หนังสือต้องห้ามหมายถึง เอกสารและสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิด ซึ่งเสนอข่าวสารบทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติหรือชี้นำให้ผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ อันจะเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติไม่ว่าในวิถีทางใด ให้เก็บริบและทำลายให้หมดสิ้น (คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่3)
จากประกาศของรัฐบาลที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดในขณะนั้นคืออาจารย์ผกายวรรณ เจียมเจริญ มีคำสั่งลงวันที่ 5 กันยายน 2523 ”ให้ทุกห้องสมุดรวบรวมหนังสือต้องห้ามส่งห้องสมุดกลาง”
ฝ่ายจัดหมู่และทำบัตรรายการ (เป็นชื่อในขณะนั้น) ก็มีงานเข้ามาทันที เริ่มต้นจากเอารายชื่อหนังสือต้องห้ามทั้งหมดมาเก็บบัตรรายการ โดยตรวจสอบจากชื่อเรื่องและดึงบัตรชื่อเรื่องทั้งหมดออกมาก่อน และนำบัตรชื่อเรื่องให้เจ้าหน้าที่ไปดึงบัตรให้ครบชุด และส่งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเลขหมู่และชื่อเรื่องให้ตรงกัน เก็บหนังสือและบัตรชุดมาให้บรรณารักษ์ตรวจสอบอีกครั้ง นำเล่มและบัตรชุดเก็บใส่ลังกระดาษไว้ ในเวลานั้นมีข่าวลือมากมาย ว่าสันติบาลเข้าค้นห้องสมุดหลายแห่งและยึดหนังสือไป บางห้องสมุดและคนที่เก็บหนังสือชื่อเหล่านี้ ก็นำหนังสือเหล่านี้มาเผาทำลาย โยนน้ำแล้วแต่ใครจะคิดวิธีทำลายวิธีใดได้ก็ทำไป สำหรับสำนักหอสมุดใช้วิธีเก็บไว้ในห้องหายาก และจัดทำบรรณานิทัศน์ไว้ ถ้าผู้ใช้คนใดต้องการศึกษาก็จะต้องทำหนังสือจากคณะมาและนั่งอ่านในห้องหายากเท่านั้น ห้ามยืม ห้ามถ่าย เอกสาร ต้องคัดลอกด้วยมือ เพราะถ่ายเอกสารและยืมออกได้จะทำให้ห้องสมุดมีความผิดในฐานะเป็นผู้ให้การเผยแพร่ทันที
หนังสือต้องห้ามที่มีให้บริการของสำนักหอสมุดมี 179 ชื่อเรื่อง จากรายชื่อหนังสือที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งหมด 300 ชื่อเรื่อง นับได้ว่ามีหนังสือต้องห้ามที่สำนักหอสมุดถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
หมายเหตุ : รายชื่อราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศรายชื่อต้องห้าม
- ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม94 ตอนที่18 11 มีนาคม 2520 เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ ที่ห้ามมี ให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง จำนวน 100 รายการ
- ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม94 ตอนที่17 19 ตุลาคม 2520 ประกาศวันที่ 6 ตุลาคม 2520 จำนวน 104 รายการ
- ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม 97 ตอนที่ 95 24 มิถุนายน 2523 ประกาศวันที่ 24 มิถุนายน 2523 จำนวน 96 รายการ