จากวันวาน … สู่วันนี้ ของ วรรณา โตพิบูลย์พงศ์

คุณวรรณา โตพิบูลย์พงศ์
คุณวรรณา โตพิบูลย์พงศ์

สืบเนื่องจาก กิจกรรม เรื่องเล่าจาก … Guru สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา  คุณวรรณา โตพิบูลย์พงศ์  1 ใน Guru ที่มาเล่าเรื่องชีวิตการทำงาน ตั้งแต่แรกเริ่มที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ความภาคภูมิใจในการทำงาน และเทคนิคการทำงานต่างๆ รวมทั้งข้อคิดที่ฝากให้กับน้องๆ

จากวันวาน…สู่วันนี้ (เส้นทางตั้งแต่เริ่มทำงาน ทำงานอะไรบ้าง จนถึงปัจจุบัน)

ดิฉันเริ่มต้นทำงานที่สมาคมฝรั่งเศส ในตำแหน่งบรรณารักษ์หัวหน้าห้องสมุด เนื่องจากดิฉันจบปริญญาตรี วิชาเอกบรรณารักษศาสตร์ วิชาโทภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศส จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ดิฉันทำงานที่ห้องสมุดสมาคมฝรั่งเศสได้ 1 ปี ก็มาสอบเข้ารับราชการที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2522 โดยได้รับบรรจุในตำแหน่งบรรณารักษ์ ปฏิบัติงานวารสาร และ งานขอบริจาคและแลกเปลี่ยนทรัพยากรฯ กับต่างประเทศ ที่ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ หลังจากที่ทำงานได้ประมาณ 3 ปี ดิฉันก็ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วยังปฏิบัติงานที่ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ต่อ จนกระทั่งผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ได้ให้บรรณารักษ์จากสำนักหอสมุดหลายคนไปเรียนภาษาญี่ปุ่นที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากประเทศญี่บุ่นในการก่อสร้างศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ดังนั้นจึงต้องการสนับสนุนให้บรรณารักษ์เรียนภาษาญี่ปุ่น เพื่อมาปฏิบัติงานที่ห้องสมุดศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา  เนื่องจากดิฉันมีพื้นความรู้ภาษาจีนมาก่อน และต้องการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นเพิ่มอีกหนึ่งภาษา จึงขออนุญาตไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ที่คณะศิลปศาสตร์ด้วย หลังจากที่ดิฉันเรียนได้ประมาณหนึ่งภาคการศึกษา และสอบได้คะแนนในระดับดีมาก ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด จึงได้คัดเลือกดิฉันให้เป็นผู้ได้รับทุนมูลนิธิญี่ปุ่น (Japan Foundation) เพื่อไปอบรมภาษาญี่ปุ่นและดูงานห้องสมุด ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 6 เดือน ดิฉันไปอบรมและดูงานตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2528 ถึงกลางเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2529 หลังจากที่ดิฉันกลับจากการอบรมและดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ดิฉันก็ได้รับแต่ตั้งให้เป็น หัวหน้าห้องสมุดสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาในปี พ.ศ. 2529 และ เมื่อปฏิบัติงานที่ห้องสมุดสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาต่ออีกมา 5 ปี ดิฉันก็ได้รับทุนจากมูลนิธิญี่ปุ่น ไปอบรมภาษาญี่ปุ่น และ  ดูงานห้องสมุดที่ประเทศญี่ปุ่นอีก 6 เดือน ตั้งแต่ เดือน มีนาคม พ.ศ. 2534 ถึง เดีอน กันยายน พ.ศ. 2534  และเมื่ออบรมเสร็จ ก็ได้กลับมาปฏิบัติงานที่ห้องสมุดสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ต่อมาเมื่อ ห้องสมุดสถาบันเอเชียฯ นอกจากจะมีมีหนังสือภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังมีหนังสือภาษาจีนและภาษาเกาหลีเพิ่มเข้ามาอีกเรื่อย ๆ แต่ดิฉันยังไม่สามารถจัดการกับหนังสือภาษาเกาหลีได้ และเมื่อดิฉันบังเอิญเห็นประกาศการให้ทุนอบรมภาษาเกาหลีของมูลนิธิเกาหลี (Korea Foundation) ดิฉันจึงสมัครขอรับทุนจากมูลนิธิเกาหลี เพื่อไปอบรมภาษาเกาหลีที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ถึง เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2538 เมื่อดิฉันกลับจากการอบรมไม่นาน ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2538  หลังจากที่ดิฉันปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้าห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์ฯ ได้ 12 ปี  ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าห้องสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ (คณะเศรษฐศาสตร์) ในปี พ.ศ. 2551 และ เมื่อปฏิบัติงานที่ห้องสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ได้ประมาณ 1 ปี ดิฉันก็เห็นประกาศการให้ทุนอบรมภาษาจีนของ สำนักส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ หรือ ภาษาจีนเรียกว่า Hanban โดยทุนที่ให้เรียกว่า ทุนสถาบันขงจื้อ (Confucius Institute Scholarship) ดิฉันก็สมัครขอรับทุนดังกล่าว เพื่ออบรมภาษาจีน ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ถึง เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เมื่อกลับจากการอบรมแล้ว ดิฉันก็มาปฏิบัติงานในฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ ปฏิบัติงานการนำข้อมูลบรรณานุกรมของสำนักหอสมุด เข้าฐานข้อมูล OCLC และ ต่อมาได้ปฏิบัติงานวิเคราะห์เลฃหมู่และทำรายการทรัพยากรสารสนเทศจนถึงปัจจุบัน

ความภาคภูมิใจในงานที่สำเร็จ

ดิฉันมีความภาคภูมิใจในงานที่รับผิดชอบทุกงาน ตั้งแต่เริ่มทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานวารสาร และ งานขอบริจาคและแลกเปลี่ยนทรัพยากรฯกับต่างประเทศ ที่ ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ งานในตำแหน่งหัวหน้าห้องสมุดสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา หัวหน้าห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน หัวหน้าห้องสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ และ งานวิเคราะห์เลขหมู่ และ ทำรายการทรัพยากรสารรสนเทศ เนื่องจากดิฉันปฏิบัติงานได้สำเร็จ ตรงตามวัตถุประสงค์ และ เป้าหมายของงานทุกงานที่รับผิดชอบ ถึงแม้ดิฉันจะเป็นหัวหน้าห้องสมุดคณะเล็ก ๆ ที่มีบุคลากรน้อย ก็สามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นงานบริหารงบประมาณ งานจัดซื้อทรัพยากรฯ งานบริการผู้ใช้ รวมทั้งงานเทคนิคต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบ ได้แก่ งานวารสาร และ ดรรชนีวารสารเป็นต้น

สิ่งสำคัญที่ทำให้งานลื่นไหล

สิ่งสำคัญที่ทำให้งานลื่นไหล คือ ต้องมีการเรียงลำดับความสำคัญของงาน มีการกำหนดแผนงานตั้งเป้าหมาย และ ทำงานทุกงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของงานแต่ละงาน

มีเทคนิคอะไรในการทำงานร่วมกัน

เทคนิคในการทำงานร่วมกันคือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องรู้ว่าเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานร่วมกัน แต่ละคนมีอุปนิสัยอย่างไร มีความชำนาญงานด้านไหน ใครมีข้อดี ข้อด้อยอะไรบ้าง เพื่อให้แต่ละคนมาช่วยกันเสริม ช่วยกันทำงาน จึงจะทำให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และ มีประสิทธิภาพ

ในการทำงานที่ผ่านมามี lesson learn อะไรบ้างที่อยากจะฝากถึง

ดิฉันอยากจะฝากว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไร บางครั้งจะพบปัญหา และ อุปสรรคต่างๆ แต่ไม่ว่าปัญหาอะไร ก็มีทางออก และ แก้ไขได้ ขอให้มีความอดทน ไม่ย่อท้อ ตั้งสติและค่อยๆ แก้ปัญหา ปัญหาต่างๆ ก็จะแก้ไขได้ และ หมดไปในที่สุด

ปฏิบัติงานอย่างไรให้มีคุณภาพ

การปฏิบัติงานให้มีคุณภาพ นอกจากจะต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ และ ความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบแล้ว ยังจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากผู้ร่วมงาน จึงจะสามารถปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ และ มีคุณภาพได้

สิ่งที่ต้องการเสนอแนะ หรือ ปรับปรุงงานที่ทำอยู่

งานที่ดิฉันทำอยู่ในปัจจุบัน คือ งานวิเคราะห์เลขหมู่ และ ทำรายการทรัพยากรสารสนเทศ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะทรัพยากรภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาเกาหลี  ดิฉันต้องการเสนอแนะให้บรรณารักษ์งานวิเคราะห์ฯ เรียนภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาเกาหลี และต้องหมั่นพัฒนาตนเอง ฝีกฝนให้มีความรู้ ความชำนาญในภาษาดังกล่าว เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติงานวิเคราะห์ฯได้

บทความที่พี่วรรณา ได้กรุณาถ่ายทอดไว้ใน KM Blog มีจำนวน 5 เรื่องซึ่งล้วนแสดงออกถึงความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสมเป็นระยะเวลานานในด้านภาษาจีน เป็นอย่างยิ่ง ได้แก่