Tag Archives: อนุสรณฺ์งานศพ

หนังสืออนุสรณ์งานศพ (เล่มแรก) ที่มี QR Code

ช่วงนี้ ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังผลักดันโครงการคลังหนังสืออนุสรณ์งานศพของไทย ผู้เขียนไปร่วมไว้อาลัยและได้รับหนังสืออนุสรณ์งานศพ ของคุณหมอ ทวีทอง กออนันตกูล ผู้เขียนได้เคยเป็นทีมงานเล็กๆ ที่ร่วมงานเครือข่ายห้องสมุดของคุณหมอ ที่คุณหมอตั้งใจช่วยให้ห้องสมุดของโรงพยาบาล ซึ่งไม่สามารถมีระบบห้องสมุดอัตโนมัติด้วยตนเอง ด้วยความที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เป็น admin หรือด้วยความที่งบประมาณในการต้องมีระบบห้องสมุดอัตโนมัติหรือเซิร์ฟเวอร์เองนั้น มีค่าใช้จ่ายสูง ในช่วงนั้นจะพบคุณหมอบ่อยๆ เพราะคุณหมอลงมือทำงานด้วยตนเอง ได้เรียนรู้แนวคิด และวิธีการทำงานจากคุณหมอหลายๆ อย่าง รวมทั้งคุณหมอก็เป็นห่วงสุขภาพของพวกเราอยู่เสมอๆ

คุณหมอทวีทอง  กออนันตกูล
คุณหมอทวีทอง กออนันตกูล

อ่านหนังสืองานศพของคุณหมอ สมกับเป็นบทเรียนความรู้จากผู้ล่วงลับ เพราะส่วนแรก เป็นประวัติและผลงาน ส่วนที่สอง เป็นบทความที่น่าสนใจ ประกอบด้วย UCHA ระบบฐานข้อมูลออนไลน์ใช้งานง่ายที่คุณหมอทวีทอง พัฒนาขึ้นเองและเผยแพร่ให้ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้เขียนใช้อยู่ค่ะ ชอบมาก สนใจติดตามได้ที่ http://ucha-db.com นอกจากนี้ มีบทความทางการแพทย์ได้แก่ หลอดลมพิการ อธิบายหลักการทำงานของหลอดลม ประวัติหน่วยตรวจหลอดลม ณ สถาบันโรคทรวงอก และความผิดปกติทางปอดชนิดใหม่ที่ทีมแพทย์สถาบันโรคทรวงอกเป็นผู้ค้นพบ (PALLADA)

แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นว่าเป็นความก้าวหน้าอีกอย่างหนึ่งที่สอดแทรกอยู่ในหนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มนี้ คือ มี QR Code เมื่อใช้สมาร์ทโฟนส่องจะเห็นข้อความดังนี้  (ข้อมูลใน QR code มีข้อมูลตาม link นี้ค่ะ http://kaewgb.com/tawetong/)

ประวัติ ผลงาน และรูป

20150716-tawetong

หนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณหมอทวีทอง น่าจะเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มแรกทีมี QR Code (เท่าที่ผู้เขียนเคยพบนะคะ) บันทึกผลงาน รูปภาพ กำหนดการต่างๆ อาจจะเป็นความคิดในการทำหนังสืออนุสรณ์งานศพแบบใหม่ต่อไปในอนาคต

ขอระลึกถึงคุณหมอทวึทอง กออนันตกูล ด้วยความเคารพยิ่ง

รายการอ้างอิง
ทวีทอง กออนันตกูล – สิ่งประดิษฐ์ ศูนย์ FOB และ ระบบ UCHA.  กรุงเทพฯ : บวรสารการพิมพ์, 2558.

วิธีสืบค้นหนังสืออนุสรณ์งานศพ

ชื่อเรื่องของหนังสืออนุสรณ์งานศพนั้นมีหลากหลาย ยกตัวอย่างกรณีงานพระราชทานเพลิงศพ นิยมใช้ชื่อที่ขึ้นต้นด้วย :

  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพ
  • อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ
  • ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ
  • งานพระราชทานเพลิงศพ
  • ฯลฯ

จะเห็นได้ถึงความหลากหลายของการใช้ชื่อเรื่อง ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะเข้าถึงหนังสือที่ต้องการด้วยการสืบค้นจากชื่อเรื่อง

ข้อแนะนำในการค้นหาหนังสืออนุสรณ์งานศพที่มีให้บริการอยู่ในสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ได้รวดเร็วที่สุดคือ ควรสืบค้นจาก “หัวเรื่อง” ที่เป็นชื่อของผู้เสียชีวิต โดยสามารถค้นจาก “ชื่อพร้อมนามสกุล” หรือ “นามสกุล ตามด้วย (นาม)”

ตัวอย่างเช่น :  สืบค้นจากหัวเรื่อง “คงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์” ผลที่ได้จะแสดงชื่อ นามสกุล ปีเกิด ปีเสียชีวิต  “คงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์, 2483-2553” เลขเรียกหนังสือ “CRE 2011 638230” หรือหากจำชื่อไม่ได้ จำได้แค่นามสกุล ก็สามารถสืบค้นจากหัวเรื่อง “ลิ่วมโนมนต์ (นาม)” ก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน

…………เชื่อว่าการค้นหาหนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มที่ท่านต้องการในครั้งต่อไปจะง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้นแน่นอน