Connecting people to people, knowledge and country: ภารกิจของหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 13-14 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม OCLC 2014 Asia Pacific Regional Council Membership Conference 6th ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ก็เลยอยากจะเล่าสู่กันฟังถึงหนึ่งในหัวข้อของการประชุมในวันนั้น ซึ่งก็คือ หัวข้อการบรรยายของ Mr. Beh Chew, Leng ที่ปรึกษาหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ เรื่อง Connecting people to people, knowledge and country

10743326_933673519993340_1663392142_n

สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผู้คนมีระเบียบวินัย ใฝ่หาความรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนให้กับประชากรของประเทศ

อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันในเรื่องของการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของประชาชน นั่นก็คือ หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ และภายใต้การบริหารของบอร์ดชุดเดียวกันนี้ ก็ยังมีห้องสมุดประชาชนอีกจำนวน 25 แห่ง และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Mr. Beh Chew, Leng เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกระตุกต่อมคิดของคนทำงานห้องสมุดว่า ถ้าพูดถึงห้องสมุดแล้วจะต้องนึกถึงหนังสือ นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือเปล่า? ไม่ล้าสมัยไปนะ?

หลังจากนั้นก็ให้ดูสถิติการใช้ Smart Phone บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและ 3G ของประเทศสิงคโปร์ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเปลี่ยนรูปแบบของหนังสือจากตัวเล่มไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทำให้คนสิงคโปร์ในยุคสมัยนี้ ใช้บริการห้องสมุดเสมือนหรือบริการออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ โดยการสืบค้นข้อมูลจากที่บ้าน ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ที่มี ห้องสมุดกลายเป็นสถานที่พบปะพูดคุยแทนที่จะเป็นแหล่งบริการสารสนเทศเหมือนสมัยก่อน

หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์จึงต้องทบทวนภารกิจของหอสมุดอีกครั้ง ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะสามารถรักษาความเกี่ยวเนื่อง (Relevant) และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Customers) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ของหอสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                เพื่อให้บรรลุภารกิจการเชื่อมห้องสมุดกับผู้ใช้ หอสมุดได้จัดให้มีการปรับพื้นที่บางส่วนของห้องสมุดให้กลายเป็น Smart office เพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้ผู้ใช้พบปะพูดคุย หรือทำงานร่วมกัน จัดพื้นที่ให้ Young generation ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น แสดงผลงานทางศิลปะ แสดงดนตรี รวมถึงการจัดให้มีพื้นที่สำหรับครอบครัวให้ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ห้องสมุดจัดเตรียมไว้

                ในส่วนของการการเชื่อมต่อผู้คนกับความรู้ ผู้บรรยายเล่าว่าหอสมุดจะต้องจัดเตรียมทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาลุ่มลึก เชื่อถือได้ ครอบคลุมสหสาขาวิชา อยู่ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งอิเล็กทรอนิกส์และฉบับพิมพ์ นอกจากนี้ยังต้องมีกิจกรรมต่างๆ ที่มีประโยชน์ไว้ให้ผู้ใช้อีกด้วย

ภารกิจสุดท้าย คือ การเชื่อมต่อผู้คนกับประเทศชาติ ผู้บรรยายยกตัวอย่างวิธีการที่หอสมุดทำ คือ การสร้าง เว็บไซต์ที่ชื่อว่า I remember Singapore ซึ่งใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บความทรงจำ ประสบการณ์ที่ล้ำค่า โดยใครก็ได้ที่อยากจะแชร์ให้คนอื่นได้รับรู้ถึงแง่มุม ความรู้สึกนึกคิด ความประทับใจที่ตัวเองมีต่อสิงคโปร์ ก็สามารถมาเขียนลงในเว็บไซต์นี้ได้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม