บทสัมภาษณ์: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิชาย พันธุ์ไพโรจน์
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แนวคิดรูปแบบและการใช้งานของอาคารเพื่อการเรียนรู้
แนวคิดการออกแบบศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นการจูงใจให้นักศึกษาได้เข้ามาใช้พื้นที่นอกห้องเรียน ได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างเพื่อน สาขาวิชา และคณะ รวมไปถึงหน่วยงานและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย จนเกิดการเรียนรู้และองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง
นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตทั้งในและนอกอาคาร ตลอดจนเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบได้ตลอดทั้งวันอย่างมีความสุข โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็น ๕ ชั้น ตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่
ชั้นที่หนึ่ง Business Zone มีธนาคาร ร้านค้าให้บริการ และเน้นที่พื้นที่จัดนิทรรศการหน้าทางเข้าหลัก เพื่อรับรุแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากคณะต่างๆ
ชั้นที่สอง Tutoring Zone มีห้องประชุมกลุ่มย่อยเพื่อการทำงานกลุ่ม ส่วนการจัดพื้นที่โต๊ะนั่งอ่านหนังสือจะจัดแยกเป็นกลุ่มลักษณะต่างๆ อย่างอิสระ เพื่อความยืดหยุ่นในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ตามแนวทางของนักศึกษา นอกจากนั้น ยังมีทางเชื่อมต่อกับหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อสะดวกในการยืมหนังสือ
ชั้นที่สาม Reading Zone พื้นที่อ่านหนังสือที่จัดไว้ทั้งแบบที่นั่งอ่านเดียวและแบบกลุ่ม โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่นั่งอ่านอย่างชัดเจน
ชั้นที่สี่ Language Center เป็นพื้นที่ศึกษาภาษาต่างประเทศ โดยจัดในรูปแบบบันเทิงเข้าไปด้วย มีห้องฉายภาพยนตร์เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกการฟังและผ่อนคลายความเครียด
ชั้นที่ห้า Roof Garden and Coffee Shop จัดเป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อน ร้านกาแฟและอาหารว่าง มีการปลูกต้นไม้เพื่อลดความร้อนหลังคา และแสดงแนวคิดเทคโนโลยีของการออกแบบหลังคาอาคารเขียว
สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยฉีกแนวความคิดเดิม
รูปแบบอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยในยุคแห่งดิจิทัล ที่มีการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานโดยก้าวข้ามรูปแบบอาคารเดิมที่มีการก่อสร้างในยุคเริ่มต้นแห่งการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ที่เป็นอาคารสีขาว ใช้หลังคาสีส้ม เน้นองค์ประกอบที่ประยุกต์มาจากสถาปัตยกรรมไทย แต่อาคารศูนย์การเรียนรู้นี้ ยังแสดงลักษณะพื้นฐานของสถาปัตยกรรมไทย ได้แก่ การมีชายคาโดยรอบเพื่อการกันแดดกันฝนอย่างมีประสิทธิภาพ การมีเสาลอย มวลอาคารยกตัวสูง ทำให้เกิดพื้นที่ใต้ถุนอาคารที่สูงโปร่ง มีความเอนกประสงค์ สามารถเดินทะลุผ่านและเชื่อมต่อระหว่างอาคารโดยรอบได้ ในขณะเดียวกันตัวอาคารยังใช้สีเทาดำที่ตัดกับสีของครีบกันแดดทางตั้งโดยรอบอาคาร ทำให้อาคารโดดเด่นกว่าอาคารอื่นๆ แสดงแนวคิดการใช้อาคารที่ต่างไปจากเดิม
อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน
ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นอาคารที่เน้นการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่การเลือกที่ตั้งตามแนวแกนกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นักศึกษาสามารถเดินทางมาใช้บริการจากหอพักหรืออาคารเรียน ด้วยการเดินหรือขี่จักรยานได้สะดวก ตัวอาคารใช้กระจกตัดคลื่นความร้อนรอบอาคาร มีการใช้ครีบทั้งทางตั้งและทางนอน เพื่อกันแสงแดดตามทิศทางต่างๆ ที่เหมาะสม โดยยังมีแสงธรรมชาติเพื่อใช้ในอาคารอย่างเพียงพอ ในขณะเดียวกัน ระบบปรับอากาศภายในอาคารถูกควบคุมด้วยระบบที่ทันสมัย มอเตอร์ปรับอากาศสามารถผันแปรตามสภาพการใช้งานอย่างเหมาะสมเพื่อลดการใช้พลังงานและการซ่อมบำรุง ภายในอาคารมีการเปิดระหว่างชั้นเพื่อสร้างความเชื่อมต่อ มีแผงกันตกกระจกในระดับที่สามารถกันความเย็นให้อยู่ภายในชั้น แต่ยังคงการเปิดทะลุเพื่อลดความปิดทึบ บันไดหลักที่บริเวณโถงนิทรรศการมีตำแหน่งและรูปลักษณะทีส่งเสริมการใช้ ด้วยรายละเอียดส่วนตกแต่งและสีสันที่ดึงดูด นักศึกษาจึงสามารถเลือกใช้บันไดเดินขึ้นลงระหว่างชั้นแทนการใช้งานลิฟต์ภายในอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน
โดยสรุป อาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ถูกสร้างตามแนวคิดส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงการเป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ก่อร่างสร้างศูนย์การเรียนรู้ LEARNING CENTRE
ธรรมศาสตร์ ผู้นำแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่
ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉากสะท้อนเสรีภาพแห่งการเรียนรู้