การป้องกันมิให้หนังสือชำรุดเสียหาย

หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นฉบับพิมพ์ไว้ให้บริการ ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ ซึ่งจำนวนของของทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นสิ่งพิมพ์มีดังนี้

หนังสือ                               1,220,408       ฉบับพิมพ์

วารสาร (ภาษาไทย)                 1,132            ชื่อเรื่อง

วารสาร (ภาษาต่างประเทศ)        683              ชื่อเรื่อง

หนังสือพิมพ์ (ภาษาไทย)           16                ชื่อเรื่อง

หนังสือพิมพ์ (ภาษาต่างประเทศ)   4                  ชื่อเรื่อง

จะเห็นได้ว่าหอสมุดฯมีสิ่งพิมพ์ไว้ให้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการที่ได้รับผิดชอบให้ดูแลงานซ่อมหนังสือ ทำให้ได้เห็นสภาพของหนังสือที่แต่ละห้องสมุดส่งมาเพื่อซ่อม/ส่งมาเก็บยังคลังหนังสือ หรือหนังสือที่ได้รับคืนเมื่อผู้ใช้บริการนำมาคืนนั้นมีสภาพ ดังอย่างตามภาพดังนี้

repair1

หนังสือปกชำรุด

repair2

หนังสือตัวเล่มหลุดออกจากสัน

repair3

หนังสือหน้าหลุดออกจากสัน

repair4

หนังสือหน้าขาด

repair5

หนังสือเปียกน้ำ

repair6

หนังสือมีรอยปนเปื้อน

repair7

หนังสือมีเชื้อรา

repair8

หนังสือมีรอยขีดเขียน

repair9

หนังสือมีรอยสัตว์ หรือแมลงกัด

 

สาเหตุที่ทำให้หนังสือชำรุด

จากสภาพของหนังสือที่แสดงให้เห็นมาแล้วข้างต้น พอที่จะสรุปสาเหตุที่ทำให้หนังสือชำรุดได้ดังนี้

  1. การผลิตหนังสือ
    • การใช้วัสดุคุณภาพต่ำ
    • ความบอบบางของหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือปกอ่อน การเย็บเล่มไม่แน่นหนา
  2. อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม
    • อุณหภูมิ อุณหภูมิสูงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังสือเสื่อมคุณภาพได้เร็วขึ้น กระดาษจะกรอบ

เหลือง และอุณหภูมิต่ำจะทำให้เกิดความชื้นมีผลทำให้เกิดเชื้อราได้

  • ความชื้น ช่วงฤดูฝนความชื้นจะสูง ทำให้เกิดกระดาษพองตัว และเกิดเชื้อราเกาะหนังสือได้ง่าย
  • แสงสว่าง ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้หนังสือเหลืองกรอบ สีซีดจาก ชำรุด และฉีกขาดง่าย
  • ฝุ่น เป็นตัวการสำคัญทำให้หนังสือสกปรกเร็ว เก่าเร็ว และหนังสือไม่น่าหยิบใช้
  • มลพิษ มลภาวะของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวการสำคัญที่เป็นอันตรายต่อหนังสือและวัสดุของห้องสมุดได้ มลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น จะทำให้หนังสือเก่า ไม่น่าใช้ ควันพิษจากท่อไอเสียในเขตการจราจรแออัดทำให้กระดาษแปรสภาพเป็นกรด หรือในเขตโรงงานอุตสาหกรรม จะมีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลอยปะปนอยู่ในอากาศ
  1. สัตว์ต่างๆ
    • แมลง มีแมลงหลายชนิดที่สามารถทำลายหนังสือของห้องสมุดได้ แมลงที่พบมากที่สุดได้แก่ แมลงสาบ แมลงหางสามแฉก มอด ปลวก หนอนหนังสือ มด เป็นต้น

แมลงสาบ แมลงสาบจะกินสีและแป้งเปียกที่ปก ทำให้ปกหนังสือเป็นรอยด่าง

แมลงหางสามง่าม หรือแมลงหางแฉก เป็นแมลงตัวเล็กๆ รูปร่างยาวเรียว มีสีขาวอมเทาลำตัวเป็นปล้องๆ ขนาดยาวประมาณครึ่งนิ้ว มีหางคล้ายหนวดสามาเส้า วิ่งเร็ว แมลงหางสามาแฉกจะเจริญเติบโตได้เร็วในที่ที่มีความเย็น มักพบอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นและมีกลิ่นอับ วิ

มอด มอดจะกินผ้าและหนังที่หุ้มปกหนังสือ

ปลวก ชอบหนังสือมากที่สุดและกัดกินอย่างรวดเร็ว

หนอนหนังสือ มักพบได้ในบริเวณหนังสือเก่า และหนังสือที่เต็มไปด้วยฝุ่น หนอนหนังสือจะกัดกินหนังสือ กระดาษ รูปภาพ จนทะลุเป็นรูพรุน และจะวางไข่แพร่พันธุ์ไว้อีกด้วย

มด โดยทั่วไปจะไม่ทำลายหนังสือ แต่มักจะเข้าไปทำรังและวางไข่ตามซอกมุมของหนังสือบนชั้นหนังสือ ทำให้เกิดความสกปรก

  • หนู หนูชอบอาศัยอยู่ในห้องสมุด มักจะอาศัยอยู่ตามซอกมุมที่อับทึบ
  1. ธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นสาเหตุที่ทำให้หนังสือเสียหายอย่างเฉียบพลันทันที และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ภัยจากธรรมชาติ มีดังนี้น้ำ สาเหตุเกิดจากน้ำฝนและน้ำท่วม หนังสืออาจเสียหายจากน้ำได้ ละอองฝนทำให้กระดาษพองตัว ติดกัน ตัวพิมพ์เลอะเลือน ชำรุดใช้การไม่ได้อีก

ไฟ ภัยจากไฟไหม้อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และบุหรี่ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อวัสดุและหนังสือของห้องสมุด เพราะหนังสือเป็นเชื้อเพลิงติดไฟง่าย

ลม ภัยเกิดจากลมธรรมชาติ เช่น ลมพายุ หรือลมจากพัดลม ควรมีการควบคุมระดับความแรงของพัดลมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

  1. มนุษย์ ผู้อ่านหนังสือ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ความเสียหายให้กับหนังสือได้มาก เช่น การขีดเขียนข้อความทำเครื่องหมายต่างๆ เติมข้อความลงในหนังสือ การตัดรูปภาพจากหนังสือ การพับมุม เป็นต้น

วิธีการป้องกันมิให้หนังสือชำรุดเสีย

จากสาเหตุต่างๆที่ทำให้หนังสือชำรุดนั้นมีหลายประเด็น ห้องสมุดเป็นหน่วยงานที่จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศประเภทสิ่งพิมพ์ไว้มากมาย เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้อ่านหนังสือแต่ละเล่มต่อไปได้อีก จึงควรที่จะมีวิธีการป้องกันมิให้หนังสือชำรุดเสีย โดยแยกตามลักษณะความรับผิดชอบของงานดังนี้

  1. ผู้บริหารห้องสมุด/หัวหน้าห้องสมุด
    • มีนโยบายในการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศประเภทสิ่งพิมพ์ ที่ใช้วัสดุคุณภาพสูง
    • ออกแบบโครงสร้างห้องสมุดให้มีสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ให้มีการควบคุมอุณหภูมิที่พอเหมาะ หากสูงเกินไปจะทำให้หนังสือเสื่อมคุณภาพ หากต่ำเกินไปจะทำให้เกิดความชื้น ควบคุมให้อยู่อุณหภูมิระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส
    • จัดหาเครื่องปรับอากาศมาช่วยในการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม
    • ติดม่านหน้าต่างจะช่วยกันแสงแดด ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้หนังสือเหลืองกรอบ สีซีดจาก ชำรุด และฉีกขาดง่าย
    • ควบคุมให้มีการทำความสะอาดหนังสือไม่ให้มีฝุ่น ทำความสะอาดชั้นหนังสืออย่างสม่ำเสมอ จัดเก็บขยะที่อยู่ตามชั้น เพื่อป้องกันหนู และแมลงสาปเข้ามากัดแทะหนังสือ
    • ควบคุมให้มีการฉีดปลวกเพื่อป้องกันการทำลายหนังสือ
    • ควบคุมให้มีการเข้าไปตรวจสภาพของหนังสือว่ามีแมลงเข้าไปกัดแทะหนังสือหรือไม่ หากพบก็นำมาแมลงต่างๆดำเนินการทำลาย และทำความสะอาดหนังสือ
    • ควบคุมมิให้มีละอองฝนเข้ามาในห้องสมุดเพื่อป้องกันความเปียกชื้น
    • จัดหาระบบควบคุมไฟฟ้าลัดวงจร เพื่อป้องกันมิให้หนังสือเสียหายจากเหตุการณ์ไฟใหม่
    • จัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมห้องสมุด
    • จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ใช้บริการเห็นความสำคัญของหนังสือ ให้ใช้หนังสืออย่างระมัดระวัง ปลูกฝังจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบในการใช้หนังสือ เห็นคุณค่าของส่วนรวม
  1. บรรณารักษ์/เจ้าหน้าที่ห้องสมุด/ผู้ปฏิบัติงานเรียงหนังสือ
    • ระมัดระวังในการประทับตราห้องสมุด ไม่ควรประทับตราบนข้อความหรือภาพประกอบ
    • ระมัดระวังในการจัดเรียงหนังสือบนชั้น ควรใช้เหล็กกั้นหนังสือเพื่อป้องกันไม่ให้หนังสือล้มหรือซ้อนกันระเกะระกะ ไม่ควรเรียงหนังสือเข้าชั้นแน่นจนเกินไปจะทำให้หนังสือชำรุดง่าย
    • ระมัดระวังเมื่อมีการขนย้ายหนังสือ

ทุกๆคนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันมิให้ทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดนั้นชำรุดเสียหายได้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือบุคลากรในตำแหน่งใดๆก็ตามของห้องสมุด ที่สำคัญคือผู้ใช้บริการ เราควรร่วมมือกันรณรงค์ให้ผู้ใช้บริการรักและเห็นความสำคัญของหนังสือ มีมาตรการที่จะดำเนินการใดๆกับผู้ใช้บริการที่ทำผิดระเบียบ(ขีดเขียนข้อความลงในหนังสือ ฉีก ตัด ทำให้หนังสือเสียหาย) เราควรต้องช่วยกันที่จะดูแลรักษาทรัพยากรสารสนเทศให้คงอยู่ตลอดไป

 

                                                      บรรณานุกรม

นวภรณ์ ซังบุดดา และประนอม เพ็งพันธ์. การอนุรักษ์หนังสือ.พิมพ์ครั้งที่ 2 : กรุงเทพฯ .สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2551