วิทยากรแนะนำฐานข้อมูล : ประสบการณ์จากหอสมุดป๋วยฯ

ขอแชร์ประสบการณ์ของการเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์และโปรแกรมช่วยการวิจัยของสำนักหอสมุด ในมุมของผู้เขียนเองที่ทำหน้าที่นี้มาประมาณ 7 ปีแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมตัวทุกครั้งก่อนจะออกไปสอน คือ

284817_10150262572679916_2542849_n

1) ต้องมีความรู้ในเรื่องที่เรากำลังจะถ่ายทอด จะต้องหมั่นศึกษาฐานข้อมูลและโปรแกรมช่วยการวิจัยต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ คอยตรวจสอบว่าฐานข้อมูลมีการอัพเดทหรือไม่ ถ้ามีการอัพเดทก็จะต้องเข้าไปเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อน เพราะเมื่อเรามีความเข้าใจในเนื้อหาอย่างดีแล้ว ก็จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในการแนะนำผู้ใช้ต่อไป

2) ต้องลำดับเนื้อหาในการฝึกอบรมให้มีความต่อเนื่อง ไม่กระโดดข้ามเนื้อหาไปมา เพราะจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมสับสนในเนื้อหาได้

3) จะต้องเป็นคนถ่ายทอดเป็น อันนี้สำคัญที่สุดเนื่องจากการวัตถุประสงค์ของการสอนการใช้ฐานข้อมูล ก็เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมนั้น สามารถใช้ฐานข้อมูลเพื่อสืบค้นข้อมูลได้ด้วยตนเองหลังจากจบการฝึกอบรมไปแล้ว หน้าที่ของวิทยากรคือการพูดเรื่องที่เข้าใจยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย ต้องพูดจาฉะฉาน จุดเน้นอยากจะเน้นเป็นพิเศษก็ใช้น้ำเสียงให้หนักเบาช่วยได้ ที่สำคัญอย่าพูดเร็ว เพราะผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะตามไม่ทัน

4) ในขณะที่สอนก็ต้องดูท่าทีของคนที่รับการอบรมว่ามีท่าทางอย่างไรบ้าง กำลังง่วงเหงาหาวนอนหรือสนใจฟังในสิ่งที่เรากำลังอธิบาย ถ้าหากว่ากำลังง่วง เราก็อาจจะต้องพักเบรกเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ผ่อนคลายอิริยาบถบ้าง ถ้าหากคลาสไหนเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ อันนี้ต้องประสานกับผู้ช่วยวิทยากรให้ดีว่าผู้รับการฝึกอบรมตามทันหรือไม่

154547_469952459915_8301989_n

5) จะต้องมีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย ผู้เข้ารับการอบรมบางคนหัวไว เรียนรู้เร็ว แต่บางคนอาจจะไม่เข้าใจ ต้องมีการซักถาม หรือขอให้เราอธิบายอีกที ตรงนี้คนเป็นวิทยากรก็จะต้องเป็นคนที่ใจเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใส คอยช่วยเหลือด้วยน้ำใจเมตตา ไม่หงุดหงิดที่จะต้องอธิบายเนื้อหาซ้ำๆ

284198_10150262572644916_6577669_n

6) ยอมรับในความเป็นตัวเองและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเป็นวิทยากร กล่าวคือ ถ้าธรรมชาติของเราไม่ใช่คนตลก แต่เราอยากจะลองตลกดูบ้างเพื่อสร้างบรรยากาศของการฝึกอบรมให้มีความสนุกสนานและเป็นกันเอง ซึ่งตรงนี้ต้องระวังให้ดี ถ้าเราทำตลกได้ไม่แนบเนียน ผู้เข้ารับการฝึกอบรมอาจจะดูออกว่าเรากำลังฝืนทำ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ดีเท่ากับการที่เราสอนในรูปแบบที่เป็นตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น บุคลิกภาพของเราเป็นคนจริงจัง มีมาดของนักวิชาการ เราก็สามารถเป็นวิทยากรในรูปแบบวิชาการได้ แต่ก็ต้องระวังอย่าให้เคร่งเครียดจนเกินไป มิฉะนั้นบรรยากาศของห้องเรียนจะดูเข้มข้นจริงจัง ชวนให้เบื่อหน่าย

เมื่อสอนเสร็จแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษก็คือ comment ของผู้รับการฝึกอบรมที่เราสามารถจะนำมาปรับปรุงเพื่อให้การเป็นวิทยากรในครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องบอกว่า comment นี้มีประโยชน์มากๆ
ผู้เขียนเองก็เคยได้นำ comment มาปรับใช้กับตัวเองอยู่บ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปีแรกๆ ของการฝึกเป็นวิทยากร comment ที่จะได้รับเสมอคือ พูดเร็วเกินไป ตามไม่ทันค่ะ เราก็จะรู้ว่าต่อไปเราจะต้องพูดช้าๆ ชัดๆ ซึ่งก็ได้ผลดี เพราะตอนนี้ไม่มี comment เรื่องพูดเร็วแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคำชมมากกว่า เช่น วิทยากรน่ารักจังค่ะ อธิบายดีมากค่ะ ขอบคุณมากค่ะ มีประโยชน์มากเลย ฯลฯ เชื่อว่าถ้าใครเป็นวิทยากรและได้รับ comment แบบนี้ก็คงจะทำให้กำลังใจและอยากทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ส่วนตัวมองว่าการทำอะไรก็ตาม ถ้าหากเราหมั่นฝึกฝน เราจะเกิดความชำนาญในสิ่งนั้นเอง จากที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นวิทยากรไม่ได้ ทุกวันนี้ก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง อาจจะยังไม่ดีที่สุด แต่ก็จะพยายามฝึกฝนต่อไป สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจเล็กๆ ให้กับทุกคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทของการเป็นวิทยากรต่อไปนะคะ Fighting!!!