ห้องสมุดตามบ้าน (Home library)

พระราชนิพนธ์ เรื่อง โรมัญสัญจร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงขึ้นเมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศอิตาลีระหว่างวันที่ 3-16 เมษายน พ.ศ. 2531 เพื่อทรงร่วมเป็นกรรมการตัดสินหนังสือเด็กของ International Board on Books for Young People (IBBY) ณ เมืองโบโลญญา ด้วยความสนพระทัยในการส่งเสริมการอ่านและห้องสมุดเด็ก พระองค์ได้มีพระราชดำรัสถามคุณเพลลูสกี้ (Ms. Anne Pellewski) ผู้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินฯ ชาวอเมริกัน ให้อธิบายเรื่อง Home library หรือห้องสมุดตามบ้าน ซึ่งคุณเพลลูสกี้ไปจัด workshop ที่ไนจีเรีย ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พระองค์ทรงบันทึก ดังนี้ [1]

“ระบบห้องสมุดแบบนี้ คือ การหัดให้ชาวบ้าน (ส่วนใหญ่เป็นพวกแม่บ้าน) ให้รู้จักเล่านิทาน เขาจัดเป็น workshop ประมาณ 5-7 วัน บรรยากาศไม่ให้เคร่งเครียดนักเป็นการคุยกันเล่น ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร เขามีวิธีการ คือ ชาวบ้านจะรวบรวมหนังสือส่วนตัวหรือหนังสือที่มีผู้บริจาค หรืออาจจะยืมจากห้องสมุด แล้วป่าวประกาศให้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ มาอ่านหนังสือกัน ผู้ที่ทำหน้าที่บรรณารักษ์จะต้องมีเทคนิคในการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เล่าเรื่องให้เด็กสนใจอยากฟังและอยากอ่านต่อเอง เขาแนะนำให้ทำหนังสือขึ้นมาเอง โดยการนำเรื่องที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นมาเขียนบันทึกไว้”

เมื่อนึกภาพตอนที่ผู้ใหญ่ อ่านนิทานหรือหนังสือให้เด็กๆ ฟัง ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง You’ve got mail ที่นางเอกเมก ไรอัน เจ้าของร้านหนังสือเด็ก นั่งเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง ชอบบรรยากาศแบบนั้นจัง รู้สึกอบอุ่น เด็กๆ ก็ชอบ คนเล่าก็ต้องมีเทคนิคที่จะให้เด็กๆ ติดใจ อยากอ่านหนังสือนิทานเรื่องนั้นๆ ต่อ หรือหาหนังสืออ่านเพิ่มเอง จากการกระตุ้นให้รักการอ่านจากการฟังนิทานนั่นเอง แต่สุดท้ายร้านหนังสือเด็กของนางเอก เมก ไรอัน ก็ต้องปิดกิจการไป เนื่องจากร้านหนังสือที่ใหญโตกว่าของพระเอก ทอม แฮงค์ส เข้าลักษณะปลาใหญ่ กินปลาเล็ก

เรื่องการเล่านิทาน โดยให้ผู้ปกครองเป็นผู้เล่าเอง หรือให้เด็กๆ อ่านนิทานบนกระดาษ มากกว่าจะให้เด็กๆ อ่านจากหน้าจอนั้น จากการวิจัยพบว่า [2] เด็กๆ ที่อ่านนิทานบนกระดาษสามารถจดจำรายละเอียดได้ดีกว่ากลุ่มเด็กที่อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ปรุงแต่งด้วยภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ และเกมส์ และในการสำรวจติดตามพ่อแม่ 1,226 คน พ่อแม่เหล่านี้ยังนิยมอ่านหนังสือนิทานกับลูกหลานด้วยกันมากว่าการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลการศึกษาโดยจูเลีย แพร์ริช-มอร์ริส และเพื่อนร่วมวิจัย พบว่า พ่อแม่จะสอดแทรกการเล่าเรื่องชีวิตที่ผ่านมาให้ลูกหลานฟังไปด้วย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะทำให้พ่อแม่เสียจังหวะในการอ่านนิทานแบบนี้ เพราะมัวแต่คอยห้ามเด็กๆ ไม่ให้กดปุ่มนั้นปุ่มนี้ เสียจังหวะในการเล่าเรื่องเสมอ การเสียสมาธิการอ่านแบบนี้ทำให้เด็กไม่เข้าใจแม้แต่ใจความสำคัญของนิทาน ตรงกันข้ามกันเด็กที่อ่านหนังสือนิทานกลับติดตามเรื่องราวได้ดี

ยังอยากเห็นภาพพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง เล่านิทานหรืออ่านหนังสือจากกระดาษให้เด็กๆ ฟังมากกว่าที่จะปล่อยให้อ่านเองจากจอ หรือจะทำแบบห้องสมุดตามบ้าน ก็น่าจะสนับสนุน คนไทยยิ่งอ่านหนังสือกันไม่มากอยู่ด้วยซิ

รายการอ้างอิง

เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. โรมัญสัญจร. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2531.

Jabr, Ferris. Why the Brain Perfers Paper. Scientific American, Nov 2013.

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2558 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ด้วยการจัดกิจกรรมรวมรวบความรู้จากเว็บไซต์และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ตอนที่  44)