จำใจข่มใจไปจากนวล

ถ้าได้ยินแค่ชื่อ “จำใจข่มใจไปจากนวล” ใครจะนึกว่าเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ แต่ถ้าผู้คนที่อยู่ในแวดวงหรือคุ้นเคยกับ “สง่า อารัมภีร” อาจจะทราบว่า มาจากวรรคสุดท้ายของเพลง “น้ำตาแสงไต้”  อันโด่งดัง ของ ครูสง่า อารัมภีร

หน้าปกหนังสืออนุสรณฺ์งานศพ ครูสง่า อารัมภีร
หน้าปกหนังสืออนุสรณฺ์งานศพ ครูสง่า อารัมภีร

จำใจข่มใจไปจากนวล ปรากฏอยู่ในหน้าปกใน พร้อมข้อมูล ที่ระลึกในงานพระราชทานพลิงศพ นายสง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) วันจันทร์ท่ 27 กันยายน 2542 ณ ฌาปนสถานวัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

จำใจข่มใจไปจากนวล
จำใจข่มใจไปจากนวล

แต่ยังปรากฏข้อความ “ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์” บนหน้าใบรองปก เหมือนเป็นการเน้นความอาลัย และการระลึกถึงผลงานเพลงของ ครูสง่า อารัมภีร ที่เป็นอมตะ

ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์
ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์

ครูสง่า อารัมภีร เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2444 ตราบจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2542 มีผลงานในฐานะผู้ประพันธ์คำร้อง และทำนองเพลง อยู่มากมาย รวมทั้งมีผลงานเขียนในนามปากกว่า มหาเมฆ น้อยหน่า อัญชลี ณ เวียงฟ้า และ แจ๋ว วรจักร  ครูสง่า อารัมภีร ไดัรับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) เมื่อ พ.ศ. 2531 ได้รับเกียรติให้เป็นพ่อตัวอย่าง เมื่อ พ.ศ. 2538  ได้รับเกียรติให้เป็นครอบครัวประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2538 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากเพลง คืนหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2514  ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองยอดเยี่ยม เพลงและดนตรีประกอบ จากภาพยนตร์เรื่อง ลูกเจ้าพระยา ของนันทนาครภาพยนตร์

ภาพครูสง่่า อารัมภีร
ภาพที่ทุกคนชินตาของครูสง่า

หนังสืออนุสรณ์งานศพของครูสง่า อารัมภีร เล่มนี้ มีความหนาถึง 343 หน้า เป็นที่รวมบทความเขียนของคนในครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท ผู้ที่เคยร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง ลูกศิษย์ลูกหา ฯลฯ เราจะได้อ่านคำไว้อาลัยที่อบอวลไปด้วยความอาลัย ความรัก ความคิดถึง และการระลึกถึงความหลังที่เคยมีกับครูสง่า อารัมภีร เป็นหนังสือที่มีบทความของนักแต่งเพลง นักร้อง นักประพันธ์ และอื่นๆ มาร่วมเขียนกันได้มาก และรวบรวมบทความจากวารสาร หนังสือพิมพ์ที่เขียนไว้อาลัย และด้วยความระลึกถึงครูสง่า มีการรวมรายชื่อเพลงที่ ครูสง่า ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองไว้อยู่ที่เดียวกัน เป็นเพลงที่ประพันธ์คำร้องจำนวน 72 เพลง และทำนอง จำนวน 20 เพลง (พร้อมโน้ตเพลง) นอกจากนี้ ยังได้รวมบทความบางเรื่องของ ครู ไว้ด้วย และจากบทความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้นี่เอง ทำให้ทราบประวัติ เห็นภาพ บุคลิก ลักษณะนิสัย  ของ ครูสง่า อารัมภีร ที่ถูกกล่าวถึงในแง่มุมต่างๆ ที่สัมผัส รวมทั้งมีประวัติของเพลง ที่มาของเพลง แทรกๆ ไว้ และแน่นอนมีประวัติของเพลงน้ำตาแสงไต้ (ที่ครูสง่า เขียนไว้เหมือนเพลงผีบอก)

“สิ่งที่ทำอะไรก็ทำได้ของแจ๋ว ซึ่งคนอื่นเป็นจำนวนมากทำไม่ได้ ก็คือ การแต่งเพลงไทยสากล ไม่ว่าจะเป็นบทร้องของเพลงที่แจ๋วแต่งขึ้นเอง หรือว่าไปนำบทพระราชนิพนธ์ หรือบทกวีของท่านกวีสุนทรภู่มาเป็นเนื้อเพลง เนื้อร้องก็เถอะ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะทำไม่ได้ แต่แจ๋วทำเป็นของธรรมดา” [หน้า 74]

“เท่าที่ผ่านมาครูมีรายได้จากการแต่งเพลงนี่แหละ ที่นำมาเลี้ยงดูครอบครัวและลูกๆ สี่คน จนกระทั่งเขาเติบโต และมีงานการทำกันหมดแล้ว … เราได้มาเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไรมันก็พออยู่รอด” [หน้า 215]

“พ่อเป็นคนนิ่ง ไม่โกรธใคร พ่อไม่มีศัตรู จุดที่ประทับใจตัวพ่อ คือ อารมณ์ขัน พ่อเขาเป็นนักใช้คำผวนเขบ็ตทีละ 3 ชั้น บางทีไปนึกได้ที่บ้าน พ่อเป็นนักใช้ภาษา อ่านทั้งวรรณคดี และนวนิยายต่างๆ” … “พ่อชอบใส่หมวก คือ กันเป็นหวัด ใส่เสื้อกล้ามใส่เสื้อเชิ้ต มีแปะฮวยอิ๊ว ด้วย” [หน้า 217]

“ทุกเพลงที่คุณพ่อแต่งท่านจะเข้าไปสัมผัสกับสภาพชีวิตของคนในอาชีพนั้นจริงๆ แล้วซึมซับออกมาเป็นบทเพลง ไม่ใช้การจินตนาการ ซึ่งตรงนี้ทำให้บทเพลงที่คุณพ่อแต่งเป็นเพลงอมตะมาจนถึงทุกวันนี้” [หน้า 224]

ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ กล่าวถึง เพลงที่ครูสง่า อารัมภีร แต่งไว้ว่า “มันเพราะและกินใจมาก เป็นเพลงแนวอมตะเข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย กว่าที่แจ๋วจะเขียนออกมาได้ต้องใช้ความมานะมาก ต้องจัดลำดับความคิด ต้องสร้างบรรยากาศ และอารมณ์ให้สอดคล้องต้องกัน เมื่อทุกอย่างลงตัวเนื้อเพลงมันจะพรั่งพรูออกมาเอง” [หน้า 225]

นอกจากนี้ ยังได้มีกล่าวถึงการวิเคราะห์บทเพลงของครูสง่า อารัมภีร โดย มัยลา ศรีโมรา ได้วิจัย เรื่อง ศึกษาวิเคราะห์ศิลปะการประพันธ์และแนวคิดในบทเพลงของสง่า อารัมภีร จำนวน 417 เพลง [หน้า 229]

ถ้าสนใจติดต่อได้ที่ หอสมุดปรีดีฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ค่ะ

พบว่า มี FB ของครูสง่า อารัมภีร

รายการอ้างอิง

จำใจข่มใจไปจากนวล สง่า อารัมภีร : ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) วันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2542.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2542.