การประมวลผลข้อมูลหนังสืออนุสรณ์งานศพ

มานึกๆ ดู Collection หนังสืองานศพ หรือ หนังสืออนุสรณ์งานศพ นอกเหนือจากใส่ข้อมูลเพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงหนังสือแล้ว เช่น ชื่อผู้เสียชีวิต คำสำคัญที่เกี่ยวก้บเนื้อหาที่นำเสนอในหนังสือ ห้องสมุดมักจะลงคำว่า หนังสืออนุสรณ์งานศพ เอาไว้ด้วย เพื่อจะได้เป็นการรวม Collection หนังสือประเภทนี้เอาไว้ ในบางแห่งมีการเพิ่มชื่อเรื่อง โดยการลงว่า อนุสรณ์งานศพ แล้ววงเล็บต่อท้ายด้วยชื่อผู้เสียชีวิต ดังตัวอย่าง อนุสรณ์งานศพ (กลีบ มหิธร, ท่านผู้หญิง) เพื่อที่ว่าเมื่อค้นด้วยชื่อเรื่องว่า อนุสรณ์งานศพ (ด้วยประมาณเอาว่า ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงหนังสืองานศพ หรือหนังสืออนุสรณ์งานศพ น่าจะนึกถึงด้วยคำง่ายๆ และสั้นๆ ว่า อนุสรณ์งานศพ) หนังสืออนุสรณ์งานศพ จะแสดงผลออกมาทั้งหมดพร้อมชื่อผู้เสียชีวิต ดังตัวอย่าง

  • อนุสรณ์งานศพ (ก.ศ.ร. กุหลาบ)
  • อนุสรณ์งานศพ (ก.สุรางคนางค์)
  • อนุสรณ์งานศพ (กนก สามเสน, คุณหญิง)
  • อนุสรณ์งานศพ (กระเษียร ศรุตานนท์, พล.ต.อ.)
  • อนุสรณ์งานศพ (กล่อมจิตต์ พลายเวช)
  • อนุสรณ์งานศพ (โกวิท วรพิพัฒน์)
  • อนุสรณ์งานศพ (ขจร สุขพานิช)
  • อนุสรณ์งานศพ (ไข่มุกด์ ชูโต, คุณ)
  • อนุสรณ์งานศพ (คณิศร์ พุกกะณะสุต)
  • ฯลฯ

วิธีนี้ก็จะเห็นรายการหนังสืออนุสรณ์งานศพ และเห็นว่าเป็นท่านใดบ้าง  และด้วยเพราะหนังสืออนุสรณ์งานศพ มักจะมีการกำหนดชื่อเรื่องที่อาจจะแตกต่างกันและมีความหลากหลายมาก (เยาวเรศ อุดมอานุภาพสุข: 2558)  เช่น

  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกในพิธีพระราชทานเพลิงศพ
  • เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • งานพระราชทานเพลิงศพ
  • ฯลฯ

หนังสืออนุสรณ์งานศพ มีลักษณะที่อาจจะไม่เหมือนกับหนังสือประเภทอื่นๆ ก็คือ นอกเหนือจะใช้ชื่อเรื่อง เช่น อนุสรณ์งาน… ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ยังมีการใช้ชื่อเรื่องของเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือขึ้นมาเป็นชื่อหนังสือ แต่จะมีการระบุให้ทราบว่าเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ ด้วยข้อความที่ว่า

  • อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ
  • พิมพ์แจกในการศพ
  • พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ
  • พิมพ์แจกในงานศพ
  • เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ
  • พิมพ์พระราชทานในงานศพ
  • จัดพิมพ์ในวาระครบรอบปีคล้ายวันมรณะ
  • พิมพ์ในงานปลงศพ
  • หนังสือที่ระลึกการมรณกรรมของ
  • พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานศพ
  • จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • พิมพ์ในการบำเพ็ญทักษิณานุสรณ์
  • ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์งานบรรจุศพ
  • พิมพ์ในการพระราชกุศลพระศพ
  • ฯลฯ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะหาด้วยชื่อผู้เสียชีวิต จะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะห้องสมุดจะลงชื่อผู้เสียชีวิตไว้ในข้อมูลของหนังสือนั้นๆ

ก็คิดเลยเถิดไปหรือเปล่าไม่ทราบว่า ถ้ามีการเก็บชื่อวัดที่บำเพ็ญกุศล จะมีประโยชน์อย่างไรหรือไม่ จะมีการใช้ข้อมูลหรือไม่ว่า วัดไหน มีความเกี่ยวข้องในการพระราชทานเพลิงศพ ในการเผาศพ หรือการทำพิธีเกี่ยวกับศพ ปีที่ทำพิธี ประมวลออกมาน่าจะได้จำนวนวัด ได้ทราบว่าวัดใดบ้าง ทำพิธีให้กับผู้ใดบ้าง ปีไหน เป็นจำนวนเท่าใด

รายการอ้างอิง
เยาวเรศ อุดมอานุภาพสุข. (วันที่ 29 พฤษภาคม 2558). วิธีสืบค้นหนังสืออนุสรณ์งานศพ. [เว็บบล็อก]. สืบค้นจาก  http://main.library.tu.ac.th/km/?p=16846