Changes and Challenges of Academic Libraries.

Source: http://www.somertoncomputing.co.uk/images/portfolio/branding_challenge_and_change.jpg
Source:  www.somertoncomputing.co.uk/images/portfolio/branding_challenge_and_change.jpg

ความท้าทายแบบไหนที่เรากำลังเผชิญอยู่? และโอกาสที่เราต้องคว้าไว้คืออะไร? คำถามเรียบง่ายแต่ทว่าสำคัญยิ่งต่อการทำงานห้องสมุดในยุคที่โทรศัพท์มือถือแทบจะทำงานได้ไม่ต่างกับคอมพิวเตอร์พกพา คำค้นนับล้านถูกป้อนใส่ไว้ในอินเทอร์เน็ต และแนวโน้มการใช้ Digital Contents ทีjเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วห้องสมุดยังเป็นทางเลือกอันดับแรกของการศึกษาอยู่หรือไม่ ขอบฟ้าของงานบริการได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งจากผลกระทบของเทคโนโลยีไร้สายที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ ณ วันนี้

“โลกของเราหมุนอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการส่งข้อมูลเพียงเสี้ยววินาที ผู้คนนิยมก้มหน้ามองจอคอมพิวเตอร์มากกว่าหน้ากระดาษ และข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิตอลมากขึ้น ภายใต้สภาวะแวดล้อมของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของงานห้องสมุด” บทนำบางตอนของการบรรยายภายใต้หัวข้อ “Learning in the Digital Environment and the Roles of Libraries and Academic Librarians: Changes and Challenges” ของ Adj. Prof. Dr. Gillian Hallam กระตุ้นให้ผู้เข้าฟังหลายท่านเริ่มตื่นตัวในยามเช้าวันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ณ ห้องประชุม 3 อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Adj. Prof. Dr. Gillian Hallam
Adj. Prof. Dr. Gillian Hallam

Dr. Gillian ได้กล่าวสรุปภาพรวมของสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและก้าวใหม่ของงานบริการห้องสมุดที่เข้าถึงผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยบริการเชิงรุกและการสร้างภาพลักษณ์งานของห้องสมุดให้ “visible” หรือ เห็นได้ชัดมากยิ่งขึ้นผ่านการสร้างช่องทางการเข้าถึงสารสนเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรประเภท Digital Contents ที่เข้าถึงได้ง่าย ถึงแม้จะต้องระมัดระวังเรื่องลิขสิทธิ์กันให้ดีแต่สิ่งนี้คือรูปแบบการเรียนรู้ในโลกปัจจุบันนี้ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้โดยอาศัย Social Network

ในช่วงบ่ายการบรรยายยังคงเกี่ยวข้องกับงานบริการของห้องสมุด แต่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นเมื่อ Dr. Gillian ได้อธิบายถึงเรื่อง “แนวปฏิบัติจากหลักฐานเชิงประจักษ์” หรือ Evidence-Based Practice: EBP ซึ่งเป็นแนวทางในการใช้ข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจ โดยกล่าวถึงที่มาของแนวปฏิบัติจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Introduction to Evidence Based Practice: EBP) ในระยะแรกนั้นจำกัดอยู่ในเฉพาะวงทางการแพทย์ เป็นแนวปฏิบัติที่อยู่บนฐานการแสวงหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วย จนกระทั่งได้มีการนำเอาแนวปฏิบัติ EBP ประยุกต์ใช้ในทางบรรณารักษ์และสารสนเทศศาสตร์ เกิดเป็น Evidence Based Librarians เพื่อเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการนำเสนอทรัพยากรสารสนเทศที่มีอยู่อย่างกว้างขวางและนำเอาความเชี่ยวชาญของบรรณารักษ์มาบูรณาการร่วมกันเพื่อสนับสนุนงานวิจัย คัดกรองและนำเสนอข้อมูลหลักฐานอันสำคัญ เชื่อถือได้ และมีคุณค่าแก่นักวิจัย

โดยกระบวนการ EBP/EBLIP (The EBP/EBLIP Process) เน้นขั้นตอนการเสาะหาและพิจารณาข้อมูลตามหลัก 5As คือ การถาม (Ask), การหาและจัดเก็บ (Acquire), การประเมินค่า (Appraise), การปรับใช้ (Apply) และ การประเมินผล (Assess)

หลัก 5As
หลัก 5As

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแนวทางในการทำวิจัย (Research Approaches)คร่าวๆ ซึ่งผู้บรรยายได้ปูพื้นฐานความรู้ของแนวทางการทำวิจัย ประกอบด้วย การทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) การออกแบบงานวิจัย และการได้มาซึ่งข้อมูลเพื่องานวิจัย และพูดถึงบทบาทของบรรณารักษ์ในการร่วมพัฒนางานวิจัย นั่นคือการเป็นผู้คอยเชื่อมช่องว่างระหว่างตัวผู้วิจัยกับข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยอาศัยทักษะในการคัดเลือกและพิจารณาข้อมูล รวมไปถึงการแนะนำการทำวิจัยที่ครอบคลุมทั้งวิธีทำวิจัย ข้อมูลเชิงสถิติ แนวโน้มงานวิจัย กระแสความน่าสนใจในโลกวิจัย และนั้นรวมถึงการแนะนำแหล่งทุนสนับสนุนด้านงานวิจัยเพื่อผลักดันการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่

Source: http://msnbcmedia.msn.com/j/MSNBC/Components/Photo/_new/130424-bush-library-interactive-hmed0-11a.photoblog600.jpg
Source: http://msnbcmedia.msn.com/j/MSNBC/Components/Photo/_new/130424-bush-library-interactive-hmed0-11a.photoblog600.jpg

โลกเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ห้องสมุดคทำคือ “ให้” และ “จัดหา” พื้นที่อันมั่นคงของแหล่งข้อมูลข่าวสารอันมีคุณค่า และเชื่อถือได้เพื่อสนับสนุนงานวิจัย เพราะถือว่าห้องสมุดนั้นคือกุญแจสำคัญของคลังสมองในระบบการศึกษา