Tag Archives: การวัดความสามารถ

ศูนย์ทดสอบสมรรถนะแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Competency Test Center)

ศูนย์ทดสอบสมรรถนะแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น 1 ใน 9 นิทรรศการที่นำเสนอในการเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 12 มกราคม 2558

ศูนย์ทดสอบสมรรถนะแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์ทดสอบสมรรถนะภาษาไทย และภาษาอังกฤษ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งอยู่ที่ชั้น 4 ศูนย์การเรียนรู้นราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นหน่วยงานทำหน้าที่วัดความรู้ความสามารถด้านภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ที่ครอบคลุม 4 ทักษะ ด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และการคิด ของนักศึกษามธ. จัดตั้งตามนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 (TU’s GOALS 2020) 5 มิติ คือ สร้างโลกทัศน์ (Global Mindset) คิดค้นต้นแบบ (Orginality) เคร่งครัดในจรรยาบรรณ และความรับผิดชอบ(Accountability) ล้ำหน้าอย่างผู้นำ(Leadership) ยึดมั่นจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ (Spirit of Thammasaat) จากทิศทางนี้ทำให้ต้องพัฒนาหลักสูตรศึกษาทั่วไป โดยปรับปรุงให้มีวิชาภายใต้ 3 เสาหลักที่เชื่อมกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เกิดแนวคิดในการจัดทำแบบทดสอบมาตรฐาน เพื่อวัดความรู้ด้านภาษา ซึ่งแต่เดิมวิชาในหมวดภาษามหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องเรียนวิชาภาษาไทย 1 วิชา 3 หน่วยกิต และวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน 2 วิชา 6 หน่วยกิต จากระดับคะแนน O-NET อีกทั้งยังจัดชั้นเรียนให้กับนักศึกษาที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ เพื่อปูพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษก่อนเรียนวิชาที่กำหนด โดยไม่นับหน่วยกิต

การสร้างแบบทดสอบมาตรฐานหมวดภาษาที่ได้ผ่านการคัดเลือก แก้ไข กลั่นกรองเรื่องการออกแบบทดสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ผู้สอน กรณีแบบทดสอบภาษาอังกฤษสร้างแบบทดสอบความสามารถทางภาษาที่เทียบเคียงกับมาตรฐาน TOEFL และ IELTS เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การทดสอบสมรรถนะทางภาษามีรายละเอียดดังนี้

  1. นักศึกษาทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะทางภาษาเพื่อประเมินศักยภาพแต่ละปัจเจกบุคคล
  2. ผลการทดสอบสมรรถนะจะบ่งชี้ถึงความสามารถในด้านภาษา โดยแบ่งระดับสำหรับผู้ผ่านการทดสอบคือ

2.1 ทักษะดีเลิศ (Exempt) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเรียนวิชาที่กำหนด

2.2 ทักษะเพียงพอสำหรับการพัฒนาต่อยอด (Sufficient) จัดชั้นเรียนในกลุ่มที่มีระดับทักษะใกล้เคียงกัน

2.3 ทักษะไม่เพียงพอ (Insufficient) ให้เรียนวิชาปรับพื้นฐานโดยไม่นับหน่วยกิตและต้องสอบให้ผ่านวิชาปรับพื้นฐานก่อนเรียนวิชาที่กำหนดในกลุ่มที่มีระดับทักษะใกล้เคียงกัน

การทดสอบสมรรถนะภาษาตามแนวใหม่นี้ ผลการทดสอบจะเป็นตัวบ่งชี้ว่านักศึกษายังขาดการพัฒนาการเรียนภาษาในด้านใด โดยจะจัดชั้นเรียนให้สอดคล้องกับทักษะของนักศึกษาอันจะส่งผลดีต่อการปรับทักษะพื้นฐานทางด้านภาษาที่เหมาะสมกับนักศึกษาแต่ละปัจเจกบุคคล นักศึกษาจะได้รับการพัฒนา ต่อยอดความรู้ซึ่งแตกต่างจากการออกแบบวิชาภาษาชุดเดียวสำหรับนักศึกษาที่มีพื้นฐานความรู้และความสามารถที่แตกต่างกัน