โรคกระดูกพรุนกันไว้ดีกว่าแก้

เมื่อพูดถึงโรคกระดูกพรุนแล้ว สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นโรคที่ไกลตัวแล้วก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเราง่ายๆ แต่แท้จริงแล้วเราทุกคนต่างมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้ ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป และมีโอกาสที่จะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะผู้หญิงมีความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยกว่าผู้ชายนั่นเอง  แต่ที่น่าตกใจกว่าก็คือ โรคกระดูกพรุนจะไม่มีอาการเตือนใด ๆ จนกระทั่งมันก่อเรื่องไปแล้ว โดยส่วนมากผู้ที่เป็นมักจะมาพบแพทย์ด้วยการหกล้มหรือกระแทกไม่รุนแรงแต่เกิดกระดูกหัก หรือมาพบแพทย์เพราะมีปัญหาว่าตัวเตี้ยลง หลังค่อมหรือหลังโกงว่าเดิม ซึ่งมักจะพบได้ในกรณีที่เป็นกระดูกพรุนและเกิดการหักชนิดทรุดตัวของกระดูกสันหลัง

ส่วนสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนนั้น มีหลายปัจจัย เช่น การออกกำลังกายน้อย หรือ ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เป็นต้น

เมื่อเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เราจะเป็นโรคกระดูกพรุนเมื่อไร จนกว่าจะไปตรวจกับคุณหมอ วิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกันไว้ก่อน ทำได้ดังนี้

  1. การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้หกล้ม

เป้าหมายของการรักษาโรคกระดูกพรุน ก็คือ การป้องกันการแตกหักของกระดูก ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดกระดูกหักได้บ่อยที่สุด ก็คือ การหกล้ม ดังนั้นที่อยู่อาศัยของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนควรจัดการเรื่องแสงสว่างให้เพียงพอ ติดตั้งราวจับหรือพื้นผิวที่ไม่ลื่น ป้องกันการล้ม ในผู้สูงอายุที่โรคประจำตัวอื่น ๆ ควรรักษาโรคประจำตัวที่มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหรือระบบประสาท เพื่อให้ร่างกายมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว

2. การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายให้ประโยชน์ในสองด้าน ก็คือ ด้านแรกช่วยให้มีความคล่องแคล่วและมีกำลังกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้โอกาสเสียหลักหกล้มลดลง และด้านถัดมา การออกกำลังกายจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างมวลกระดูกมากขึ้น ทั้งนี้ ชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวสภาพร่างกายเดิม และความหนาแน่นของมวลกระดูกเดิม

3. การรับประทานยา

ยาที่ใช้ในการเพิ่มมวลกระดูกมีหลายชนิด เช่น แคลเซียม วิตามินดี หรือยาที่ยับยั้งการทำลายมวลกระดูก ซึ่งการจะเลือกใช้ยาชนิดใดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์ที่รักษา ไม่ควรซื้อมารับประทานเองเพราะ แต่ละชนิดต่างก็มีผลข้างเคียงของยาอยู่

4. การกำจัดปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้

ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ รับประทนอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อยู่กับที่ ซึ่งข้อนี้คือข้อที่ควรทำในทุกคนไม่ว่าท่านจะเป็นกระดูกพรุนหรือไม่ก็ตาม เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าในอนาคตจะมีโรคอะไรที่ทำเกิดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนขึ้นมาหรือไม่

ข่าวดีคือ การเปลี่ยนจากกระดูกที่ปกติไปเป็นโรคกระดูกพรุน เป็นกระบวนการที่กินเวลาหลายปี การรักษาเพื่อให้สมบูรณ์ปกติก็กินเวลานาน ดังนั้น หากใครรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ควรปรับพฤติกรรม ปรับการใช้ชีวิตเสียแต่วันนี้  เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงนะคะ

ที่มา :

กระดูกพรุน รู้ตัวแต่เนิ่นๆ ป้องกันได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 จาก http://health.kapook.com/view115981.html