การกำหนดเลขหมู่ระบบหอสมุดแพทย์แห่งชาติอเมริกัน (National Library of Medicine Classification : NLM)

ทรัพยากรสารสนเทศของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการใช้ระบบเลขหมู่ 2 ระบบทั้ง NLM และ LC เนื่องจากทรัพยากรที่เข้ามาส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาคาบเกี่ยวทางด้านการแพทย์และสังคมศาสตร์  ในบทความนี้จะขอเน้นการกำหนดเลขหมู่ทางการแพทย์  ดังนี้

1. ลักษณะการจัดหมวดหมู่ระบบ NLM ประกอบด้วย

1.1  มีการใช้สัญลักษณ์แบบผสม ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันผสมกับตัวเลขอารบิก
1.2  มีการจัดหมวดหมู่ 2 หมวดใหญ่ คือ หมวด Q และ หมวด W
1.3  ใช้ตารางภูมิศาสตร์ เพื่อระบบตำแหน่งทางภูมิศาสตร์

ลักษณะเลขหมู่
ลักษณะเลขหมู่ NLM

2.  การแบ่งหมวดหมู่ในระบบ NLM สามารถแบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่

2.1  แบ่งตามกลุ่มสาขาวิชา  2 หมวดใหญ่

หมวด Q กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (Preclinical Sciences)
หมวด W กลุ่มวิชาการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (Medicine and Related Sciences)

2.2  แบ่งกลุ่มสาขาวิชาหมวดใหญ่  แบ่งออกเป็น 35 หมวดย่อย คือ

หมวด Q กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ขั้นพื้นฐาน (Preclinical Sciences) ประกอบด้วย 8 หมวดหมู่ย่อย ได้แก่ QS-QZ

QS-QZ
หมวดหมู่ย่อย  QS-QZ

หมวด W กลุ่มวิชาการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (Medicine and Related Sciences) ประกอบด้วย 27 หมวดหมู่ย่อย ได้แก่ W, WA-WZ

หมวดย่อย NLM W, WA-WZ
หมวดหมู่ย่อย  W, WA-WZ

2.3  แบ่งตามวิธีเขียน การเรียนการสอน สาเหตุการเกิดโรค และอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้ตัวเลขอารบิก 1-999 และระบบจุดทศนิยมร่วมด้วยแทนการแบ่งย่อยเพื่อแสดงรายละเอียดของเลขหมู่แต่ละหมวด โดยเรียงตามลำดับตัวเลขและมีการจัดกลุ่มเนื้อหาก่อนการกระจายตัวเลข

3.  หมายเลขกำหนดรูปแบบของสิ่งพิมพ์ (Form Number)

        โครงสร้างภายในแต่ละหมวดหมู่ของระบบ NLM จะมีหมายเลขกำหนดรูปแบบของสิ่งพิมพ์ (Form Number) เพื่อจัดเนื้อหาของสิ่งพิมพ์ว่าเป็นสิ่งพิมพ์ในรูปแบบใด โดยปกติจะอยู่ในช่วงหมายเลข 1-39 เสมอ

Form number

แต่มีบางหมวดที่ไม่ได้กำหนดรูปแบบเลขสิ่งพิมพ์แบบนี้ ดังนันต้องสังเกตให้ดี เช่นหมายเลข 39 ปกติจะใช้แทนหนังสือคู่มือ (Handbooks) บางหมวดอาจใช้หมายเลขอื่นแทน ได้แก่ หมายเลข 29, 34, 39, 49 ตัวอย่างเช่น

หมวด QS ใช้หมายเลข 39 แทนหนังสือคู่มือทางกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์
หมวด QT ใช้หมายเลข 29 แทนหนังสือคู่มือทางสรีรวิทยา
หมวด WM ใช้หมายเลข 34 แทนหนังสือคู่มือทางจิตเวชศาสตร์
หมวด W ใช้หมายเลข 49 แทนหนังสือคู่มือทางอาชีพด้านสุขภาพ

4.  ตารางภูมิศาสตร์ (Table G)

        ตารางภูมิศาสตร์ (Table G) เป็นระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ในกรณีที่ต้องการระบุเขตภูมิศาสตร์และจะใช้ได้ต่อเมื่อเลขหมวดหมู่นั้นมีคำว่า (Table G) กำกับอยู่ท้ายเลขหมู่ สามารถเข้าไปตรวจสอบตารางภูมิศาสตร์ได้ที่ https://www.nlm.nih.gov/class/TableGOutline.html

5. วิธีกำหนดเลขหมู่ มีหลักเกณฑ์และแนวพิจารณา ดังนี้

5.1  พิจารณาจากชื่อเรื่อง สารบัญ ของหนังสือ
5.2  หากพิจารณาแล้วยังไม่สามารถสรุปเนื้อหาของหนังสือได้บรรณารักษ์ต้องอ่านเนื้อหาในเล่มอย่างคร่าวๆ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชากรณีที่มีเนื้อหายากเกินความเข้าใจ
5.3  เมื่อพิจารณาเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นได้แล้ว กำหนดคำสำคัญ (Keyword)
5.4  นำคำสำคัญ (Keyword) ไปตรวจสอบในคู่มือกำหนดหัวเรื่อง LC และ NLM เพื่อค้นหาหัวเรื่องและนำหัวเรื่อง (Subject) ที่ได้ไปตรวจสอบกับตารางเลข NLM อีกครั้งเพื่อให้ได้เลขหมู่ที่เหมาะสมกับเนื้อหา


เอกสารอ้างอิง

กาญจนา โสภโณดร. (2510). ระบบการจัดหมู่หนังสือหอสมุดแพทย์แห่งชาติอเมริกัน. พระนคร : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย.

จารุพร ชูเรืองสุข. (2554). คู่มือการปฏิบัติงานเรื่องการวิเคราะห์เลขหมู่และทำรายการทรัพยากรสารสนเทศภาษาต่างประเทศ สาขาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ. สงขลา : ฝ่ายหอสมุดวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

วลุลี โพธิรังสิยากร. (2544). การจัดหมวดหมู่หนังสือระบบแพทย์แห่งชาติอเมริกัน. พิษณุโลก : ห้องสมุดสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

วลุลี โพธิรังสิยากร. (2544). เทคนิคการวิเคราะห์และลงรายการสิ่งพิมพ์ระบบแพทย์แห่งชาติอเมริกัน (NLM). พิษณุโลก : ห้องสมุดสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร.

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2554). แนวปฏิบัติเรื่องการกำหนดหัวเรื่องและเลขหมู่ทางการแพทย์ของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เอกสารไม่ตีพิมพ์.

คู่มือกำหนดเลขหมู่ National library of Medicine Classification Schedule สามารถสืบค้นได้ทาง
URL: https://www.nlm.nih.gov/class/index.html