งานบริการตอบคำถามยุคใหม่

การเป็นบรรณารักษ์บริการตอบคำถามในสาขาวิชากฎหมายที่เราไม่ได้เรียนมา นอกจากเราจะต้องหาหนังสือกฎหมายอ่านเพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นแล้ว ยังจะต้องหาเวลาท่องเว็บบ้าง โดยเฉพาะเว็บหน่วยราชการไทย หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย องค์กรต่างๆทั้งของไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้เอาไว้เป็นตัวช่วยเวลาที่ค้นข้อมูลจากระบบสืบค้นของห้องสมุดแล้วมันไม่มี

ตัวอย่าง case หนึ่ง มีนักศึกษาต้องการด่วนจี๋มาก ต้องการค้นเรื่อง ร่างกฎหมายนิวเคลียร์ ที่กำลังจะเอาเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นักศึกษาจำชื่อร่างพระราชบัญญัติไม่ได้เลย แต่มั่นใจว่าน่าจะมีคำว่านิวเคลียร์ และต้องการอ่านร่าง พรบ.  นี้ เพราะจะเอาข้อมูลไปทำหัวข้อรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่งด่วนภายในสองวันนี้ นักศึกษาได้ค้นระบบห้องสมุดแล้ว ค้นอากู๋ (google) แล้วไม่เจอค่ะ

จากประสบการณ์เมื่อประมวลความคิดดูแล้วยังเป็นร่างอยู่เลย ฉบับพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ โอกาสที่จะมาถึงห้องสมุดตอนนี้น่าจะมีน้อย แต่โดยปกติแล้วร่างกฎหมายก่อนเอาเข้าสู่สภาจะมีการทำประชาพิจารณ์ก่อนนี่นา

จึงถามนักศึกษาว่าเป็นของหน่วยงานไหนที่ออกร่างกฎหมายนี้ นักศึกษาบอกว่า ปรมาณูอะไรสักอย่างนึงนี่แหละค่ะ จำชื่อจริงไม่ได้ค่ะ  จากประสบการณ์ที่เรานั่งดูข่าวโทรทัศน์ทุกวันก็เดาว่าน่าจะเป็นของหน่วยงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  งานนี้เลยต้องพึ่งอากู๋ แล้วก็พบว่ามีร่างกฎหมายที่นักศึกษาต้องการอยู่ในเว็บของสำนักงานปรมาณูฯ เพื่อประชาพิจารณ์ก่อนเสนอ สนช.  แต่ว่าก็ต้องเดากันว่ามันควรอยู่เมนูไหน เพราะมันเลยช่วงเวลาประชาพิจารณ์มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็เลยเอาไปหลบไว้ในมุมหนึ่ง  ซึ่งผู้เขียนก็จำไม่ได้ว่าตรงไหนและจำชื่อร่าง พรบ. นี้ไม่ได้แล้วเพราะมันยาวมากๆ

ที่เขียนมานี้ก็เพื่อจะบอกว่าการดูข่าว การอ่านมากหน่อย หรือการท่องเว็บที่เกี่ยวข้องกับการทำงานไปเรื่อยๆเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคนี้มากจริงๆ