รู้หรือไม่…หอสมุด มธ. เป็นสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว

รู้หรือไม่หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว มี 2 ห้องสมุด ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินห้องสมุดสีเขียวเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ และหอสมุดปรีดี พนมยงค์

สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย  ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดทำเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว  ข้อกำหนด แนวทางเชิงปฏิบัติ และวิธีการตรวจประเมิน เพื่อเป็นคู่มือสำหรับการพัฒนาห้องสมุดสีเขียว ให้เป็นมาตรฐาน โดยคณะทำงานจัดทำเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียวจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำเกณฑ์การพัฒนา แนวทางเชิงปฏิบัติและการตรวจสอบประเมินตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว

ห้องสมุดเป็นพื้นที่เรียนรู้และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ของสังคมและสร้างสรรค์ปัญญาให้กับชุมชนและสังคม การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วนในสภาวการณ์ที่ปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมกำลังทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้าง การพัฒนาห้องสมุดให้เป็นต้นแบบของสังคมในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียวจะช่วยให้ห้องสมุดสามารถบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมเชิงระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิชาการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว จัดทำมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว รวมทั้ง ข้อกำหนดมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว แนวทางเชิงปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว และแนวทางการตรวจประเมินตามมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาและเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานห้องสมุดสีเขียว สนับสนุนแนวทางการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมตามนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศและทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกเกณฑ์การประเมินห้องสมุดสีเขียวมีทั้งหมด 8 หมวดด้วยกัน

1.หมวด ทั่วไป เป็นเรื่องเกี่ยวกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายและยุทธศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับการประหยัดพลังงาน

2.หมวด โครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมายถึง อาคารห้องสมุดสีเขียว ควรมีโครงสร้างพื้นฐานหรือลักษณะทางกายภาพ ที่เอื้อต่อการลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3.หมวด การจัดการทรัพยากรและพลังงาน หมายถึง ห้องสมุดสีเขียวจะต้องกำหนดมาตรการในการใช้ทรัพยากรและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ลดปริมาณของเสีย หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

4.หมวด การจัดการของเสียและมลพิษ หมายถึง ห้องสมุดสีเขียว จะต้องมีการจัดการขยะ จัดการน้ำเสีย และจัดการมลพิษทางอากาศ

5.หมวด การบริหารจัดการและการให้บริการห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ห้องสมุดมีสีเขียว มีหน้าที่ในการให้บริการความรู้ตามบริบทและนโยบายขององค์กร โดยเพิ่มเติมในส่วนของการให้บริการความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

6.หมวด บทบาทของบุคลากรห้องสมุดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หมายถึง ผู้บริหาร บุคลากรห้องสมุดสีเขียว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมีความร่วมมือทั้งในเชิงนโยบายและการดำเนินกิจกรรมร่วมกันโดยคำนึงถึงารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

7.หมวด เครือข่ายและความร่วมมือระหว่างห้องสมุด หมายถึง มีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และจัดการความรู้ร่วมกัน ในเรื่องการบริหารจัดการและการให้บริการแบบอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีความร่วมมือระหว่างห้องสมุดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

8.หมวด การประเมินคุณภาพห้องสมุดสีเขียว หมายถึง ห้องสมุดสีเขียวต้องมีตัวชี้วัดและระบบการติดตามประเมินผลด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่นตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายการใช้ไฟฟ้า น้ำ กระดาษ เชื้อเพลิง การใช้ทรัพยากร และปริมาณของเสีย โดยมีการบันทึกข้อมูลติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

นี่เป็นส่วนย่อยๆ ของเนื้อหา สามารถอ่านเอกสารการประเมินห้องสมุดสีเขียวเพิ่มเติมได้ที่  http://lib.ku.ac.th/kugreenlibrary/download/criteriafinal.pdf