คนคุมรถ ขบวนกฐิน มธ.

หลายปีก่อนได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปงานกฐินพระราชทานกับมหาวิทยาลัย โดยรับหน้าที่เป็นเด็กรถ เรียกชื่อเต็มว่า “ผู้ทำหน้าที่ควบคุมยานพาหนะการเดินทาง” เหตุที่ทำหน้าที่นี้เพราะว่าได้เดินทางท่องเที่ยวในราคาถูก เป็นเวลาหลายวันและเป็นวันหยุดโดยไม่ต้องนับเป็นการลาเนื่องจากการเป็นกรรมการในคณะกฐิน มธ. จะมีสิทธิพิเศษและจ่่ายค่าใช้จ่ายเพียงครึ่งเดียว แล้วยังได้มีโอกาสเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้พักโรงแรมดีๆ ได้กินอาหารอร่อ ยๆ ดี ๆ ได้มีโอกาสเจอและบริการผู้คนหลากหลายวัยหลายประเภท  ซึ่งในรถบัส 1 คันจะมีผู้ทำหน้าที่ควบคุมจำนวน 2 คน

หน้าที่แรกที่ต้องคอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ร่วมเดินทางเมื่อรถเริ่มออกคือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ร่วมเดินทางทราบถึงวัตถุประสงค์ในการจัดพิธี การจัดการตัวเองของแต่ละคน สถานที่ท่องเที่ยว และอื่น ๆ ที่จำเป็นคร่าว ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ร่วมเดินทางก็ทราบอยู่แล้ว เรื่องต่อไปที่ต้องทำคือการแจกอาหารการกิน น้ำดื่ม และการเตรียมถุงเพื่อรองรับภาชนะซึ่งกำลังจะเป็นขยะและจะต้องคอยเก็บขยะที่หล่นตามพื้นและเบาะรถด้วย

เรื่องการจัดการใช้ห้องน้ำภายในรถ ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญมากเพราะว่าในแต่ละคราวต้องเดินทางเป็นเวลาหลายวัน หากจัดการห้องน้ำไม่ดี จะทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่จะคอยรบกวนการเดินทางของผู้ร่วมเดินทางเป็นอย่างมาก อันจะนำมาซึ่งผลลบต่อผู้จัดเนื่องจากจัดการได้ไม่ดี เรื่องนี้ถือว่าสำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ ผู้ควบคุมรถต้องประสานกับพนักงานขับรถให้ทำความสะอาดห้องน้ำทุกวันเมื่อเข้าที่พักและเตรียมน้ำไว้ให้เต็มถังทุกวัน  และที่สำคัญต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ร่วมเดินทางใช้ห้องน้ำในรถให้น้อยที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะได้รับความร่วมมือด้วยดี จึงไม่ค่อยเกิดปัญหาในเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากห้องน้ำสักเท่าไหร่

สำหรับเรื่องที่ทำให้ปวดหัวอีกเรื่องของคนคุมรถคือ การเปิดหนังภาพยนตร์ เพลง และสิ่งบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ ในระหว่างเดินทาง เนื่องจากผู้ร่วมเดินทาง มีหลายเพศ หลายวัย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัย และที่สำคัญ ทุกคนเป็นธรรมศาสตร์ (มีน้อยที่เป็นผู้ติดตาม พวกนี้จะไม่ค่อยมีปัญหา) ดังนั้นแต่ละอย่างที่จะนำขึ้นเสนอต้องเป็นที่ถูกใจฉัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ถูกใจทุกคน  หลายครั้งหลายหนที่เด็กรถโดนค้อนใส่จากผู้ร่วมเดินทางบางคนอันเนื่องมาจากความไม่พอใจในเรื่องนี้  แม้จะขอโทษขอโพยกันแล้ว ก็ไม่ค่อยจะยอมอภัย แต่ก็ไม่เป็นไรสำหรับคนคุมรถ รับได้ทุกอย่างอยู่แล้ว

หน้าที่อีกอย่างที่ค่อนข้างจะจริงจังสักนิดและมักจะกระทบกระทั่งกับผู้ร่วมเดินทางอยู่บ่อยครั้งก็คือ การจัดให้นั่งรับประทานอาหารตามจำนวนเก้าอี้ที่โต๊ะซึ่งทางร้านจัดไว้ให้ เนื่องจากส่วนใหญ่จะต้องการนั่งกับเพื่อนหรือญาติของตัวเอง เมื่อมีผู้อื่นที่ตนไม่เคยรู้จัก หรือไม่อยากรู้จักมานั่งร่วมโต๊ะด้วยก็มักจะมีปัญหาเป็นที่ปวดหัวแก่คนคุมรถอย่างพวกผม ที่ต้องคอยเคลียร์ให้ทุกคนได้มีที่นั่ง กว่าจะได้กินกัน บางคนกินอาหารที่ทางร้านจัดไว้ให้ไม่ได้ ก็ต้องหาเมนูใหม่มาให้และต้องคิดเงินเพิ่ม ทำให้มีเคืองกันไปบ้าง บางครั้งแย่หนักถึงขนาดงอน ไม่ยอมกินร่วมกับใครอีกเลย ถึงขนาดไปหาอาหารจากข้างนอกมากินเองก็มี

อีกหน้าที่ที่ถือว่าเป็นงานหลักเลยก็คือการนำกระเป๋าของผู้ร่วมเดินทางติดแท๊กหมายเลขและนำขึ้นท้องรถ และลงจากรถ เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่หลักทั้งขาไปและขากลับ บางครั้งก็เป็นระหว่างการเดินทางจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ซึ่งผู้ร่วมเดินทางบางคนต้องการของบางอย่าง เราก็ต้องจัดให้

เรื่องท้ายสุดของวันนี้คือ การช๊อปปิ้งซื้อของ สำหรับผู้ร่วมเดินทางขบวนกฐิน ซึ่งขึ้นชื่อมากในเรื่องนี้เพราะไม่ว่าจะจอดตรงไหน เวลาใด ผู้โดยสารของเราก็สามารถที่จะช๊อปกันได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งการจอดพักเพื่อเข้าห้องน้ำในแต่ละปั๊ม ซึ่งแน่นอนว่าปั๊มส่วนใหญ่จะมี ร้านสะดวกซื้อและขายของเบ็ดเตล็ดอย่างอื่นอยู่ทุกปั๊ม แค่นี้ก็ทำให้เวลาที่ประมาณเอาไว้ ไม่เคยพอสักที อีกทั้งของที่ช๊อปกันมาก็จะมาล้นรกเกะกะกันที่เบาะนั่งของแต่ละคนบางครั้งก็ลามไปในส่วนของเพื่อนร่วมทางคนอื่นและพื้นที่ของคนคุมรถอย่างผม บางครั้งถ้าไม่สามารถรับได้ก็ต้องมีเข้มกันบ้าง ด้วยการประกาศให้ทุกคนจัดการกับของของตัวเองให้วางได้เฉพาะในส่วนที่เป็นที่นั่งของตัวเองเท่านั้น แค่นี้ก็ทำให้เกิดค้อนวงใหญ่ขึ้นมาได้อีก แต่ก็สามารถจัดการกับการช๊อปกระจายของบางคนได้ค่อนข้างดี กว่าจะกลับถึงที่พัก และเมื่อถึงที่พักทุกคนต้องหอบของที่ซื้อมาขึ้นไปไว้ที่พักในแต่ละวันด้วย พร้อมทั้งต้องวางแผนจัดสรรกับของที่ซื้อมาในแต่ละวันให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองตอนขากลับในวันสุดท้ายด้วย นี่เพียงวันแรกซึ่งยังไม่ถึงที่พักด้วยซ้ำ (แล้วจะเขียนต่อในโอกาสต่อไป)