การวิเคราะห์บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery) ของห้องสมุดศูนย์รังสิต ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2554-2557

จากการรวบรวมข้อมูลการบริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต ที่มีการใช้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2557 โดยวิเคราะห์จาก 1) ข้อมูลในฐานข้อมูลยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery) 2) เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งผู้ให้บริการ และผู้นำส่งเอกสาร ซึ่งข้อมูลที่รวมรวม คือ

  • รายการสิ่งพิมพ์ที่ผู้ใช้บริการขอยืม
  • รายชื่อผู้ใช้บริการที่ขอยืมสิ่งพิมพ์
  • รายชื่อห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุในการรับตัวเล่ม
  • วันที่ที่ผู้ใช้บริการขอยืม
  • รายการความสำเร็จและไม่สำเร็จของการให้บริการ
  • ปัญหาที่พบในขณะที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ

ผู้เขียนสรุปข้อมูลการวิเคราะห์การบริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต ในรูปแบบตาราง ดังนี้

ตารางที่ 1 สถานภาพของผู้ใช้บริการ ที่ใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery) จากห้องสมุดศูนย์รังสิต แสดงจำนวนครั้งของผู้ใช้บริการแต่ละประเภท และจำแนกตามห้องสมุดที่ ผู้ใช้บริการระบุขอรับตัวเล่ม

ห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุรับตัวเล่ม สถานภาพของผู้ใช้บริการ    
อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน ร้อยละ
วิทยาเขตท่าพระจันทร์          
หอสมุดปรีดี พนมยงค์ 192 764 301 1,257 22
ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ 96 310 67 473 8.3
ห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ 21 42 110 173 3
ห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์ ฯ 34 23 16 73 1.3
ห้องสมุดสังเวียน อินทรวิชัย 18 54 28 100 1.8
ห้องสมุด ศ. ดิเรก ชัยนาม 53 101 85 239 4.2
ศูนย์รังสิต                                                                     
หอสมุด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 343 221 2,605 3,169 55.5
ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี 21 27 35 83 1.4
ศูนย์ลำปาง          
ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง 12 7 113 132 2.3
ศูนย์พัทยา          
ห้องสมุดศูนย์พัทยา 6 4 10 0.2
รวม                                        790 1,555 3,364 5,709  
ร้อยละ 13.8 27.2 59   100

ตารางที่ 2  ร้อยละความสำเร็จและไม่สำเร็จของการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต แยกตามห้องสมุดที่ระบุขอรับตัวเล่ม

  ห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุรับตัวเล่ม ความสำเร็จของการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต แยกตามห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุขอรับตัวเล่ม
จำนวนการยืม รวม(ครั้ง) ร้อยละของการยืม
สำเร็จ ไม่สำเร็จ สำเร็จ ไม่สำเร็จ
วิทยาเขตท่าพระจันทร์
หอสมุดปรีดี พนมยงค์ 746 413 1,159 64.37 36
ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ 310 129 439 70.62 29.38
ห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ 72 62 134 53.73 46.27
ห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์ ฯ 42 28 70 60 40
ห้องสมุดสังเวียน อินทรวิชัย 21 65 86 24.42 75.58
ห้องสมุด ศ. ดิเรก ชัยนาม 162 49 211 76.68 23.22
ศูนย์รังสิต 
หอสมุด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 1,862 1,096 2,958 63 37
ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี 34 40 74 45.95 54.05
ศูนย์ลำปาง
ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง 21 98 119 17.65 82.5
ศูนย์พัทยา
ห้องสมุดศูนย์พัทยา 1 9 10 10 90
รวม 3,271 1,989 5,260 62.18 37.81

 

ตารางที่ 3 ความไม่สำเร็จของการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต แยกตามเหตุผลของความไม่สำเร็จ

ความไม่สำเร็จของการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต
เหตุผลของความไม่สำเร็จ จำนวน ร้อยละ
ผิด location 1,687 84.82
ข้อมูลผิด 168 8.45
ขั้นตอนเทคนิค 37 1.86
มีผู้ยืม 29 1.46
ไม่พบ 29 1.46
ยืมเต็มสิทธิ 16 0.8
ไม่ระบุเหตุผล 15 0.75
ไม่เป็นสมาชิก 7 0.35
ไม่ให้ยืมออก 1 0.05
รวม 1,989 100

 

จากตารางที่ 1-3 นั้น ผู้เขียนได้อภิปรายผลจากตารางและมีข้อเสนอแนะ เพิ่มเติมดังนี้

อภิปรายผลจากตาราง

  1. สถานภาพของผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ที่ใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.2554-2557 ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมาเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และ น้อยที่สุดที่ใช้บริการคืออาจารย์กับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่า ห้องสมุดศูนย์รังสิต มีสิ่งพิมพ์ที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีต้องการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์กับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็มีความต้องการยืมสิ่งพิมพ์จากห้องสมุดศูนย์รังสิตเช่นกัน แต่ต้องการยืมในสัดส่วนของสิ่งพิมพ์ที่น้อยกว่า
  2. ผู้ใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุดส่วนใหญ่จะระบุรับตัวเล่มว่าต้องการรับตัวเล่มที่ห้องสมุดใด นั้นจากการศึกษาข้อมูลการใช้บริการ เรียงตามลำดับตามห้องสมุด คือ หอสมุด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มากที่สุด รองลงมาคือ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ ห้องสมุด ศ. ดิเรก ชัยนาม สมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง ห้องสมุดสังเวียน อินทรวิชัย ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี ห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์ ฯ ห้องสมุดศูนย์พัทยา จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุดที่ระบุรับตัวเล่มที่หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์นั้นมีจำนวนมาก ซึ่งถ้าหากผู้ใช้บริการระบุขอตัวเล่มจำนวนมาก ผู้ปฏิบัติงานต้องมีภาระงานที่มากขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน เพราะผู้ใช้บริการต้องติดต่อสอบถามที่เคาน์เตอร์บริการยืม-คืนถึงสิ่งพิมพ์ที่ขอยืม ว่ามาถึงหรือยัง ถ้ายังไม่มา อยู่ในขั้นตอนใด และแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เรียน พักอาศัย หรือทำงานใกล้จึงสะดวกที่จะมารับตัวเล่มตามห้องสมุดที่ระบุไว้ หรือชอบการให้บริการของผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดนั้นๆเป็นส่วนตัวก็ได้ จากผลการศึกษา สำนักหอสมุด ควรมีการสอบถามไปยังผู้ปฏิบัติงานของห้องสมุดที่มีการระบุรับตัวเล่มในปริมาณมาก นั่นแสดงว่าผู้ปฏิบัติงานยอมรับภาระงานจำนวนมาก ว่ามีปัญหาใดในการบริการหรือไม่ เพื่อนำมาปรับปรุงบริการ กระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังควรสอบถามถึงปัญหาการให้บริการ ความสะดวก ความสุขของผู้ปฏิบัติงานด้วยว่ามีปัญหาใดหรือไม่ในการให้บริการผู้ใช้จำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงให้ผู้ปฏิบัติงานมีความคล่องตัวในการทำงานและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น สำนักหอสมุดอาจพิจารณาเพิ่มบุคลากรในการปฏิบัติงานให้กับห้องสมุดที่มีการให้บริการจำนวนมากก็เป็นไปได้ ส่วนห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุขอรับตัวเล่มน้อย อาจเกิดจากการที่ผู้ใช้บริการไม่สะดวกที่จะขอรับตัวเล่ม เนื่องจากห้องสมุดนี้อยู่ไกล หรือไม่ชอบการให้บริการของผู้ปฏิบัติงาน หรือห้องสมุดนี้ไม่ใช่ห้องสมุดที่มีทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการจึงไม่ระบุที่จะรับตัวเล่ม สำนักหอสมุด อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหรือจากผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงาน เช่น ถ้าหากมีผู้ใช้บริการน้อย อาจพิจารณาลดจำนวนบุคลากรของห้องสมุดนั้นๆ หรือมอบหมายภาระงานเพิ่มเติมให้ก็ได้ หรือผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจในการให้บริการที่น้อย หรือผู้ใช้บริการไม่ชอบเจ้าหน้าที่ จึงไม่ระบุขอรับตัวเล่มจากห้องสมุดนั้นๆ สำนักหอสมุดต้องการมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงสามเหตุ เพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
  3. ความสำเร็จและไม่สำเร็จของการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต ที่ผู้ใช้บริการขอยืมสิ่งพิมพ์ในปี พ.ศ.2554-2557นั้น พบว่า ห้องสมุดศูนย์รังสิตให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด สำเร็จเพียงร้อยละ 62.18 ไม่สำเร็จร้อยละ 37.81 จากข้อมูลความสำเร็จและไม่สำเร็จในการให้บริการ ห้องสมุดศูนย์รังสิตจะต้องศึกษาเพิ่มเติมจากข้อมูลที่มีอยู่และศึกษาจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานถึงเหตุผลของความไม่สำเร็จในการให้บริการ เพื่อปรับปรุงงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

จากการศึกษาถึงความสำเร็จในการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต ซึ่งผู้ใช้บริการระบุขอรับรับตัวเล่มจากห้องสมุดต่างๆนั้น พบว่า ห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุขอรับตัวเล่มแล้วสามารถขอยืมได้สำเร็จ โดยเรียงตามลำดับ คือ ห้องสมุด ศ. ดิเรก ชัยนาม ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ หอสมุด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ห้องสมุดคณะวารสารศาสตร์ ฯ ห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี ห้องสมุดสังเวียน ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง และห้องสมุดศูนย์พัทยา ตามลำดับ จากการที่ผู้ใช้บริการขอยืมสิ่งพิมพ์จากห้องสมุดศูนย์รังสิต และระบุรับตัวเล่มจากห้องสมุดต่างๆโดยห้องสมุดศูนย์รังสิตสามารถให้บริการได้สำเร็จ ข้อมูลเหล่านี้อาจแสดงให้เห็นถึง สัดส่วนความสำเร็จในการให้บริการของห้องสมุดศูนย์รังสิต ส่วนห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุรับตัวเล่มแล้วสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ แสดงว่าผู้ใช้บริการเป็นผู้ใช้บริการที่สังกัดห้องสมุดนั้นๆ ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดนั้นๆมีการให้คำแนะนำผู้ใช้บริการให้เข้าใจถึงขั้นตอนการยืมที่ถูกต้อง และห้องสมุดศูนย์รังสิตมีสิ่งพิมพ์ตามที่ผู้ใช้บริการขอยืม สำนักหอสมุดอาจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของห้องสมุดศูนย์รังสิต จากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุขอรับตัวเล่ม และจากผู้ใช้บริการ ถึงสาเหตุของความสำเร็จที่มากในการขอใช้บริการ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

จากการศึกษาถึงความไม่สำเร็จในการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต ซึ่งผู้ใช้บริการระบุขอรับรับตัวเล่มจากห้องสมุดต่างๆนั้น พบว่า ห้องสมุดศูนย์รังสิต ให้บริการไม่สำเร็จ โดยคิดเป็นร้อยละ37.81 และห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุขอรับตัวเล่มแล้วขอยืมไม่สำเร็จนั้น โดยเรียงตามลำดับ คือ ห้องสมุดศูนย์พัทยา ห้องสมุดบุญชู ตรีทอง ห้องสมุดสังเวียน อินทรวิชัย ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี ห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ห้องสมุด หอสมุด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ ห้องสมุด ศ. ดิเรก ชัยนาม ตามลำดับ จากข้อมูลที่พบนั้น ห้องสมุดศูนย์รังสิต มีสัดส่วนการให้บริการที่ไม่สำเร็จจำนวนมาก ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ห้องสมุดศูนย์รังสิตจะต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมถึงเหตุผลของความไม่สำเร็จในการให้บริการเพื่อนำมาปรับปรุงงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ส่วนห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุขอรับตัวเล่ม แล้วมีสัดส่วนความไม่สำเร็จที่สูงนั้น ห้องสมุดนั้นๆควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และจากผู้ใช้บริการในสังกัดของตนเองว่า เหตุใดจึงมีสัดส่วนที่ไม่สำเร็จในปริมาณที่มาก อาจเกิดจาก ผู้ปฏิบัติงานไม่แนะนำขั้นตอนการยืมให้ผู้ใช้บริการทราบ ผู้ใช้บริการไม่เข้าใจการขอยืม สิ่งพิมพ์ที่ขอยืมมีที่ห้องสมุดน้อย จึงต้องไปขอยืมจากห้องสมุดศูนย์รังสิต ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

  1. ความไม่สำเร็จของการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)ของห้องสมุดศูนย์รังสิต สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2554-2557 แยกตามเหตุผลของความไม่สำเร็จนั้น สามารถเรียงตามลำดับ เหตุผลของความไม่สำเร็จในการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุดได้ คือ ผิด location มากที่สุด รองลงมาคือ ข้อมูลผิด ขั้นตอนทางเทคนิค มีผู้ยืม ไม่พบ ยืมเต็มสิทธิ ไม่ระบุเหตุผล ไม่เป็นสมาชิก และน้อยที่สุด คือไม่ให้ยืมออก จากเหตุผลของความไม่สำเร็จในการให้บริการนั้น ผู้ศึกษาขอแยกวิเคราะห์เป็นประเด็น 2 ประเด็น ดังนี้

4.1 ความไม่สำเร็จซึ่งเกิดจากผู้ใช้บริการ แยกเป็น

– ผิด Location เหตุผลที่ผู้ใช้บริการส่งคำว่ามาผิดห้องสมุด ในปริมาณสัดส่วนที่มาก อาจเกิดจาก ผู้ใช้บริการไม่เข้าใจวิธีการกรอกข้อมูลการยืมระหว่างห้องสมุดที่ถูกต้อง ผู้ใช้บริการไม่ตรวจสอบสถานที่จัดเก็บของสิ่งพิมพ์ว่ามีที่ห้องสมุดใดก่อนที่จะส่งคำขอยืม ผู้ใช้บริการไม่ทราบวิธีการค้นหาสิ่งพิมพ์จากฐานข้อมูลห้องสมุด ทำให้ผู้ใช้บริการส่งคำขอมาผิดห้องสมุดได้ จากการที่ผู้ใช้บริการส่งคำขอมาผิดที่ทำให้ การที่ผู้ใช้บริการจะได้สิ่งพิมพ์ที่ต้องการในเวลาอันรวดเร็ว ก็ต้องล่าช้าออกไป เพราะต้องตรวจสอบห้องสมุดที่ถูกต้องให้ได้ก่อน แล้วจึงส่งคำขอไปใหม่ ในประเด็น สำนักหอสมุดควรทบทวนวิธีการแนะนำการใช้ห้องสมุด วิธีการค้นหาสิ่งพิมพ์ วิธีการใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุด ให้แก่ผู้ใช้บริการได้ทราบและเข้าใจ

– ข้อมูลผิด การที่ผู้ใช้บริการให้ข้อมูลที่ผิดในการส่งคำขอยืม ก็ย่อมส่งผลให้ไม่ได้สิ่งพิมพ์ตามที่ต้องการได้ ในประเด็นนี้ สำนักหอสมุดควรทบทวนวิธีการแนะนำการใช้ห้องสมุด วิธีการค้นหาสิ่งพิมพ์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เข้าใจ ก็จะส่งผลให้ผูใช้บริการได้รับสิ่งพิมพ์ที่ต้องการได้

– มีผู้ยืม การที่ผู้ใช้บริการส่งคำขอยืมมา แต่ไม่ตรวจสอบก่อนว่า สิ่งพิมพ์ที่ต้องการมีผู้ยืมแล้วหรือไม่ ทำให้ไม่ได้รับสิ่งพิมพ์ที่ต้องการ ในประเด็นนี้ สำนักหอสมุดควรทบทวนวิธีการแนะนำการใช้ห้องสมุด วิธีการค้นหาสิ่งพิมพ์ ให้แก่ผู้ใช้บริการได้ทราบและเข้าใจ

– ยืมเต็มสิทธิ การที่ผู้ใช้บริการส่งคำขอยืมมา แต่ไม่ได้ตรวจสอบสิทธิการยืมของตนเองก่อน ส่งผลให้คำขอยืมที่ส่งไปอาจไม่ได้ตามที่ต้องการ หรือถ้าได้ก็ต้องล่าช้าออกไป เพราะต้องคืนสิ่งพิมพ์เล่มอื่นก่อนจึงจะยืมเล่มถัดไปได้ ประเด็นนี้ สำนักหอสมุด หรือ ผู้ปฏิบัติงานควรแนะนำวิธีการตรวจสอบข้อมูลการยืมของผู้ใช้บริการให้ทราบและเข้าใจ

  • ไม่เป็นสมาชิก การที่ผู้ใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุดที่ยังไม่เป็นสมาชิก และส่งคำขอยืมสิ่งพิมพ์มา ในประเด็นนี้ ผู้ใช้บริการน่าจะยังไม่ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด ดังนั้น สำนักหอสมุด ควรแนะนำวิธีการใช้ห้องสมุด ให้ผู้ใช้บริการได้ทราบและเข้าใจ

– ไม่ให้ยืมออก การที่ผู้ใช้บริการส่งคำขอยืมสิ่งพิมพ์ที่ห้องสมุดไม่ให้ยืมออก ประเด็นผู้ใช้บริการอาจยังไม่เคยทราบ หรือไม่เข้าใจว่าสิ่งพิมพ์ประเภทใดบ้างที่ห้องสมุดไม่อนุญาตให้ยืม กรณีนี้ผู้ปฏิบัติอาจอธิบายให้ผู้ใช้บริการทราบทางE-mail เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาส่งคำขอยืมมา แต่ไม่ได้รับสิ่งพิมพ์ที่ขอยืมได้

4.2  ความไม่สำเร็จซึ่งเกิดจากผู้ให้บริการ แยกเป็น

– ขั้นตอนทางเทคนิค ในประเด็นนี้ ผู้ใช้บริการอาจไม่ได้ตรวจสอบว่าสถานะ หรือCollectionของหนังสือที่ส่งคำขอมา เป็นอย่างไร ซึ่งในบางกรณีห้องสมุดไม่สามารถให้ยืมได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการอาจต้องเร่งทำหนังสือที่ยังไม่พร้อมให้บริการให้สามารถบริการได้

– ไม่พบ ในประเด็นนี้ ผู้ให้บริการของห้องสมุดศูนย์รังสิตจะต้องหาสาเหตุว่า หนังสือหาไม่พบเพราะอะไร เช่น เกิดจากหนังสือเรียงผิดที่ การแก้ไขข้อมูลในฐานข้อมูลไม่ถูกต้อง เมื่อหาสาเหตุพบแล้วจะได้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นต่อไป

– ไม่ระบุเหตุผล ในประเด็นนี้ ผู้ให้บริการห้องสมุดศูนย์รังสิตควรปรับปรุงการทำงานให้ถูกต้อง จะได้ทราบว่าสาเหตุที่ให้บริการไม่สำเร็จนั้นเกิดจากอะไร

5. ปัญหาที่พบจากผู้ปฏิบัติงานบริการยืมระหว่างห้องสมุดของห้องสมุดศูนย์รังสิต มีดังนี้

1)หนังสือหาไม่พบ ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุดังนี้

– ข้อมูลรายการหนังสือในฐานข้อมูลไม่ถูกต้อง เช่น บันทึกเลขเรียกหนังสือผิด  ไม่มีประวัติการยืมหนังสือจากระบบ Horizon(หนังสือถูกยืมออกตั้งแต่ใช้ระบบHorizon แต่ระบบKoha แสดงผลว่าหนังสือมีอยู่บนชั้น)หนังสือเรียงผิดที่

– หนังสือบางส่วนรอเตรียมแก้ไขในฐานข้อมูล

2) คำขอที่ผู้ใช้บริการส่งมาผิดLocation หรือให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำงานช้า เพราะต้องเสียเวลาในการตรวจสอบรายการหนังสือ

ข้อเสนอแนะ

  1. ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ปฏิบัติงานของห้องสมุดที่มีการระบุรับตัวเล่มในปริมาณมากว่ามีปัญหาใดในการบริการยืมระหว่างห้องสมุดหรือไม่ ที่จะต้องให้บริการผู้ใช้เป็นจำนวนมาก และศึกษาถึงความสะดวก ความสุขในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานที่รับภาระงานมาก เพื่อนำมาปรับปรุงบริการ กระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  1. ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม จากผู้ปฏิบัติงาน และผู้ใช้บริการ เกี่ยวกับห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการระบุขอรับตัวเล่มน้อย ว่าเกิดจากอะไร เช่น อาจเกิดจากการที่ผู้ใช้บริการไม่สะดวกที่จะขอรับตัวเล่ม เนื่องจากห้องสมุดนี้อยู่ไกล หรือไม่ชอบการให้บริการของผู้ปฏิบัติงาน หรือห้องสมุดนี้ไม่ใช่ห้องสมุดที่มีทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการจึงไม่ระบุที่จะรับตัวเล่ม สำนักหอสมุด อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหรือจากผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงาน เช่น ถ้าหากมีผู้ใช้บริการน้อย อาจพิจารณาลดจำนวนบุคลากรของห้องสมุดนั้นๆ หรือมอบหมายภาระงานเพิ่มเติมให้ก็ได้ หรือผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจในการให้บริการที่น้อย หรือผู้ใช้บริการไม่ชอบเจ้าหน้าที่ จึงไม่ระบุขอรับตัวเล่มจากห้องสมุดนั้นๆ
  2. ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดศูนย์รังสิตควรนำข้อมูลเหตุผลของความไม่สำเร็จในการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุดมาพิจารณาและทบทวนการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  3. ห้องสมุดสาขาทุกแห่งของสำนักหอสมุดควรมีการนำข้อมูลการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุดมาวิเคราะห์ หรือศึกษาเพิ่มเติมของผู้ใช้บริการ เพื่อทราบความต้องการของผู้ใช้บริการ และนำข้อมูลที่ได้มาแก้ไขปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
  4. ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยว ความพึงพอใจในการใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุด(Book Delivery)จากผู้ใช้บริการและผู้ปฏิบัติงาน ของสำนักหอสมุด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงการทำงานให้เป็นที่พอใจทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ
  5. สำนักหอสมุดควรทบทวนและหาวิธีการใหม่ๆที่จะทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจถึงการใช้ห้องสมุด วิธีการค้นหาสิ่งพิมพ์ วิธีการใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุด ให้แก่ผู้ใช้บริการได้ทราบและเข้าใจ เนื่องจากผลการศึกษาในครั้งนี้ทำให้ทราบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่ทราบและไม่เข้าใจเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด การค้นหาสิ่งพิมพ์ในฐานข้อมูล และวิธีการใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุด