มองสิเออร์ คุสตาฟ โรแลง ยัคแมนส์ (Monsieur Gustave Rolin-Jaequemyns) บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

 

pic1

มองสิเออร์ คุสตาฟ โรแลง  ยัคแมนส์    (Monsieur Gustave Rolin-Jaequemyns )  บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

รูปปั้นสีทองครึ่งตัวของบุคคลสำคัญ ในห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์  มีผู้สอบถามหลายคนว่าท่านผู้นี้เป็นใคร สำคัญอย่างไร   แม้แต่ญาติชาวต่างชาติของท่านยังได้แวะเวียนมาดูถึงห้องสมุดและบอกว่ายังเก็บรักษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ท่านได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 อยู่ ซึ่งผู้เขียนได้เห็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ญาติท่านถ่ายมาให้ดูด้วย และญาติท่านได้บอกว่าจะส่งรูปถ่ายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มาให้ห้องสมุดใหม่ตามที่ผู้เขียนขอไว้ แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้เลยค่ะ คงต้องรอให้ญาติท่านแวะมาใหม่อีกรอบนึง  เพื่อความกระจ่างแจ้งว่าท่านสำคัญอย่างไรมากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนจึงไปศึกษาค้นคว้าเพื่อนำมาเผยแพร่ให้ทราบดังนี้

มองสิเออร์ คุสตาฟ โรแลง  ยัคแมนส์    เป็นชาวเบลเยียม เกิดที่เมือง กางค์    ใน พ.ศ. 2378  ท่านเรียนจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งเมืองกางค์ เป็นผู้เริ่มตั้งสภากฎหมายระหว่างประเทศ เป็นราชบัณฑิตยสภาแห่งประเทศเบลเยียม เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเบลเยียม เป็นผู้พิพากษาศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกด้วย ท่านเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการในสมัยรัชกาลที่ 5  ซึ่งเป็นรัชสมัยที่ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบต่างชาติ  ซึ่งสมัยนั้นเรา ต้องตกอยู่ในสภาวะ  “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เพราะ ชาวต่างชาติที่ทำผิดจะไปขึ้นศาลกงสุลแทน  เนื่องจากข้ออ้างกฎหมายไทยล้าสมัย ดังนั้นรัชกาลที่ 5จึงทำการปฏิรูปกฎหมายอย่างเป็นระบบ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้เสนอชื่อ มองสิเออร์ คุสตาฟ โรแลง  ยัคแมนส์    ต่อ รัชกาลที่5 เนื่องจากท่านโรแลง ยัคแมนส์  มีความรู้ความสามารถครบถ้วน และเป็นชาวเบลเยียมที่น่าจะวางตัวเป็นกลาง ทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือยอมรับได้ของชาวฝรั่งเศสและอังกฤษสมัยนั้น

ผลงานสำคัญที่ช่วยเหลือประเทศไทยที่สำคัญมีดังนี้

1. เจรจาประนีประนอมกับรัฐบาลฝรั่งเศส กรณีพิพาทไทยกับฝรั่งเศส   รศ.112

2. ถวายความเห็นให้ตั้งโรงเรียนกฎหมาย จัดให้มีการศึกษากฎหมายแบบใหม่   เป็นกรรมการสอบไล่ความรู้นักเรียนกฎหมาย

3.  ช่วยปฏิรูปด้านการศาลและกฎหมายจนสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 5  ช่วยให้คำแนะนำจัดระเบียบศาล

4. เป็นกรรมการตรวจชำระพระราชกำหนดกฎหมายเก่า

5. ถวายโครงการศึกษาแก่พระราชโอรส รัชกาลที่ 5

ในปี พศ. 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น  เจ้าพระยาอภัยราชาสยามนุกูลกิจ  สกลนิติธรรมศาสตราจารย์  มหิบาลสวามิภักดิ์  ปรมัคราชมนตรี   อภัยพิริยปรากรมพาหุ  ครุฑนาม ซึ่งมีความหมายว่า  ผู้ไม่มีภัยต่อพระราชา มีกิจอันอนุกูลแก่สยาม เป็นอาจารย์กฎหมายนานาประเทศ มีความภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างมาก   เป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดินผู้เลิศยิ่ง  มีความหมั่นเป็นผู้กล้า แลความหมั่นก้าวไปในเบื้องหน้าอันไม่มีภัย  เป็นเครื่องนำราชการไป

เนื่องจากท่านเป็นชาวเบลเยี่ยมมาอยู่ไทยซึ่งอากาศร้อน และท่านเริ่มชราภาพแล้ว ทำให้สุขภาพมีปัญหาจึงเดินทางกลับเบลเยียม    ด้วยความดีของท่านที่ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง จึงได้มีการสร้างรูปจำหลักศิลาของท่าน คู่กับพระรูปกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธ์  ไว้เป็นที่ระลึก ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม

ใครอยากเห็นท่านมาดุรูปปั้นที่หล่อใหม่ ได้ในห้องสมุดสัญญาฯ  ชั้น 2 นะคะ

บรรณานุกรม

“เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์) “    วารสาร  นิติศาสตร์     33, 3 (ก.ย.46) 624-631.

ราชบุรีดิเรกฤทธิ์,กรมหลวง    เปิดพระรูป เล็กเชอร์กฎหมายที่ดินและ         กฎหมายผัวเมีย.    ม.ป.ท., 2502