ชั่วชีวิตหนึ่ง ก.สุรางคนางค์

spd_20130710223450_b

ชั่วชีวิตหนึ่ง ก.สุรางคนางค์  เป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เป็นกรณีพิเศษ นางกัณหา (บูรณปกรณ์) เคียงศิริ  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพ.ศ. ๒๕๒๙    โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง วันพุธที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

เนื่องจากเราเป็นครอบครัวที่รักหนังสือและรักการอ่านกันทุกคน คุณแม่ก็เป็นอดีตบรรณารักษ์ จึงมีผู้ที่มีอาชีพรับซื้อขายกระดาษเมื่อได้หนังสือมาคราวละหลาย ๆเล่ม ก็มักจะแวะเวียนมาให้คุณแม่ดูและเลือกซื้ออย่างสม่ำเสมอ จนบางครั้งฉันเองยังชอบล้อคุณแม่ว่าเป็น นักล่าจากซาเล้ง  และนั่นคือที่มาของหนังสือเล่มนี้   หนังสือที่มีปกสวยงามสะดุดตา  จนในครั้งแรกที่เห็นจะไม่มีความคิดที่ว่านี่ เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพเลย  แต่นี่คือหนังสือหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ของ นางกัณหา (บูรณปกรณ์) เคียงศิริ  เจ้าของนามปากกา    “ก.สุรางคนางค์ ” และอีกหลายนามปากกา เช่น“รสมาลิน” สําหรับการเขียนคอลัมน์“นคร สุรพันธ์” สําหรับการเขียนสารคดีและ “มลฤดี” สําหรับการเขียนคอลัมน์ตอบปัญหาในนิตยสารสกุลไทย “กัณหา บูรณปกรณ์”สำหรับบทความทางวิทยุกระจายเสียง  เจ้าของบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียง ที่ถูกนำมาสร้างมาเป็นละครหลายเรื่องและหลายต่อหลายครั้ง เช่น  บ้านทรายทอง ,  พจมาน สว่างวงศ์  ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง  รักประกาศิต  ภูชิชย์-นริศรา  เป็นต้น

โดยทั่วไปหนังสืออนุสรณ์งานศพจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือประวัติและคำไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ และส่วนของเนื้อหาหรือเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าน่าสนใจที่ญาติของผู้วายชนม์จะให้มอบแก่ผู้ที่มาร่วมงานเป็นการแสดงความขอบคุณ  ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ผู้วายชนม์ชื่นชอบ หรือผลงานของผู้วายชนม์เอง     หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน   ในส่วนของชีวประวัติและคำอาลัยของหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้นอกจากจะทำให้ได้ทราบถึงชีวิตความรัก ความเสียสละ และการต่อสู้ของนักเขียนสตรีผู้นี้ที่ เริ่มงานเขียน ด้วยวัยเพียง 17 ปี  อยู่ ม.6 โรงเรียนราชินีบน  เนื้อหาและเรื่องราวต้นกำเนิดของงานเขียนที่มีชื่อเสียงของเธอแล้ว ยังให้ความรู้และแสดงถึงภาวะความเป็นไปของสังคมภาวะเศรษฐกิจผ่านเรื่องราวจุดต่ำสุดของชีวิต “ แม่กับพ่อมีเงินติดตัวแค่  ๘ สตางค์เท่านั้น”   ข้าวต้มกุ๊ย ชามละ  ๑ สตางค์  ถั่วงอกผักหมูจานเล็กๆ จานละ  ๓ สตางค์  การเสียสละแหวนแต่งงานเพื่อร่วมระดมทุนใน เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในยุคของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศสรวมถึงเรื่องราวและเกร็ดความรู้ต่าง ๆในแวดวงวรรณกรรมอย่างมากมาย  เช่น ที่มาของคำว่า นวนิยาย ๑๐ สตางค์ เป็นต้น

ในส่วนของเนื้อหาเป็น นวนิยาย เรื่อง “หญิงคนชั่ว” ของก.สุรางคนางค์ ที่พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๐          งานเขียนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในสมัยนั้น  แต่ก็เป็น นวนิยายที่ได้รับรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ทรงสนพระทัยในงานประพันธ์ ได้เงินรางวัลถึง  ๒ พันบาท และทรงวิจารณ์ว่า ”เป็นหนังสืออ่านเล่นที่ดีและเป็นประโยชน์”  การใช้ภาษาเรียบง่าย แต่สามารถสะกดความรู้สึกทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจน  ตัวละครทุกตัวเป็นคนธรรมดาในสังคมที่มีทั้งส่วนดีและร้าย   เค้าโครงเรื่อง “หญิงคนชั่ว”  เป็นเรื่องราวชีวิตของ หวาน เด็กสาวซื่อบริสุทธิ์ ยึดมั่นในรักจากเมืองแปดริ้ว (จังหวัดฉะเชิงเทรา) ที่ถูกชายหนุ่มเมืองกรุงหลอกให้หนีออกจากบ้าน มาอยู่กรุงเทพฯด้วยกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทรัพย์สินที่หวานนำติดตัวมาจากบ้านก็ถูกชายคนรักหลอกไปจนหมดสิ้น และ เธอต้องกลายเป็นหญิงคนชั่วในสถานบริการของยายตาด แม่เล้าที่แพร่งสรรพศาสตร์

หวานหญิงสาวซื่อบริสุทธิ์กลายเป็น รื่น โสเภณีสาวแสนสวยของสถานบริการ และพบรักอีกครั้งกับวิทย์ หนุ่มน้อยมีฐานะและชาติตระกูลสูง ที่มาเที่ยวและรักเธอ   มีความฝันที่จะแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน  แต่ในความเป็นจริงของชีวิต  วิทย์ถูกส่งตัวไปเรียนที่ฟิลิปปินส์  โดยรื่นยังไม่ทันจะบอกว่าเธอกำลังจะมีลูกกับเขา  ด้วยความช่วยเหลือความรักและเมตตาของสมรเพื่อนรุ่นพี่ช่วย เธอพ้นจาก คำว่า”หญิงคนชั่ว” และคลอดลูกเป็นหญิงชื่อว่า “ หนูอิ๊ด” แต่ด้วยชะตากรรม รื่นต้องกลับไปทำงานเดิมเพื่อเลี้ยงตัวและลูกด้วยความรักของแม่  จนได้พบ วิทย์ อีกครั้ง  ตอนนี้เขาเป็นหนุ่มนักเรียนนอก มีหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าและ มีภรรยาแล้ว ที่สำคัญเขาจำเธอไม่ได้   รื่นในสภาพผอมแห้ง มีโรคร้ายรุมเร้าไม่ใช่หญิงสาวสวยที่เขาเคยหลงรักในอดีต  แต่เมื่อเขาทราบเรื่อง “หนูอิ๊ด” เขาก็ยินดีที่จะรับผิดชอบและเลี้ยงดูลูกตามตามคำขอร้องของรื่น รวมถึงคิดที่จะดูแลรื่นให้มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

หญิงที่ถูกเรียกว่า “หญิงคนชั่ว” จากโลกนี้ไปโดย ไม่ต้องการสิ่งใดเลย  นอกจากความรักของแม่ที่มีต่อลูกอย่างเหลือล้นหวังว่าลูกจะได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี   ดังบางตอนของผู้เขียนในคำนำของการพิมพ์ครั้งแรกว่าหญิงหรือชายก็ตาม ต่างมีหน้าที่ดำเนินไปคนละอย่างพอช่วยให้มีชีวิตรอดไปได้ตามแค่สติปัญญาและการศึกษา หญิงชั้นสูงอาจมีจิตใจต่ำ เช่นเดียวกับหญิงชั้นต่ำอาจมีจิตใจสูง ความชั่วถ้ายังไม่มีผู้รู้เห็นก็ยังคงเป็นความดี แต่ในโลกนี้จะมีสักกี่คนเล่าที่เชื่อว่า “ความดี” นั้นย่อมมีอยู่แม้ในหมู่ของหญิงที่ได้ชื่อว่า “โสเภณี”

นี่คือหนังสืออนุสรณ์งานศพที่สามารถให้ความรู้ ความบันเทิง แง่คิดในการดำเนินชีวิตที่เมื่ออ่านแล้วคุณจะวางลงไม่ได้จนกว่าจะอ่านจบตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายและเป็นหนังสือที่ได้ทำหน้าที่ของอนุสรณ์ของผู้วายชนม์ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง