พูดแบบ TED

Talk like TED (พูดแบบ TED)
Talk like TED (พูดแบบ TED)

พูดแบบ TED หรือ Talk like TED : The 9 Public Speaking Secrets of the World’s Top Minds ได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รีบอ่าน แต่กว่าจะอ่านจบก็ล่วงเลยมาหลายวันเหมือนกัน เพราะอ่านๆ หยุดๆ อ่านข้ามๆ ก็ไม่ได้ เพราะมีเรื่องผลการวิเคราะห์จากผู้เขียนที่นำเสนอเข้ามาประกอบ ทำให้ต้องอ่านและทำความเข้าใจไปอย่างช้า

พูดแบบ TED เขียนโดย คาร์ไมน์ แกลโล (Carmine Gallo) ภาษาไทยแปลโดย พลอยแสง เอกญาติ สรุปถึงเคล็ดลับการพูดในที่ชุมชนหรือที่สาธารณะ โดยวิเคราะห์การนำเสนอการพูดของ TED กว่า 500 ชุด และพูดคุยกับผู้พูดของ TED ที่ประสบผลสำเร็จ รวมทั้งยังสัมภาษณ์นักประสาทวิทยา นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารชั้นนำระดับโลกเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใด แนวคิดซึ่งเป็นพื้นฐานขององค์ประกอบเหล่านี้ถึงได้มีความสำคัญ สรุปได้ว่า การนำเสนอที่ได้รับความนิยมสูงสุดของ TED มีองค์ประกอบร่วมกัน 9 ประการ

การนำเสนอที่สะกดใจมากที่สุด คือ การนำเสนอที่

เข้าถึงอารมณ์ (สัมผัสหัวใจ)

1. ปลดปล่อยผู้เชี่ยวชาญในตัวคุณ จะพูดได้ดี เมื่อมีความหลงใหลในเรื่องที่จะพูด เพราะจะมีความมั่นใจในการพูดในฐานะผู้เชี่ยวชาญตัวจริง

2. ฝึกศิลปะการเล่าเรื่องให้เชี่ยวชาญ ต้องทำให้คนเชื่อใจก่อน จะพูดจูงใจให้คนฟัง ตามหลักของ พาธอส อริสโตเติล ซึ่งเชื่อว่า การจูงใจจะเกิดขึ้นเมื่อมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ ธีออส (ethos) คือ ความน่าเชื่อถือ เรามีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับคนที่เรานับถือในความสำเร็จ ตำแหน่ง ประสบการณ์ ฯลฯ โลกอส (logos) คือ วิธีการจูงใจผ่านหลักเหตุผล ข้อมูล และสถิติ ส่วนพาธอส (pathos) คือ การแสดงออกที่เข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก

เรื่องเล่า 3 ประเภทที่เรียบง่ายและได้ผล ประเภทแรก คือ ใช้เรื่องราวส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่พูด ประเภทที่สอง คือ เรื่องราวเกี่ยวกับคนอื่นที่ให้บทเรียนซึ่งเชื่อมโยงถึงคนฟัง ประเภทที่สาม เกี่ยวกับความสำเร็จหรือความล้มเหลว

3. พูดได้เหมือนบทสนทนา ฝึกซ้ำๆ และจำเนื้อหาให้ขึ้นใจ นำเสนออย่างสบายๆ เหมือนกำลังสนทนากับเพื่อนสนิท บันทึกภาพเวลาฝึกพูด องค์ประกอบ 4 ประการในการถ่ายทอดข้อมูลผ่านคำพูด คือ อัตราเร็ว (ระดับความเร็วที่พูด) คามดัง (เสียงดังหรือเบา) ระดับเสียง (ใช้เสียงสูงหรือต่ำ) และ การเว้นจังหวะ (หยุดพูดในช่วงสั้นๆ เพื่อเน้นคำสำคัญ)
แปลกใหม่ (สอนเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน)

4. สอนเรื่องใหม่ให้ฉันรู้ ให้ข้อมูลใหม่แกะกล่อง จัดรูปแบบนำเสนอให้แตกต่าง หรือนำเสนอวิธีการแปลกแหวกแนวเพื่อแก้ปัญหาเก่า
5.  สร้างช่วงเวลาชวนอ้าปากค้าง คือ ตอนที่ผู้พูดทำสิ่งที่น่าตกใจ น่าประทับใจ หรือสร้างความประหลาดใจให้อย่างสะเทือนอารมณ์และน่าจดจำ ไปอีกนานหลังการนำเสนอสิ้นสุดลง
6. ผ่อนคลาย อย่าเคร่งเครียดกับตัวเองหรือหัวข้อที่พูดมากเกินไป สร้างอารมณ์ขัน ให้ผู้ฟังได้มีเรื่องให้ยิ้มบ้าง

น่าจดจำ (นำเสนอเนื้อหาในแบบที่ลืมไม่ลง)

7. ยึดมั่นในกฎ 18 นาที 18 นาทีเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการนำเสนอข้อมูล หากต้องพูดนานกว่านั้นให้คั่นด้วยเรื่องอื่น เช่น เรื่องเล่า วิดีโอ การสาธิต ทุก 10 นาที

การใช้กฎ 3 ข้อกับแผนที่ข้อความ
ข้อที่หนึ่ง พาดหัวที่เหมาะสำหรับทวิตเตอร์ (ห้ามเกิน 140 ตัวอักษร)
ข้อที่สอง หาสาระสามข้อมาสนับสนุนหัวข้อที่พูด
ข้อที่สาม เสริมสารทั้งสามด้วยเรื่องเล่า สถิติ และตัวอย่าง

8. วาดภาพในใจด้วยประสบการณ์หลากผัสสะ หาองค์ประกอบที่เข้าถึงประสาทสัมผัสมากกว่าหนึ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง สัมผัส รส และกลิ่น

9. เดินในทางของตน มีความเป็นตัวตนของคุณ เปิดเผย และโปร่งใส

ในเล่มมีการนำเสนอของ TED ยกเป็นตัวอย่างประกอบ น่าศึกษาและฝึกดูค่ะ