FAST กับยุคใหม่ของ Cataloger (ตอนที่ 1)

FAST ย่อมาจาก Faceted Application of Subject Terminology เห็นจากชื่อ น่าจะพอเดาได้ว่า น่าจะเกี่ยวกับ หัวเรื่อง คำศัพท์ แน่ๆ OCLC กำลังพัฒนา FAST ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เป็นหัวเรื่อง เพื่อให้ใช้กับสารสนเทศบนเว็บ โดยอยู่บนพื้นฐานของ หัวเรื่องหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (LSCH) แต่ทำเพื่อให้ใช้ได้ง่ายกว่า

ถ้าผ่านการเรียนบรรณารักษ์มาน่าจะจำได้ว่า มีระบบ Faceted Classification เป็นการจัดหมวดหมู่แบบแยกสังเคราะห์ สามารถจัดหมวดหมู่ได้ทุกแง่มุม เลยอนุมานจากชื่อก่อนว่า น่าจะเป็นการพัฒนาหัวเรื่องให้มีคำที่มีทุกแง่มุม หรือละเอียดมากขึ้น แต่ใช้ง่ายกว่าเดิม คงต้องติดตามต่อไปว่า FAST มีวิธีการอย่างไร เป็นแบบชื่อระบบ Faceted หรือไม่

OCLC วางแผนไว้ว่า FAST นี้ ช่วยให้ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานวิเคราะห์การลงรายการทางบรรณานุกรม พูดง่ายๆ ว่า ไม่ใช่บรรณารักษ์วิเคราะห์การลงรายการทางบรรณานุกรม หรือพูดให้ง่ายๆ อีกว่าไม่ใช่บรรณารักษ์น่ะ หรือไม่มีความรู้เรื่องการวิเคราะห์การลงรายการ สามารถนำ FAST ไปใช้ได้ในการหาสารสนเทศได้ เพราะถ้าเป็นบรรณารักษ์วิเคราะห์การลงรายการทางบรรณานุกรม เหล่าบรรณารักษ์งานนี้จะรู้จักแต่คำศัพท์ควบคุม แล้วใครที่ไหนจะสามารถทำได้ แม้ว่าแนวคิดในการให้หัวเรื่องควรจะเปลี่ยนแล้วก็ตาม แต่บรรณารักษ์กลุ่มงานนี้จะยังไม่เปลี่ยน หรืออีกเหตุผลหนึ่งของการพัฒนา FAST ก็คือหัวเรื่องที่ใช้อยู่เดิม ไม่พอกับสารสนเทศที่โตขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเรื่องการขาดฟังก์ชั่นในเรื่องของระบบการจัดการเนื้อหา (Content management systems) กับหัวเรื่องของ LCSH มีการพูดถึงกันมากว่า ควรมีการทำงานข้ามระบบสารสนเทศกัน (รวมทั้งระบบที่ไม่ใช่ มาร์ค) นี่ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็น FAST และที่สำคัญ FAST ใช้เป็น Linked data ได้

ตอนนี้ ขอให้เข้าใจก่อนว่า การทำงานของ FAST จะเกี่ยวข้องกับ LCSH ซึ่งเป็นงานวิจัยและพัฒนาของ OCLC ร่วมกับ หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน เริ่มศึกษา พัฒนากันในปลายปี ค.ศ. 1998

ถ้าจะพูดถึงวัตถุประสงค์หลักๆ ก็คือ เป็นการประยุกต์ LCSH ให้ง่ายขึ้นเป็น FAST แต่ก็ยังคงคำศัพท์ของ LCSH อยู่แต่ทำออกมาเป็นอีกชุดหนึ่งเพื่อให้เข้าใจง่ายกว่า ควบคุม หรือใช้งาน ง่ายกว่า

ถ้าพัฒนา FAST เต็มรูปแบบแล้ว จะมีชุดคำศัพท์ 8 ชุดซึ่งจะมีหัวเรื่องที่เกี่ยวโยงกันเป็น Authority file ประมาณ 1.7 ล้านคำ ได้แก่ ชื่อคน (Personal names) ชื่อนิติบุคคล (Corporate names) ชื่อภูมิศาสตร์ (Geographic names) เหตุการณ์ (Events) ชื่อเรื่อง (Titles)ช่วงเวลา/ระยะเวลา (Time periods) หัวเรื่อง (Topics) และ รูปแบบ (Form/Genre)