) เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด เป็นต้น พระครูสัญญาบัตรมีคำว่า “พระครู” นำหน้าราชทินนาม เช่น

พระครูอุทัยสุตกิจ
พระครูวชิรปัญญากร
พระครูเจติยาภิวัฒน์

2.2 พระครูฐานานุกรม คือ พระครูประกอบสมณศักดิ์ของพระในตำแหน่ง เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาส เป็นต้น หรือพระราชาคณะชั้นราชขึ้นไป เช่น

พระราชาคณะปลัดขวา พระราชาคณะปลัดซ้าย พระราชาคณะปลัดกลาง (แต่งตั้งได้เฉพาะสมเด็จพระสังฆราช)
พระครูปลัดสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ
พระครูปลัดพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ
พระครูปลัดพระราชาคณะชั้นธรรม
พระครูปลัดพระราชาคณะชั้นเทพ
พระครูปลัดพระราชาคณะชั้นราช
พระปลัดพระราชาคณะชั้นสามัญ
พระครูฐานานุกรมชั้นเอก ของสมเด็จพระสังฆราช
พระครูฐานานุกรมชั้นโท ของสมเด็จพระสังฆราช (พระครูปริตร)
พระครูวินัยธร
พระครูธรรมธร
พระครูคู่สวด
พระครูรองคู่สวด
พระครูสังฆรักษ์
พระครูสมุห์
พระครูใบฎีกา
พระสมุห์
พระใบฎีกา

2.3 พระครูประทวน คือ พระที่มีคำว่า “พระครู” นำหน้าชื่อตัว สมณศักดิ์ชั้นนี้ไม่มีราชทินนาม เช่น

พระครูเจียม วรญาโณ
พระครูศรี ธมฺมกาโม

3. พระเปรียญ

พระที่ศึกษาเปรียญธรรมได้แล้ว แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

ประโยค 1-2-เปรียญธรรม 3 เรียกว่า เปรียญตรี
เปรียญธรรม 4-5-6 เรียกว่า เปรียญโท
เปรียญธรรม 7-8-9 เรียกว่า เปรียญเอก

พระภิกษุที่สอบได้ประโยค 1-2 ใช้คำว่า “พระ” และพระภิกษุที่สอบได้เปรียญธรรม 3-9 สามารถใช้สมณศักดิ์ว่า “พระมหา” เช่น

พระมหาสมปอง ตาลปุตโต
พระไพศาล วิสาโล
พระขาว อนาลโย

การลงรายการชื่อพระสงฆ์ทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. สมณศักดิ์พระสงฆ์ที่มีราชทินนาม
ลงรายการดังนี้

สมณศักดิ์ที่มีราชทินนาม (ชื่อตัว), ปีเกิด-ปีตาย. เช่น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) ลงว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร), 2470-
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ลงว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว), 2471-2556.
พระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทโธ) ลงว่า พระเทพเมธากร (ณรงค์), -2557.
พระมุนีวิเทศ (สุขุม สุขุโม) ลงว่า พระมุนีวิเทศ (สุขุม)

2. สมณศักดิ์พระสงฆ์ที่ ไม่มี ราชทินนาม ลงรายการดังนี้

สมณศักดิ์ที่ ไม่มี  ราชทินนาม+ชื่อตัว ฉายานาม (ชื่อบาลี), ปีเกิด-ปีตาย เช่น

พระมหาวีระ ถาวโร ลงว่า พระมหาวีระ ถาวโร, 2549-2535.
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร) ลงว่า พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, 2515-
พระมหาสมปอง ลงว่า พระมหาสมปอง ตาลปุตโต.

** ถ้ามีทั้ง ฉายานาม (ชื่อบาลี) และนามสกุล ให้ลงรายการฉายานาม (ชื่อบาลี)
กรณี ไม่มีฉายานาม (ชื่อบาลี) ให้ลงนามสกุลแทน เช่น

พระมหาสุทธิพงศ์ ธรรมพิทักษ์ ลงว่า พระมหาสุทธิพงศ์ ธรรมพิทักษ์, 2510-
พระมหาสุทธิพงศ์ ปานเพ็ชร์ ลงว่า พระมหาสุทธิพงศ์ ปานเพ็ชร์.

3. พระสงฆ์ที่ไม่มีสมณศักดิ์ (ต่ำกว่า ป.ธ. 3) ลงรายการดังนี้

พระ+ชื่อตัว+ฉายานาม, ปีเกิด-ปีตาย. เช่น

พระไพศาล วิสาโล ลงว่า พระไพศาล วิสาโล, 2500-
หลวงปู่ขาว อนาลโย ลงว่า พระขาว อนาลโย.
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ลงว่า พระกฤช นิมฺมโล, 2506-

** หลวงพ่อ, หลวงปู่, พระอาจารย์ ไม่ใช่สมณศักดิ์
กรณี ไม่มีฉายานาม (ชื่อบาลี) ให้ลงนามสกุลแทน เช่น

พระไกรวิทย์ คำแสน ลงว่า พระไกรวิทย์ คำแสน, 2531-
พระกระสินธุ์ มันปรเสริฐ ลงว่า พระกระสินธุ์ มันปรเสริฐ

บรรณานุกรม
กรมศาสนา. (2559). ทำเนียบพระสมณศักดิ์. สืบค้นจาก   http://www.dra.go.th/th/samanasak.php
พระมหานิรุตต์ ฐิตสวโร. (2554). พัดยศ สมณศักดิ์สงฆ์ไทยในรัชกาลปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ธงธรรม.
พระมหามินท์ ธีริสสโร. (2559). พัดยศ สมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.เจ.พริ้นติ้ง.
พระมหาอุทิศ อุทิตเมธี. (2535). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมณศักดิ์. กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียง.
พระสังฆาธิการ. (2561). สืบค้นจาก https://sangkhatikan.com
ยุคล สินเจิมสิริ. (2537). การลงชื่อพระในพุทธศาสนาตามกฎ AACR 2 ประมวลใช้ในสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เอกสารไม่ตีพิมพ์.
สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์. (2549). ลำดับสมณศักดิ์พระสงฆ์. นนทบุรี: สำนักงานประกันสังคม.