llll สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน วันนี้บรรณารักษ์ตัวจิ๋วมีข่าวมาบอก……..
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาได้มีการประชุม แถลงข่าว “ผลวิจัย การอ่าน คนไทยอ่านอะไร” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ ดำเนินการวิจัยโดย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธุรกิจ ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)
โดยผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยภายใต้งานวิจัย “การศึกษาพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย” โดยได้สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเป้าหมายอายุ 15-69 ปี รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,432 ตัวอย่าง จาก 8 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ในประเทศไทย
พบว่า พฤติกรรมการอ่านโดยทั่วๆ ไป ของคนไทย ซึ่งรวมไปถึงตำราเรียน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นเช่นเว็บไซต์ ฯลฯ ส่วนใหญ่ 88% ระบุว่า อ่าน อีก 12% ระบุ ไม่อ่านเลย โดยให้เหตุผลในเรื่องของการไม่มีเวลาอ่าน สายตาไม่ดี และไม่ชอบอ่านหนังสือ
เมื่อพิจารณาเฉพาะการอ่านหนังสือ (หนังสือนอกเวลาเรียน หรือเวลาทำงาน เฉพาะที่เป็นเล่มทั้งแบบพิมพ์ด้วยกระดาษและ e-book) พบว่า กลุ่มอ่านหนังสือเป็นประจำ (มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์) มีเพียง 40% ของประชากร (คนไทยเฉพาะที่อ่านหนังสือ ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ย 46 นาทีต่อวัน) อีก 20% อ่านหนังสืออยู่บ้าง (น้อยกว่า 3 วันต่อสัปดาห์) ขณะที่ 39.7% ไม่อ่านหนังสือเลย
และเมื่อสำรวจระยะเวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวัน พบว่า ระยะเวลาของคนไทย (ที่มีอายุ 15 -69 ปี) ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 28 นาที ลดลงจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2556 ที่พบผู้อ่านหนังสือเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน
สำหรับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตกับการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ พบว่า เกือบครึ่ง หรือ 41.4% ระบุ อ่านหนังสือที่เป็นกระดาษน้อยลง โดยส่วนใหญ่หันไปอ่านเว็บข่าว และเว็บรวบรวมข่าวแทน นั่นหมายความว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 5 ยอมรับการใช้อินเตอร์เน็ตมีผลให้อ่านหนังสือเล่มน้อยลง
หากเปรียบเทียบพฤติกรรมการอ่านหนังสือกับการใช้อินเตอร์เน็ต หมายถึงเฉพาะคนในเขตเมือง จะพบว่า คนไทยกว่า 71% ใช้อินเตอร์เน็ตและใช้เกือบทุกวัน โดยมีระยะเวลาการใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 92 นาทีต่อวัน หรือมากกว่าการอ่านหนังสือ 3 เท่าตัว
ซึ่งน่าสนใจที่ว่า คนอายุต่ำกว่า 20 ปี มีระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดอยู่ที่ 224 นาทีต่อวัน หรือเกือบ 4 ชั่วโมง ทั้งนี้ข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตนั้น แม้จะไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นไปเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการทำงาน ผลสำรวจนี้บอกได้แต่เพียงว่า เวลาว่างของคนไทย ถูกใช้ไปกับอินเตอร์เน็ตมากกว่าการอ่านหนังสือมาก
ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้รับผิดชอบงานวิจัย กล่าวถึงคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาก อินเตอร์เน็ตโดยปกติไม่ได้ทดแทนหนังสือโดยตรง ตัวอินเตอร์เน็ตจะไปทดแทนนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เป็นหลัก เฉพาะนั้นผลกระทบที่ส่งถึงตลาดหนังสือคือ คนมีเวลาว่างจำกัด จากเดิมถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ตก็จะอ่านหนังสือ อินเตอร์เน็ตจึงมาผ่านการใช้เวลาว่าง
“นโยบายรัฐฯควรจะสนับสนุน ให้หนังสือที่ดีมีราคาถูกลง และส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน เพราะช่วงอายุก่อน 7 ขวบเป็นช่วงเวลาทอง เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ ถ้าฝึกให้เด็กอ่านหนังตั้งแต่ก่อน 7 ขวบ โตขึ้นเขาก็จะได้รักการอ่านไปตลอด ชีวิต การอุดหนุนหนังสือเด็กจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง”
ด้านดร.มิ่งมานัส ศิวรักษ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ กล่าวถึงพฤติกรรมการซื้อหนังสือของไทยว่า คนไทยจะซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุด คือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือ คนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ6 เล่ม และค่อยๆลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปี ขึ้นไปจะกลับมาซื้อเพิ่มเป็นเฉลี่ย 4 เล่มต่อปี
“หากหนังสือที่เกิดการซื้อได้รับการอ่านครบทุกเล่มก็ยังถือได้ว่า การอ่านของคนไทยเมื่อนับเป็นจำนวนเล่มอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และเป็นที่น่าสนใจว่าเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้นจำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน นิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ”
จากผลสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อ่านในข้างต้น อาจถึงเวลาแล้วที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอย่างเราต้องปรับเปลี่ยนการให้บริการสารสนเทศในห้องสมุดที่มีอยู่อย่างมากมายว่าจะสามารถทำอย่างไรเพื่อให้ โดนใจ+เข้าถึง ลูกค้า หรือ ผู้ใช้บริการ ในยุคดิจิตอลมากที่สุด
“The more that you read, the more things you will know.
The more that you learn, the more places you’ll go.” by Dr. Seuss
**ผู้สนใจสามารถอ่านงานวิจัยได้ที่ https://drive.google.com/file/d/0B2VTRflS5U4mcE5uMFVjdHBJNEE/view และ https://drive.google.com/file/d/0B2VTRflS5U4mTzhNSG9oalVzd0k/view
ที่มา :
Forbes Thailand staff. (2558). การอ่านหนังสือของคนไทย ปี 2557-2558. ค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2558 , จาก Forbes Thailand เว็บไซต์: http://www.forbesthailand.com/leader_inside.php?leaderboard_id=9
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT), คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ECON CHULA), และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB). (2558). การศึกษาพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย. ค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2558, จาก https://drive.google.com/file/d/0B2VTRflS5U4mTzhNSG9oalVzd0k/view