มาสวดมนต์กันเถอะ

 

a

ท่าน ว.วชิรเมธี เคยกล่าวถึงเรื่องการสวดมนต์ไว้ในการปาฐกถาธรรมครั้งหนึ่งว่า “มนต์ คือ พุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ถ้าสวดมนต์แบบไม่มีปัญญา เรียกว่า มนต์คาถา แต่ถ้าสวดอย่างมีปัญญา มีความเข้าใจในพุทธธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเราถึงจะเรียกว่า พุทธมนต์”

ทุกวันนี้เราต้องตรองดูว่า กำลังสวดพุทธมนต์ หรือมนต์คาถา ถ้าการสวดมนต์ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เปลี่ยนความคิดให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นก็เรียกได้ว่าสวดมนต์อย่างถูกต้องถูกทาง”

การสวดมนต์อย่างมีปัญญา จะเป็นโอกาสให้เราได้ระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนได้ตระหนักถึงความดีของพระองค์และพระสงฆ์สาวก จึงนับได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นกุศลอย่างยิ่ง และมีคุณเทียบเท่ากับการได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตัวเองเลยทีเดียว

การสวดมนต์จะเป็นการกระทำที่ถึงพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ อันนำไปสู่กุศลได้ดังนี้

๑. การไหว้ กราบ ด้วยกริยาอันแสดงถึงความเคารพสำรวมต่อสิ่งที่ควรเคารพด้วยการนั่งในท่วงท่าที่เหมาะสม ประนมมือในระดับอก ฯลฯ อันจัดว่าเป็นการทำความดีทางกาย
๒. การเปล่งเสียงสวดมนต์ เพื่อสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ด้วยน้ำเสียงอันชัดถ้อยชัดคำอย่างถูกอักขรวิธี ซึ่งจัดว่าเป็นการทำความดีทางวาจา
๓. การตั้งจิตเป็นสมาธิ เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอน และคุณความดีของพระสงฆ์ ซึ่งจัดว่าเป็นการทำความดีทางจิตใจ
หากการสวดมนต์ครั้งใดประกอบขึ้นด้วยปัจจัยทั้ง ๓ อย่างครบถ้วน กุศลย่อมบังเกิดแก่ผู้สวดแน่นอน

อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ กล่าวไว้ในหนังสือ สามมนตร์คาถาศักดิ์สิทธิ์สำหรับครอบครัววัยโจ๋ ว่า การสวดมนต์นอกจากจะทำให้เกิดสมาธิได้อย่างดีแล้ว การสวดมนต์ยังมีผลดีต่อร่างกายด้วย ดังมีหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ที่สวดมนต์บ่อยๆ และเปล่งเสียงดังๆ อย่างถูกต้องตามฐานที่เกิดของเสียง (ฐานกรณ์) จะเกิดพลังของการสั่นสะเทือนขึ้น เพราะเสียงอักขระแต่ละตัวมีน้ำหนัก หนัก-เบาไม่เท่ากัน แรงสั่นสะเทือนเหล่านี้จำทำให้ต่อมในร่างกายที่ฝ่อ หรือทำงานด้อยลงไปจากปกติถูกกระตุ้น และหากถูกกระตุ้นด้วยแรงสั่นสะเทือนบ่อยครั้งเข้า ต่อมที่มีปัญหานั้นก็จะค่อยๆฟื้นคืนสภาพได้

ในขณะเดียวกัน การสวดมนต์ยังเป็นการฝึกหายใจที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง เมื่อได้ฝึกหายใจให้ถูกต้องก็จะทำให้ระบบหายใจเป็นไปตามธรรมชาติ ร่างกายจึงสูบฉีดโลหิตและขับของเสียในร่างกายออกมาได้อย่างเป็นปกติ จึงนับเป็นการสร้างเสริมอวัยวะส่วนที่บกพร่องให้มีการทำงานที่ดีขึ้นด้วย

งานวิจัยเรื่อง การปฏิบัติสมาธิเพื่อการเยียวยาองค์รวม ของรองศาสตราจารย์ ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับการฝึกสมาธิ ได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของสมองหลังจากได้รับการกระตุ้นด้วยคลื่นเสียงไว้ว่า เมื่อสมองได้รับการกระตุ้นด้วยคลื่นเสียงช้าๆอย่างสม่ำเสมอประมาณ ๑๕ นาทีขึ้นไป จะทำให้เซลล์ประสาทสังเคราะห์สารสื่อประสาทหลายๆชนิดออกมา โดยเฉพาะบริเวณก้านสมองที่จะหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ เซโรโทนิน ออกมามากขึ้น สารนี้มีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ ช่วยลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยขยายเส้นเลือดทำให้ความดันโลหิตลดลงและจดจำสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น ลดปริมาณของสารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นการทำงานของต่อมหมวกไต ส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานน้อยลง ร่างการจึงรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง และไม่เครียด

ผลดีต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายจากการสวดมนต์ ล้วนเกี่ยวข้องกับการเปล่งเสียงทั้งสิ้น ดังนั้นการออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิธีอย่างช้าๆ ชัดๆ และเต็มปากเต็มคำด้วยเสียงอันดังทุกครั้งที่สวดมนต์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เราซึ่งเป็นผู้สวดได้ยินเสียงสวดของตัวเองอย่างชัดเจน และได้รับประโยชน์จากการสวดมนต์อย่างเต็มที่ มิใช่แค่สวดในใจ สวดแบบพึมพำๆ ทำปากขมุบขมิบ หรือสวดออกเสียงแบบลวกๆ เร็วๆชนิดแทบไม่หายใจ แบบสักแต่สวดให้ผ่านๆไป ทำเช่นนั้น การสวดมนต์ย่อมมีประโยชน์ไม่มากไปกว่าแค่ให้คนสวดนำไปอ้างได้ว่า “ฉันก็สวดมนต์แล้วเหมือนกัน” เท่านั้นเอง

การสวดมนต์ให้ได้ผลดี เกิดอานุภาพในการป้องกัน หรือต้านทานสิ่งไม่เป็นมงคลได้นั้น ผู้สวดควรยึดหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑. มีความเชื่อมั่นและศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
๒. ขณะสวดมนต์จิตต้องอ่อนโยน มีเมตตา ไม่โลภเห็นแก่ลาภสักการะ
๓. ขณะสวดมนต์จิตต้องเป็นสมาธิ มั่นคง และแน่วแน่
๔. สวดมนต์ด้วยเสียงที่ดังพอให้ได้ยินเสียงตัวเอง
๕. สวดมนต์แบบ “รู้และเข้าใจ” ความหมายของบทสวด เพื่อให้ได้ปัญญา เกิดความรู้ ไม่ใช่สวดแบบนกแก้วนกขุนทอง

ถ้าทำได้ตามนี้ นอกจากการสวดมนต์จะเป็นการสร้างกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่แล้ว ยังจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพและบำบัดโรคให้แก่ร่างกายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

รายการอ้างอิง:

วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ และวิรัช นุโยค. สวดเป็นเห็นผลทันตา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ, ๒๕๕๗.

สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี. การปฏิบัติสมาธิเพื่อการเยียวยาองค์รวม (Meditation for holistic self healing and cells healing) เข้าได้ถึงจาก www.intania.com/upload/scripts/my…/my…/mind_development.ppt

เสฐียรพงษ์ วรรณปก. สามมนตร์คาถาศักดิ์สิทธิ์สำหรับครอบครัววัยโจ๋. กรุงเทพฯ : กองทุนอริยมรรค, ๒๕๔๙.

 viewimg